xs
xsm
sm
md
lg

กระฉูด! ชง “บิ๊กตู่” ตัดสินใจ ค่าเก็บขยะ 220 บาทต่อครัวเรือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

)  พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมแถลงข่าว
มท.1 รายงาน ปัญหาขยะล้นเมือง ขาดเงินส่วนเกิน 1 หมื่นล้านบาท งบประมาณไม่พอบริการจัดการ ระบุ เป็นของ อปท. ส่วนใหญ่ เสนอ เก็บค่าขยะเพิ่มเป็น 220 บาทต่อเดือน ทุกครัวเรือน ทั่วประเทศ เผยก่อนหน้านี้ ไฟเขียว สธ. ให้เทศบาลจัดเก็บได้ 150 บาท ต่อครัวเรือน

วันนี้ (16 มิ.ย.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้รายงานว่า กระทรวงมหาดไทยมีหลักการจัดการขยะมูลฝอยดังนี้ 1. การจัดกลุ่มพื้นที่ในเรื่องขยะมูลฝอย 2. การจัดหาค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความเหมาะสม 3. การแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานว่าชุมชนใดเป็นผู้สร้างขยะ ชุมชนนั้นต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

ทั้งนี้ สถานการณ์ขยะในปัจจุบันมีขยะ 23 ล้านตันต่อปี เฉลี่ยตกวันละ 6 หมื่นตัน การดำเนินการกับขยะในขณะนี้ ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ อีกทั้งการเก็บค่าธรรมเนียมโดยกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่กำหนดไว้ครอบครัวละ 40 บาทต่อเดือน แต่การปฏิบัติจริงเก็บในอัตราที่ไม่เท่ากัน เฉลี่ยแล้วตกเดือนละ 23 บาท ต่อครัวเรือน น้อยกว่ากฎหมายที่ สธ. กำหนดไว้ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการขยะ

“ขาดเงินส่วนเกินอยู่ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบันใช้เงินของท้องถิ่น วันนี้จึงกำหนดราคาให้พออยู่ได้ จึงต้องทำความเข้าใจกับประชาชน เพราะหากปล่อยไว้จะแก้ปัญหาขยะไม่ได้ เกิดมลพิษทุกวัน ซึ่งอัตราที่เหมาะสมในการจัดการบริหารขยะน่าจะอยู่ที่ 220 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน รัฐบาลยังไม่ได้จะแก้ไขการจัดเก็บในวันนี้ แต่อยู่ในช่วงศึกษาข้อมูล ขอประชาชนอย่าเพิ่งตกใจ แต่ ครม.เห็นชอบในหลักการ และให้ไปดูวิธีที่เหมาะสมอีกครั้ง” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว.

รายงานระบุว่า ก่อนหน้านั้น กระทรวงสาธารณสุข เสนอ ครม. ให้อำนาจเทศบาลในการจัดการขยะอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะการกำหนดเกณฑ์ให้เทศบาลใช้เพื่อจัดเก็บค่าจัดการขยะ ได้ครัวเรือนละ 150 บาทต่อเดือน ซึ่งค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะดังกล่าวได้มีการศึกษาและวิจัยแล้ว พบว่า ตามปกติแต่ละครัวเรือนจะสร้างขยะ คนละ 1 กก. ต่อวัน เฉลี่ยให้แต่ละครัวเรือนมีสมาชิก 5 คน แต่ละเดือนจะเท่ากับสร้างขยะ 150 กก. โดยค่ากำจัดขยะเฉลี่ย กก. ละ 1 บาท จะเท่ากับเดือนละ 150 บาท ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวเป็นค่ามาตรฐานกลาง กำหนดไว้เพื่อให้เทศบาลได้มีเกณฑ์อ้างอิงในการจัดเก็บ แต่หากครัวเรือนสามารถลดปริมาณขยะได้น้อยกว่าเกณฑ์ก็อาจจะเสียน้อยกว่าหรือไม่เสียก็ได้

