xs
xsm
sm
md
lg

ขึ้นค่าเก็บขยะ 10 เท่า...แก้ขยะล้นกรุงได้จริงหรือ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปัญหาขยะล้นเมืองอาจเป็นเรื่องไกลตัวจากความเคยชินที่กรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางการปกครอง ขยะถูกจัดเก็บลำเลียงขนถ่ายไปทิ้งยังที่ไกลโพ้น แต่จังหวัดกรุงเทพฯ สร้างปริมาณขยะต่อวันสูงถึง 9,900 ตันต่อวัน มากจนแทบยากเกินจะจินตนาการ และทุกๆ วัน ขยะเหล่านั้นต้องมีที่ฝังกลบ และไม่นานจากนี้ที่ฝังกลบเหล่านั้นจะเต็ม!
 
ขยะล้นเมืองแม้จะไม่ใช่ปัญหาใกล้ตัว แต่กลับเป็นปัญหาที่มีต้นกำเนิดมาจากตัวเรา ล่าสุดกรุงเทพมหานคร(กทม.) มีการเผยถึงการจัดเก็บค่าดำเนินการจัดเก็บ - กำจัดขยะโดยตั้งเป้าเก็บเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า จากเดิมที่จ่ายกันบ้านละ 20 บาทต่อเดือน จะเพิ่มเป็น 150 บาทต่อเดือน
เหตุใดจึงต้องมากมายขนาดนั้น แต่การจัดเก็บดังกล่าวจะแก้ไขปัญหาที่รอวันเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ได้หรือเปล่า!!!

ระบบกำจัดขยะที่ล้มเหลว

ความล้มเหลวของการบริการจัดการขยะในกรุงเทพฯ นั้นถือว่าเป็นปัญหามาโดยตลอด ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยย้อนกลับไปตั้งแต่สำนักงานกรุงเทพมหานครเริ่มใช้แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2502 - 2524 ) แทบไม่มียุทธศาสตร์ใดในแผนด้านการกำจัดขยะมูลฝอย
ช่วงปีพ.ศ. 2555มีผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "การประเมินผลงานของผู้ว่าฯกทม."โดยนิด้าโพล ผลงานของผู้ว่าฯกทม.ที่ไม่ประสบผลสำเร็จมากกว่าประสบผลสำเร็จในด้านการจัดการขยะและความไม่สะอาดมีถึงร้อยละ 21.50 ในขณะที่ประชาชนที่คิดว่าสำเร็จมีเพียงร้อยละ 15.60

ความเจริญที่ขยายตัวมากขึ้นอย่างรวดเร็วยิ่งทำให้การจัดการที่ขาดความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมเริ่มทำให้ปัญหาปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น โดยแผนพัฒนากรุงเทพมหานครฉบับที่ 4 (พ.ศ.2535-2539) มีกำหนดกลยุทธ์หลักออกเป็น 3 ส่วน คือ 1ควบคุมปริมาณมูลฝอยไม่ให้เพิ่มขึ้นโดยพยายามปลูกฝังจิตสำนึกประชาชน 2 เพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกมูลฝอย ของเสียอันตรายและกากไขมันที่แหล่งกำเนิด โดยเพิ่มความสามารถรองรับขยะมูลฝอย ของเสียอันตราย กากไขมัน ขยะเศษอาหาร และส่งเสริมการคัดแยกประเภท ขยะมูลฝอยในครัวเรือนและสถานประกอบการ และ 3 สนับสนุนการนำเทคโนโลยีแปรรูปผลผลิตโดยการขอรับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและความชำนาญการทางธุรกิจจากภาคเอกชน

แต่ปริมาณขยะมูลฝอยก็ยังเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ตั้งแต่ปี 2548 - 2554 จาก 8,291 เป็น 9,216 ตันต่อวัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2 ต่อปีสิ่งนี้อาจสรุปได้ว่าการดำเนินงานของกรุงเทพมหานครที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

ต่อจากนั้นมีโครงการอีกมากมายวางกลยุทธ์รณรงค์แต่ก็ยังหาทางจัดการกับปัญหาอย่างยั่งยืนไม่ได้
จนเมื่อไม่นานมานี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร กล่าวภายหลังการประชุมจัดทำร่างแผนบริหารจัดการขยะมูลฝอยของกทม. ปีพ.ศ.2558-2562 ส่งให้กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป โดยกล่าวว่า ร่างแผนดังกล่าวจะหาแนวทางจัดการขยะด้วยวิธีที่ทันสมัย
ปัจจุบันในกรุงเทพฯ มีขยะวันละประมาณ 9,900 ตัน ในจำนวนนี้กทม.ว่าจ้างเอกชนนำไปกำจัดด้วยวิธีฝังกลบประมาณ 8,800 ตันที่จ.นครปฐมและฉะเชิงเทรา เป็นวิธีที่ไม่ยั่งยืน ในอนาคตประชาชนในพื้นที่อาจไม่เห็นด้วย ดังนั้นกทม.ต้องลดปริมาณการฝังกลบ ขณะนี้กทม.กำลังก่อสร้างโรงงานกำจัดมูลฝอยด้วยพลังงานความร้อนสูงและผลิตกระแสไฟฟ้าได้ด้วย รวมทั้งกทม.จะเพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดขยะอันตราย ที่ปัจจุบันสามารถกำจัดได้วันละ 500 ตัน

