xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

6พันล้าน สร้าง 2 โรงไฟฟ้าขยะ ในวันที่คนไทยไม่ต้องจ่ายค่าเก็บขยะแล้ว?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เมื่อคราวรัฐบาลชุดนี้เข้ามาแรก ๆมีนโยบาย จะกำจัดขยะมูลฝอย ที่ล้นบ้านล้นเมือง โดยเฉพาะเมืองใหญ่ที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ก็เห็นด้วย ให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพ อย่างเมื่อคราวประชุม คณะรัฐมนตรีปลายเดือนเมษายน 2558 เคยเห็นชอบให้มี “กฎกระทรวงสาธารณสุข”ว่าด้วยสุขภาวะการกำจัดขยะมูลฝอย ให้อำนาจเทศบาลจัดเก็บค่าขยะ ตั้งเป้าว่าจะเก็บ 150 บาท ต่อครัวเรือน ต่อเดือน

หรือเมื่อเดือนมิถุนายน 2558 มีข่าวว่า กระทรวงมหาดไทย คราวนั้นจะร่างกฎหมายเสนอให้มีการจัดเก็บขยะมูลฝอย ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและแก้ไขกฎหมายท้ายสุด

มีตัวเลขที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย รายงานต่อ ครม.ครั้งนั้นว่า ประเทศไทยมีขยะประมาณ 23 ล้านตันต่อปี หรือวันละ 6 หมื่นตัน มีขยะสะสมค้างอยู่ 30 ล้านตัน กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ต่างกับมาตรฐานในการจัดการถือว่าต่ำมาก

มีการพูดถึงตัวเลขในการบริหารจัดเก็บในปัจจุบัน ประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาทต่อปี กระทรวงมหาดไทย จึงเสนอ ให้มีค่าบริหารจัดการกองขยะที่เหมาะสมอยู่ที่ 220 บาท ต่อครัวเรือนต่อเดือน(เป็นค่าเก็บ 65 บาท ค่ากำจัดขยะ 110 บาท) มีการเสนอ ครม. ของบ ปีละ 3 พันล้านบาท ร่วมทุนกับภาคเอกชนบริหารจัดการ และมีการเตรียมงบประมาณสนับสนุนไว้ 2 หมื่นล้านบาท

ต่อมามีการนำร่อง โครงการที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ประกอบกับ คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบแผนลงทุนโครงการของรัฐหลายโครงการ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีโครงการโรงไฟฟ้าขยะนนทบุรี เงินลงทุน 4,142 ล้านบาท ในพื้นที่กำจัดขยะแบบฝังกลบในตำบลคลองขวาง อำเภอไทรน้อย พื้นที่ราว 400 ไร่และโรงไฟฟ้าขยะนครราชสีมา มูลค่า 2,250 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนเพื่อให้บริการทางสังคม เป็นสองโครงการที่จะดำเนินการในปี 2559 นี้

แต่เรื่อง “ราคาเก็บขยะมาจบลง” เมื่อคราวการประชุม ครม. 12 ม.ค.59 มีการเห็นร่างพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. ....

“พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี” บอกว่า สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้การเก็บ ขน กำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยในเขตพื้นที่ของราชการส่วนท้องถิ่นใดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของราชการส่วนท้องถิ่นนั้น และการเก็บขนสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยให้เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลดำเนินการในพื้นที่ของตน โดยราชการส่วนท้องถิ่นจะทำร่วมกับหน่วยงานของรัฐหรือราชการส่วนท้องถิ่นอื่นหรือเอกชนภายใต้ข้อตกลงร่วมกัน และราชการส่วนท้องถิ่นอาจมอบให้องค์กรของรัฐหรือเอกชนเป็นผู้ดำเนินกิจการรับทำการ เก็บ ขน กำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยแทน ภายใต้การควบคุมดูแลของราชการส่วนท้องถิ่นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศ 

"ปกติจะมีเอกชนเข้าไปเก็บขยะแล้วเก็บเงิน ต่อไปนี้ทำไม่ได้เพราะเขาห้ามไม่ให้มีการดำเนินการเป็นธุรกิจหรือคิดค่าตอบแทนเป็นค่าบริการไม่ได้ เว้นเสียแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา ท่านก็ต้องไปรับหน้าเสื่อเอาเองถ้าจะมีการเก็บค่าบริการ ก็ต้องรับภาระว่าวันข้างหน้าเขาจะเลือกท่านอีกหรือไม่ และกฎหมายฉบับนี้มีการกำหนดบทลงโทษด้วยถ้าใครไม่ปฏิบัติตามมีทั้งโทษจำคุก3เดือน และปรับไม่เกิน5หมื่นบาท"พล.ต.สรรเสริญ กล่าวและว่า พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับการจัดการของเสียอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน มูลฝอยติดเชื้อ มูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยสาธารณสุข

