xs
xsm
sm
md
lg

ความเข้าใจผิด “ค่ากำจัดขยะ” ถึงเวลาที่ประชาชนต้องจ่าย ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับขยะ 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะการจัดการมูลฝอยทั่วไป พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมในการให้บริการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย พ.ศ. .... เมื่อวันจันทร์ที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา แต่มีการนำเสนอข่าวว่า “รัฐบาลเห็นชอบให้เทศบาลกำหนดค่าจัดเก็บขยะครัวเรือนละ 150 บาทต่อเดือน” ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดและอาจก่อให้เกิดกระแสคัดค้านการจัดเก็บค่าขยะได้
ผู้เขียนจึงได้ประมวลประเด็นข้อสงสัยและข้อมูลข้อเท็จจริงของสภาพปัญหาการจัดการขยะในปัจจุบันและข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่อแนวทางแก้ปัญหา

ความเข้าใจผิด ข้อที่ 1 “ค่ากำจัดขยะเป็นบริการสาธารณะ ทำไมประชาชนต้องจ่าย”
มีหลายคนยังมีความคิดหรือความเข้าใจว่า ท้องถิ่นได้รับภาษีจากประชาชนไปแล้ว ทำไมยังต้องมาจัดเก็บค่ากำจัดขยะจากประชาชนอีก ในความเป็นจริง การกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2542 ส่งผลให้ อปท. มีภารกิจที่ได้รับการถ่ายโอนจากส่วนกลางหลายร้อยเรื่องทั้งในด้านสาธารณสุข การศึกษา สิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ และส่วนใหญ่มักจะถ่ายแต่ “ภาระ” แต่งบประมาณไม่ตามมา หรือจัดสรรมาให้ไม่เพียงพอ ดังจะเห็นได้ว่า จวบจนปัจจุบัน รัฐบาลไม่สามารถจัดสรรงบประมาณให้กับอปท. ได้ตามเป้าหมาย คือ ไม่น้อยกว่า 35% ของรายได้สุทธิของรัฐบาล ปัจจุบัน จัดสรรงบประมาณได้เพียง 28% เท่านั้น
ปัญหาจึงย้อนกลับไปถึงเรื่องความสามารถในการจัดเก็บภาษีของรัฐ ยกตัวอย่างกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปัจจุบัน มีบุคคลธรรมดาที่จ่ายภาษีเงินได้เพียง 2 ล้านคนเท่านั้นจากมนุษย์เงินเดือน 11.7 ล้านคน เนื่องจากมีการให้สิทธิลดหย่อนภาษีมาก มีการหลบเลี่ยงภาษี รัฐมิได้มีรายได้มากพอที่จะสนับสนุนการจัดบริการสาธารณะต่างๆ อย่างเพียงพอและทั่วถึง ประชาชนต้องร่วมกันจ่ายด้วย ไม่งั้น ถ้าไม่จ่ายก็คงต้องไปเก็บทางอ้อม เช่นการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แล้วนำรายได้ส่วนหนึ่งมาอุดหนุนอปท.ในการจัดการขยะ แต่พอรัฐจะขึ้นมูลค่าเพิ่ม ประชาชนก็ค้านกันอีก
ในขณะเดียวกัน หากให้อปท. จัดเก็บภาษีเอง อปท. ก็ไม่สามารถจัดเก็บได้มากนักไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลทางการเมืองหรือการบริหารจัดการก็ตาม เมื่องบประมาณไม่เพียงพอ จึงส่งผลกระทบต่อคุณภาพและประสิทธิภาพการให้บริการต่างๆ รวมถึงการจัดการขยะด้วย ด้วยความตระหนักถึงภาระทางการคลังของท้องถิ่นในการจัดการขยะ กฎหมายสาธารณสุขและกฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมจึงได้กำหนดหลักการ “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” (polluter pay principle: PPP) ให้ผู้ก่อให้เกิดขยะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะด้วย ดังนั้น อปท.จึงสามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมจัดการขยะได้ตามกฎหมายสาธารณสุข ทั้งนี้ การจัดบริการสาธารณะมิได้หมายความว่า ทุกอย่าง รัฐจะต้องจัดบริการให้ฟรี เพียงแต่เป็นอัตราที่ไม่ได้หวังผลกำไรจากการให้บริการนั้นๆ เท่านั้น