โดยร่างแผนดังกล่าวตั้งเป้าว่าจะลดปริมาณขยะในกรุงเทพฯให้ได้ร้อยละ 7 ภายใน 5 ปี จากปัจจุบันที่กรุงเทพฯ มีขยะวันละ 9,900 ตัน เน้นให้ประชาชนคัดแยกขยะตั้งแต่ครัวเรือน และจะสร้างความเข้าใจว่าขยะที่กทม.จัดเก็บไม่ได้นำมาไว้รวมกัน เจ้าหน้าที่กทม.จะทำการคัดแยกก่อนนำไปกำจัด ดังนั้นหากประชาชนช่วยกันคัดแยก จะทำให้การกำจัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและลดปริมาณได้ โดยตั้งเป้าว่าแต่ละปีจะลดปริมาณขยะได้ร้อยละ 1

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือกทม.มีแนวโน่มที่จะต้องใช้งบประมาณในการจัดเก็บ - กำจัดขยะเพิ่มมากขึ้นทุกปี ดังนั้นภายหลังร่างกฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะการจัดการมูลฝอยทั่วไป พ.ศ. ... และร่างกฎกระทรวงว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมในการให้บริการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย พ.ศ. ... ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีผลบังคับใช้ โดยท่าทีของกทม.เองก็มีแนวโน่มที่จะขึ้นค่าดำเนินการอย่างก้าวกระโดดอีกด้วย

อยากเห็นความโปร่งใส

ปัญหาขยะที่เพิ่มขึ้นพร้อมทั้งหลุมฝังกลบที่กำลังจะเต็มในเร็ววัน ไม่แปลกที่ กทม.ต้องใช้งบประมาณเพิ่มมากขึ้น ผศ.ดร. พิชญ รัชฎาวงศ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการขยะ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า ปัจจุบัน กทม.มีการจัดการขยะด้วยการใช้หลุมฝังกลบ 2 แห่งอยู่ที่อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา และอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โดยสิ่งที่ทำให้กทม.ต้องใช้งบประมาณมากขึ้นก็คือ ปริมาณขยะที่มากขึ้นอันมาจากการขยายตัวของเมือง และความหนาแน่นของประชากรที่เข้ามาอาศัยอยู่กรุงเทพฯที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“จำนวนคนที่เป็นประชากรแฝงในกรุงเทพฯมากขึ้น ง่ายๆว่าคนในกรุงเทพฯมันเป็นคนนอกทะเบียนบ้านเยอะเหมือนกันเป็นคนต่างจังหวัด เป็นคนต่างด้าวอะไรอีกพอสมควรเหมือนกัน พวกนี้ไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลของกทม.อยู่แล้ว แต่กทม.ต้องดูแลขยะของคนพวกนี้นี่ไม่รวมนักท่องเที่ยวนะครับ อีกส่วนคือเราไม่มีการรณรงค์ลดขยะเลย มันเลยเป็นประเด็นของปัญหาขยะตอนนี้ที่มันเยอะและต้องใช้งบประมาณมากขึ้นในการจัดการ”

ทั้งนี้ระเบียบใหม่ที่กทม.จะขึ้นค่าดำเนินการนั้น เขาเผยถึงรายละเอียดว่า มาจากฎกระทรวงฉบับใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยครม.เพิ่งอนุมัติผ่านร่างซึ่งต่อไปคงจะมีการพิจารณาทบทวน โดยร่างดังกล่าวจะมีการเพิ่มเพดานสูงสุดที่เก็บได้จากค่าเก็บขยะสูงสุดจากเดิม 40 บาท เป็น 70 บาท และค่ากำจัดขยะจากเดิมที่ไม่มีจะเป็นเก็บได้สูงสุด 150 บาทต่อเดือน

“เราในหมู่นักวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมก็คาดหวังว่าทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเขาได้เงินไปไม่ใช่น้อย ก็น่าจะช่วยในเรื่องของการจัดเก็บให้ทั่วถึง และมีระบบการจัดเก็บที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ทั้งนี้ทั้งนั้น ทางผมเองอยากจะเห็นความโปร่งใสในเรื่องของการจัดเก็บเงินในส่วนนี้ด้วย

“เงินไม่ควรจะรั่วไหลที่ไหนคือสมมติมีจำนวนบ้านอยู่ 2 ล้านบาท 150 บาททุกบ้านทุกเดือนก็จะน่ามีเงินถึง 300 ล้านบาทใช่มั้ยครับ เพราะฉะนั้นเราอยากจะเห็นการเก็บเงินที่ไม่รั่วไหล และการใช้เงินที่โปร่งใสตรวจสอบได้ เก็บเงินแล้วทำให้ระบบดีขึ้นอย่างไร อันนี้ต้องชี้แจงกับประชาชนผู้เสียเงินใหได้รับทราบด้วย”