ซึ่งหลักการดังกล่าวจะเป็นการกระตุ้นให้ครัวเรือนตระหนักในการคัดแยกขยะ รีไซเคิลขยะ เช่น ขวด กระดาษ ซึ่งเป็นขยะประเภทที่สามารถคัดแยกไว้ขายได้ ซึ่งเมื่อสร้างขยะน้อยก็จะไม่เสียค่าจัดการขยะ เป็นต้น โดยการเก็บค่ากำจัดขยะดังกล่าว เนื่องมาจากปัจจุบันปริมาณขยะมีมาก เเละต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงในการจัดการ จึงจำเป็นต้องจัดเก็บค่ากำจัดขยะเพื่อให้ครัวเรือนต่างๆ มีความรับผิดชอบมากขึ้น นอกจากครัวเรือนต้องรับผิดชอบขยะของครัวเรือนของตนเอง นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ก็ต้องมีส่วนร่วมด้วย โดยมีแนวคิดเก็บค่ากำจัดขยะรวมอยู่ในค่าที่พักวันละ 2 บาทต่อคน และให้สถานประกอบการเป็นผู้นำส่งเทศบาล

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา การบริหารจัดการขยะของประเทศไทยยังไม่มีแนวทางการดำเนินการจัดการที่ถูกต้องเหมาะสมและยั่งยืน วันนี้ขยะที่ตกค้างมีทั้งหมด 30 ล้านตัน จะต้องใช้งบประมาณ 1 พันล้านบาท ไปแก้ปัญหา และขยะใหม่ไม่อยากให้ตกค้างอีก โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำโรดแมป กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบเรื่องขยะมูลฝอยที่เกิดจากประชาชน

โดยกระทรวงมหาดไทยได้เสนอต่อที่ประชุม ครม. ว่า จะสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนทราบก่อนว่าขยะมูลฝอยเกิดในพื้นที่ใด จะต้องให้กำจัดในพื้นที่นั้น เพราะที่ผ่านมาเวลาจะไปสร้างโรงเผาขยะเพื่อนำมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าจะถูกต่อต้าน ดังนั้น ต้องสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ว่าหากไม่ต้องการให้เกิดโรงไฟฟ้าในพื้นที่จะต้องมีสถานที่ฝังกลบขยะ เพราะขยะเกิดจากพื้นที่ของตัวเอง ทั้งนี้มี 2 แนวทาง คือ 1. หลังจากเก็บจากบ้านคนไปแล้วหากตรงไหนมีศักยภาพ มีปริมาณขยะพอเพียงจะทำโรงเผาเพื่อผลิตป็นพลังงานไฟฟ้า และ 2. หากพื้นที่ใดขยะไม่พอเพียงจะใช้วิธีฝังกลบ ทั้งหมดจะต้องทำให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ

รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ขณะนี้ได้ทำพื้นที่กำจัดขยะไว้แล้วทั่วประเทศ 141 แห่ง โดยพื้นที่ที่มีศักยภาพ เพราะมีขยะพอเพียงทำโรงไฟฟ้าได้มี 44 แห่ง ส่วนกรณีไม่พอเพียง แต่อยู่ในรัศมีใกล้กัน 4 กิโลเมตร หากคุ้มที่จะทำก็จะขนมาให้ได้เป็นจุดเดียว โดยปริมาณขยะที่ต้องการสำหรับเป็นโรงเผาเพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าจะอยู่ประมาณวันละ 500 ตัน หากต่ำกว่านั้นจะไม่คุ้มทุน ทั้งนี้ ในขั้นต่อไปจะพิจารณาว่ารัฐจะลงทุนหรือจะให้เอกชนลงทุน หรือจะมีใครมาร่วมทุน โดยจะต้องศึกษาพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ว่าจะต้องปฏิบัติตามอย่างไร หากจะต้องการจะดูตัวอย่างก็ได้มีโครงการนำร่องแล้วที่จ.พระนครศรีอยุธยา



กำลังโหลดความคิดเห็น