นอกจากนี้ ในร่างกฎกระทรวงฯ ได้เสนอให้มีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมกำจัดขยะจากนักท่องเที่ยวไว้ด้วย โดยสถานประกอบการจะต้องนำส่งรายได้จากนักท่องเที่ยวในอัตราไม่เกิน 2 บาทต่อคนต่อคืน ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีที่จะเพิ่มรายได้ให้กับอปท.ในการจัดการขยะที่มาจากภาคบริการ (ท่องเที่ยว) แต่จะต้องมีการติดตามตรวจสอบเพื่อให้สถานประกอบการนำส่งรายได้อย่างครบถ้วนด้วย
ความเข้าใจผิด ข้อที่ 2 “ที่ผ่านมาก็จ่ายอยู่แล้ว ทำไมต้องจ่ายเพิ่มอีก”
ประชาชนส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่า ค่าขยะที่จ่ายอยู่ทุกเดือน ประมาณ 10 - 40 บาทต่อเดือนนั้น เป็นเพียง “ค่าเก็บขนขยะ” เท่านั้น ยังมิได้รวม “ค่ากำจัดหรือบำบัดขยะ” ที่อปท.ต้องจ่ายให้กับผู้รับกำจัดขยะ ที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายในการกำจัด หรือบำบัดขยะจึงมาจากเงินงบประมาณอันจำกัดจำเขี่ยของอปท. เมื่องบประมาณน้อยก็ส่งผลให้ไม่มีเงินไปลงทุนสร้างสถานฝังกลบขยะอย่างถูกหลักสุขาภิบาล (sanitary landfill) เราจึงเห็นภาพของกองขยะ หรือบ่อขยะ (opendump) เกิดขึ้นทั่วประเทศหลายพันแห่ง ซึ่งสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทำให้เกิดไฟไหม้บ่อขยะหลายครั้ง (ทั้งที่เกิดขึ้นเองและลักลอบเผา) ส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่และระบบนิเวศเป็นอย่างมาก ดังที่ปรากฏเป็นข่าวรายวันอยู่ ณ ขณะนี้
การออกกฎกระทรวงฉบับใหม่จึงเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระทางการคลังของอปท. ในความเป็นจริง กฎกระทรวงดังกล่าวน่าจะออกมาตั้งนานแล้วโดยควรจะกำหนดควบคู่ไปกับค่าเก็บขนขยะ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงและมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาดังกล่าว ที่ผ่านมา ประชาชนมักจะมองว่า ขยะเป็นหน้าที่ของท้องถิ่นที่ต้องดูแล แต่มิได้หันกลับมามองว่าเป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องช่วยกันลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้น

ความเข้าใจผิด ข้อที่ 3 “ค่าเก็บขยะ 150 บาทต่อเดือน แพงเกินไปไหม”
อัตราค่าธรรมเนียมที่กำหนดไว้ในร่างกฎกระทรวงว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมในการให้บริการจัดการสิ่งปฏิกูล หรือมูลฝอย พ.ศ. .... นั้นเป็นอัตราเพดานค่าธรรมเนียมที่อปท.สามารถจัดเก็บได้ โดยถ้าบ้านเรือนมีปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรหรือ 4 กิโลกรัมต่อวัน อปท.จะสามารถจัดเก็บค่าขนขยะได้ไม่เกิน 65 บาทต่อเดือนและค่ากำจัดขยะได้ไม่เกิน 155 บาทต่อเดือน นั่นคือไม่เกิน 220 บาทต่อเดือน อัตราดังกล่าวดูจะเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูงก็เนื่องมาจากว่าเป็นการกำหนดอัตราเพดานค่าธรรมเนียมที่จะมีผลใช้บังคับไปอีกหลายปี (ไม่น้อยกว่า 10 ปี) ดังนั้น อัตราค่าธรรมเนียมที่กำหนดจึงเป็นอัตราที่คิดเผื่ออนาคตด้วย โดยคำนวณมาจากต้นทุนการเก็บขนและการกำจัดขยะที่เกิดขึ้นจริงในระบบฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล (sanitary landfill) ตั้งแต่ค่าลงทุน ค่าก่อสร้างระบบ ค่าดำเนินการและค่าซ่อมบำรุงแล้วปรับเพิ่มตามอัตราเงินเฟ้อที่ตั้งสมมติฐานไว้ที่ร้อยละ 5 ต่อปี