นอกจากนั้น ครม. ยังเห็นชอบ “โครงการให้เอกชนลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการระบบกำจัดขยะมูลฝอยขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี (อบจ.นนทบุรี)” ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอ เป็นการช่วยแก้ปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยของจังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายระยะเร่งด่วนภายใต้ Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 โดยเป็นโครงการนำร่องรูปแบบการจัดการ (Model L) สำหรับรองรับปริมาณขยะมูลฝอยขนาด 300 ตันต่อวันขึ้นไป

โดยกระทรวงมหาดไทยและ อบจ.นนทบุรี จะเข้ามาเร่งประสานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการยื่นคำร้องและข้อเสนอการขายไฟฟ้า เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก ซึ่งจะทำให้โครงการฯ มีความชัดเจนในเรื่องรายได้ รวมทั้งภาระการลงทุนในระบบสายส่งเพิ่มเติมเพื่อเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าของ กฟผ. และการไฟฟ้านครหลวง ก่อนการเชิญชวนภาคเอกชน

ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในรายละเอียดความเป็นไปได้และสิทธิประโยชน์ที่คาดว่าเอกชนจะได้รับการส่งเสริมการลงทุน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชน

จัดทำแผนการลดปริมาณและการคัดแยกขยะมูลฝอยจากแหล่งกำเนิดควบคู่ไปพร้อมกับการดำเนินโครงการฯ รวมทั้งพิจารณาใช้หลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่าย (Polluter Pay Principle) เพื่อลดปริมาณขยะมูลฝอย และภาระค่าใช้จ่ายในการกำจัด ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยอย่างยั่งยืน

ให้หน่วยงานซึ่งมีหน้าที่อนุญาตให้มีการก่อสร้างและเดินระบบผลิตไฟฟ้าจากขยะมูลฝอยติดตาม

ตรวจสอบการดำเนินงานตามมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในรายงาน EIA อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและเฝ้าระวังผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้วย

ส่วน อบจ.นนทบุรี จะต้องเสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 พิจารณา เรื่อง ค่าลงทุนและเทคโนโลยีของโครงการฯ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ณ ขณะนั้น รวมทั้งผลประโยชน์ที่เอกชนจะได้รับจากการส่งเสริมการลงทุน เพื่อกำหนดขอบเขตงาน (Terms of Reference : TOR) สำหรับคัดเลือกเอกชนที่มีความพร้อมด้านเทคนิค บุคลากร ตลอดจนเสนอผลประโยชน์ให้ภาครัฐสูงที่สุด เช่น การลดค่ากำจัดขยะมูลฝอย เป็นต้น เพื่อป้องกันผลกระทบต่อรายรับและรายจ่ายประจำปี ตลอดจนฐานะทางการเงินของ อบจ.นนทบุรีในระยะยาว

ส่วน เงินทุนก่อสร้างจะเป็นของนักลงทุน 100% รวมทั้งการปรับปรุงพื้นที่และจัดทำระบบสาธารณูปโภค ซึ่งเอกชนต้องจ่ายค่าเช่าที่ให้กับ อบจ.ปีละประมาณ 300,000 บาท ขณะที่เอกชนจะมีรายได้จากค่ากำจัดขยะ ซึ่งกำหนดเพดานไว้ที่ 300 บาทต่อตัน ค่ากระแสไฟฟ้าที่จำหน่ายให้หน่วยงานต่าง ๆ และค่ารีไซเคิลขยะ

โครงการนี้ สภาพัฒน์ได้เข้ามาตรวจสอบและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว โดย อบจ.นนทบุรีจะได้จัดทำทีโออาร์ (TOR) เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และหลังจากนั้นจะเปิดประมูล เพื่อเฟ้นหานักลงทุนที่มีศักยภาพตามเงื่อนไข รวมระยะเวลาให้เอกชนก่อสร้างและบริหารจัดการระบบกำจัดขยะรวม 22 ปี โดย 2 ปีแรกเป็นการก่อสร้าง และเริ่มดำเนินงานบริหารจัดการขยะในปีที่ 3

เดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าขยะนนทบุรีแล้ว ต่อไปก็คิวโรงไฟฟ้าขยะนครราชสีมา มูลค่า 2,250 ล้านบาท สอดคล้องกับถ้า พ.ร.บ. (กฎหมาย)ห้ามไม่ให้มีการดำเนินการเป็นธุรกิจหรือคิดค่าตอบแทนเป็นค่าบริการเก็บขยะประกาศใช้ น่าจะเร็วๆนี้ เพราะไม่กี่เดือนกฎหมายนี้ก็จะเข้า สนช. แล้ว.


กำลังโหลดความคิดเห็น