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังไม่มีการแจกแจงถึงรายละเอียดว่าจะมีการนำงบประมาณในส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาลนั้นไปใช้กับอะไรบ้าง และเดิมทีนั้นกทม.ก็มีการใช้งบประมาณจากส่วนอื่นมาเป็นค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะอีกด้วย

“คือในตัวระเบียบเดิมเขามีแต่ค่าเก็บขยะไม่มีค่ากำจัดขยะ แต่จริงๆ กทม.ใช้งบประมาณส่วนอื่นมาทำในเรื่องกำจัดขยะซึ่งมันก็ผิดเหมือนกัน เพราะมันควรจะต้องเก็บงบประมาณมาเพื่อวัตถุประสงค์นั้น คือเอามาเก็บขยะก็มาเก็บขยะ เอามากำจัดขยะก็เอามากำจัดขยะเป็นเรื่องๆ ไป ไม่ใช่ดึงงบสาธารณสุขส่วนอื่นมาทำ อย่างนี้มันไม่ใช่”

ที่ผ่านมาการกำจัดขยะในกรุงเทพฯ เคยมีความพยายามจะทำขยะบางส่วนมาทำปุ๋ยแต่ไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากไม่มีการแยกขยะทำให้เมื่อมีพลาสติกปะปนลงไป ปุ๋ยก็ไม่สามารถใช้งานได้

ในส่วนของความเห็นในฐานะนักวิชาการด้านวิศกรรมสิ่งแวดล้อมนั้น เขาเผยว่า แผนแม่บทเรื่องการจัดการขยะของคสช.โดย พลเอกประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรี มีการให้ผู้ว่าราชการของแต่ละจังหวัดเป็นหัวหน้าทีมในการจัดทำแผนปฏิบัติ โดยทั่วโลกนั้นการจัดการจะเน้นไปที่การลดปริมาณก่อนจัดการให้ถูกตามหลักวิชา

“นักวิชาการก็เรียกร้องให้พวกเรารณรงค์เรื่องลด แยก และนำไปใช้ประโยชน์ก่อนจะนำขยะไปกำจัดด้วยการนำไปฝังหรือเผา เพราะไม่งั้นเราเสียทรัพยากรโดยใช่เหตุ เราต้องลงไปที่ประชาชนให้แยกก่อน แล้วราชการมีหน้าที่ช่วยส่งเสริมจิตสำนึกและหาเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์”

ทั้งนี้ แนวคิดดังกล่าวก็สอดคล้องกับท่าทีของกทม.ที่เน้นการรณรงค์ให้ใช้ขยะน้องลง มีการรีไซเคิ้ลมากขึ้น ในส่วนของค่าดำเนินการ 150 บาทนั้น เขาเผยว่า เป็นเพดานสูงสุดที่มีการกำหนดไว้เท่านั้น อาจมีการจัดเก็บตามความเหมาะสมตามเกณฑ์อีกที

“รัฐไม่สามารถใช้ 150 บาทกับทุกบ้านได้ทีเดียวเพราะว่ามันจะไม่เป็นธรรมกับบางบ้านที่เขามีคนอยู่น้อยกว่านั้น หรือไม่ค่อยอยู่บ้าน จริงๆ ตรงนี้เป็นเพดาน แต่ก็มีคำถามเหมือนกันว่า ความเหมาะสมทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นกทม.จะเอาอะไรมาวัด จะไปช่างขยะกันทุกวันมั้ย คือถ้าไม่มีเกณฑ์ไม่มีมาตรฐานอีกหน่อยมีการฟ้องศาลปกครองแน่นอนเลย”

การจัดเก็บค่าบริการลักษณะนี้ในต่างประเทศมีลักษณะเป็นชุมชนเล็กๆ หรือในประเทศญี่ปุ่นก็จะมีการขายถุงขยะ หากไม่ใส่ถุงนี้ก็จะไม่เก็บ เป็นการเก็บค่าบริการทางอ้อมนั่นเอง


ปัญหาการจัดการขยะที่สำคัญที่สุดตอนนี้จึงเป็นการลดปริมาณขยะซึ่งต้องเริ่มต้นจากประชาชน การลดขยะ คัดแยกก่อนทิ้ง และพยายามนำกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุดจึงเป็นหนทางที่ประชาชนต้องมีสำนึกในหน้าที่ของตัวเอง แต่กับค่าดำเนินการที่ประชาชนต้องจ่ายเพิ่มขึ้นก็อาจเป็นช่องทางให้รัฐหาผลประโยชน์จากวิกฤตที่เกิดขึ้นก็เป็นได้

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE






มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754





กำลังโหลดความคิดเห็น