ในทางปฏิบัติ อปท. สามารถออกข้อบัญญัติของท้องถิ่นกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเก็บขนและค่าธรรมเนียมกำจัด/บำบัดขยะที่ต่ำกว่าที่ระบุไว้ในกฎกระทรวงก็ได้ และคาดว่า อปท.ส่วนใหญ่คงจะจัดเก็บในอัตราที่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้และคงมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากประชาชนคุ้นชินกับการจ่ายค่าขยะ (ค่าเก็บขน) ในอัตราที่ต่ำ (10 - 40 บาทต่อเดือน) มาโดยตลอด หากจู่ๆ ต้องมาจ่าย 100 บาทหรือ 150 บาทต่อเดือนอาจจะพาลไม่จ่ายเลยก็ได้ อปท.อาจจะต้องเริ่มจากการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนถึงความจำเป็นที่ต้องจัดเก็บและสำรวจระดับที่ประชาชนเต็มใจจ่าย ณ ปัจจุบันก่อน ทั้งนี้ ผู้เขียนเสนอให้กำหนดจัดเก็บในอัตราเดียวกันทุกพื้นที่โดยส่วนกลางอาจจะกำหนดเป็นนโยบายลงไป เช่นเริ่มต้น 80 บาทต่อเดือน (รวมค่าเก็บขนและค่ากำจัดขยะ) เนื่องจากที่ผ่านมา พอให้แต่ละพื้นที่กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและมีความแตกต่างระหว่างพื้นที่ ส่งผลให้ประชาชนรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมและสงสัยว่าททำไมพื้นที่ตนจึงเก็บค่าขยะแพงกว่าอีกที่หนึ่ง
ในอีกด้านหนึ่ง ผู้เขียนยังห่วงว่า อปท.จะไม่กล้าออกข้อบัญญัติของท้องถิ่นที่จะจัดเก็บค่าธรรมเนียมกำจัดขยะ เพราะที่ผ่านมา เฉพาะค่าธรรมเนียมเก็บขนขยะ ยังมีอปท.จำนวนมากที่ไม่ได้ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นและจัดเก็บค่าธรรมเนียมเก็บขยะจากประชาชน เนื่องจากผู้บริหารของท้องถิ่นกลัวว่าจะเสียคะแนนนิยมหรือซ้ำร้ายกว่านั้น บางพื้นที่นำเรื่องการลด หรือยกเว้นอัตราธรรมเนียมเก็บขยะมาเป็นเครื่องมือหาเสียงกับประชาชนอีก รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทยจึงควรร่วมกันขับเคลื่อนให้อปท.กำหนดข้อบัญญัติของท้องถิ่นในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเก็บขนและกำจัดขยะและควรมีนโยบายเกี่ยวกับอัตราขั้นต่ำที่ควรจัดเก็บไว้ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้อปท.กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมที่ต่ำเกินไปซึ่งจะทำให้เป็นภาระทางการคลังและไม่ช่วยแก้ปัญหาขยะที่เรื้อรังได้
นอกจากนี้ ควรมีการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนด้วยว่า รายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้นจะนำไปใช้ปรับปรุงระบบกำจัด/บำบัดขยะ ปัญหาบ่อขยะที่ทำไม่ถูกต้องจะต้องลดลง ควบคู่ไปกับการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการเก็บขยะซึ่งจะต้องทำควบคู่ไปกับการสื่อสารกับประชาชนด้วย เพราะบางครั้งประชาชนก็คาดหวัง หรือเรียกร้องบริการจากรัฐมากเกินไป เช่น การเข้าไปเก็บขยะทุกวันจากครัวเรือนซึ่งเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูงสำหรับอปท. ในหลายพื้นที่
ความเข้าใจผิด ข้อที่ 4 “ประชาชนจ่ายค่าขยะแพงขึ้น จะช่วยลดการเกิดขยะ”
มีการชี้แจงจากหน่วยงานภาครัฐในทำนองที่ว่า การทำให้ค่ากำจัดขยะแพงขึ้นจะช่วยให้ประชาชนเกิดความตระหนักและช่วยกันลดปริมาณขยะ แต่ในความเป็นจริง ประชาชนจะมีแรงจูงใจในการลดและคัดแยกขยะก็ต่อเมื่อเค้าจ่ายค่ากำจัดขยะตามปริมาณที่เกิดขึ้นจริง (pay as you throw: PAYT) เหมือนกับการจ่ายบิลค่าไฟหรือค่าน้ำประปาที่ประชาชนจ่ายตามหน่วยที่ใช้จริง แต่ที่ผ่านมา ภาครัฐมิได้นำรูปแบบการคิดค่าธรรมเนียมต่อหน่วยมาใช้กับการจัดการขยะภาคครัวเรือนเนื่องจากเห็นว่ามีความยุ่งยากในการบริหารจัดการ ครัวเรือนส่วนใหญ่จึงจ่ายค่าขยะในอัตราเดียวกัน (flat rate fee) ร่างกฎกระทรวงฯ ยังคงใช้รูปแบบการคิดอัตราเดียว (เหมาจ่าย) สำหรับครัวเรือนทั่วไปที่มีปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรหรือ 4 กิโลกรัมต่อวัน (หรือ 120 กิโลกรัมต่อเดือน) แต่หากมีขยะมากกว่า (ส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการ) ก็จะจ่ายตามปริมาณที่เกิดขึ้น
การคิดอัตราเดียวกันมีข้อด้อย คือ เรื่องความไม่เป็นธรรม กล่าวคือ บ้านที่มีขยะมากและบ้านที่มีขยะน้อยจ่ายเท่ากัน เนื่องจากสังคมไทยเริ่มเปลี่ยนเป็นครอบครัวเดี่ยว มีลูกน้อยลงและมีสัดส่วนครัวเรือนคนเดียว (คนโสด) เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น กลุ่มคนโสดหรือครอบครัวเดี่ยวก็อาจจะไม่ยอมรับในการคิดอัตราค่าธรรมเนียมขยะที่มาจากฐานคิดของครัวเรือนที่มีสมาชิก 5 คนตามที่กรมอนามัยเสนอได้
นอกจากนี้ การใช้อัตราค่าธรรมเนียมเดียวกันก็ไม่สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนคัดแยกและรีไซเคิลขยะด้วย ผู้เขียนจึงเสนอว่า อปท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะต่อหน่วยโดยทดลองในบางพื้นที่ก่อน

ในความเป็นจริง แนวคิดเรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่อหน่วย (pay as you throw: PAYT) นั้นมิใช่แนวคิดใหม่ ในต่างประเทศ มีการใช้แนวคิดนี้มาตั้งแต่ปีค.ศ. 1932 ที่เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบัน ประชาชนกว่า 20% ในประเทศที่พัฒนาแล้วจ่ายค่าธรรมเนียมขยะตามปริมาณที่เกิดขึ้น มีหลายเมืองที่นำระบบนี้มาใช้แล้วทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป เกาหลีใต้และเมืองไทเปของไต้หวัน ซึ่งมีผลการศึกษาในเมืองไทเป ที่พบว่า ปริมาณขยะลดลง 35% และอัตราการรีไซเคิลเพิ่มขึ้นถึง 2.6 เท่าเทียบกับปี 1999
อย่างไรก็ดี รูปแบบค่าธรรมเนียมต่อหน่วยจะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อท้องถิ่นมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดด้วย โดยเราสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ในต่างประเทศ เช่น กรณีเกาหลีใต้ พนักงานเก็บขยะจะไม่เก็บขยะที่ไม่ได้ใส่ถุงขยะที่ท้องถิ่นกำหนด โดยเพื่อนบ้านจะช่วยกันสอดส่องและมีกล้องวงจรปิดตรวจสอบและป้องปรามการลักลอบทิ้งขยะนอกพื้นที่ โดยผู้ที่แจ้งเบาะแสจะได้รับรางวัลถึงร้อยละ 80 ของค่าปรับที่กำหนดไว้สูงถึง 30,000 บาท
ปัจจุบัน เริ่มมีบางเทศบาลในประเทศไทยได้นำรูปแบบนี้มาใช้แล้ว เช่น เทศบาลตำบลนางแล จ.เชียงราย เทศบาลตำบลดู่ใต้ จ.น่าน เทศบาลตำบลอุโมงค์ จ.ลำพูน และเทศบาลตำบลเวียงเทิง จ.เชียงราย กรณีเทศบาลตำบลเวียงเทิง จ.เชียงรายได้พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ในปี 2553 จากที่เทศบาลประสบปัญหาบ่อขยะเต็ม จึงได้หารือกับประชาชนและออกประกาศและธรรมนูญพลเมืองหมู่บ้านให้ประชาชนคัดแยกขยะ โดยเทศบาลจะเก็บเฉพาะขยะทั่วไปและขยะที่ย่อยสลายได้จากหน้าบ้านไปกำจัดและทำปุ๋ย ส่วนวัสดุรีไซเคิลและขยะอันตรายจะจัดเก็บเป็นรายเดือนตามวันที่กำหนด โดยคิดค่าบริการเก็บขยะตามน้ำหนักเฉลี่ยของขยะต่อเดือน มาตรการเหล่านี้ช่วยให้เทศบาลตำบลเวียงเทิงสามารถลดปริมาณขยะที่ต้องเก็บขนจากเดิม 6 ตันเหลือเพียง 3.3 ตันเท่านั้น
(รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกันแนวคิดและประสบการณ์การใช้ค่าธรรมเนียมขยะต่อหน่วย ดูใน ปเนต มโนมัยวิบูลย์ (2557) การทบทวนแนวคิดและประสบการณ์เพื่อพัฒนาคู่มือการคิดค่าธรรมเนียมการจัดการขยะต่อหน่วยส าหรับท้องถิ่น, สนับสนุนโดยชุดโครงการ “การเสริมสร้างศักยภาพ อปท. สุขภาวะ”)
บทสรุปและข้อเสนอแนะ
แม้ร่างกฎกระทรวงฯ ที่เสนอโดยกระทรวงสาธารณสุขจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาการจัดการขยะให้กับท้องถิ่นในระยะยาว แต่จะประสบความสำเร็จได้ อาจจะต้องฝ่าอุปสรรคในหลายด่าน
ด่านแรก คือ ท้องถิ่นจะต้องกล้าออกข้อบัญญัติของท้องถิ่นเพื่อจัดเก็บค่าธรรมเนียมเก็บขนและกำจัดขยะโดยที่ต้องกำหนดในอัตราที่ไม่ต่ำจนเกินไป เพื่อนำรายได้มาปรับปรุงระบบการให้บริการและการบำบัด/กำจัดขยะให้ถูกต้องตามหลักวิชาการมากขึ้น
ด่านที่สอง จะต้องเพิ่มความสามารถในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมให้ได้ตามที่กำหนดไว้ด้วยซึ่งก็ขึ้นอยู่กับระดับความเต็มใจที่จะจ่ายค่าธรรมเนียมของประชาชนซึ่งสัมพันธ์กับระดับความตระหนักเรื่องปัญหาขยะและความสามารถในการจ่าย (อย่างหลัง ไม่น่าห่วง เพราะอปท.จะคำนึงถึงอย่างมากอยู่แล้ว)
อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์ที่อปท.มักจะกำหนดค่าธรรมเนียมขยะในอัตราที่ค่อนข้างต่ำมากและประสบปัญหาการจัดเก็บได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะประชาชนไม่ยอมจ่าย
ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอดังต่อไปนี้
1. เพิ่มการจัดเก็บภาษีทางอ้อมให้กับอปท. เช่น การจัดเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียว ได้แก่ ถุงพลาสติก โฟม ตะเกียบไม้ ซึ่งปัจจุบัน พบว่า ขยะบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยรัฐ (ส่วนกลาง) ต้องสัญญาว่าจะแบ่งรายได้จากภาษีส่วนหนึ่งให้กับท้องถิ่นในการจัดการขยะ (ถ้าให้ดี ควรร่างกฎหมายใหม่แต่อาจใช้เวลานาน) ในอีกด้านหนึ่ง การเพิ่มภาษีบรรจุภัณฑ์จะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนลดการใช้บรรจุภัณฑ์ลงและเป็นการส่งเสริมบรรจุภัณฑ์ทดแทน เช่น บรรจุภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้แทนการใช้โฟม เป็นต้น
2. หัวใจสำคัญของการจัดการขยะอย่างยั่งยืน คือ “ประชาชนทุกคนช่วยกันลดและคัดแยกขยะที่ต้นทาง” หากสามารถสร้างระบบคัดแยกที่ดีแล้ว จะเหลือขยะที่ต้องไปฝังกลบ หรือเผาน้อยมาก แต่ปัจจุบัน ดูเหมือนรัฐบาลและท้องถิ่นจะมุ่งเน้นไปที่การลงทุนสร้างระบบกำจัดขยะซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุมากกว่า และการที่มีเทคโนโลยีกำจัดขยะที่ดีเลิศเพียงใด แต่หากต้นทางไม่คัดแยกแล้ว ขยะที่ปะปนทั้งขยะอินทรีย์ มูลฝอยทั่วไป ขยะอันตราย (ไม่นับรวมส่วนที่ลักลอบทิ้ง) ก็จะสร้างปัญหาให้กับระบบที่สร้างขึ้นได้
ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ การกำหนดนโยบายให้อปท.ทุกแห่งมีเป้าหมายในการเพิ่มการคัดแยกและรีไซเคิลขยะ การรณรงค์คัดแยกขยะมิใช่เป็นงานของกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น เพราะหากสอนให้เด็กแยกขยะที่โรงเรียนแต่กลับบ้านก็ยังทิ้งรวมกัน การสร้างจิตสำนึกก็ไม่เป็นผล ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องระหว่างกระทรวงศีกษาธิการ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชนและสื่อมวลชน
ทั้งนี้ หากอปท.มีงบประมาณด้านขยะเพิ่มขึ้น ภาครัฐก็ควรกำหนดเป็นนโยบายหรือเป้าหมายการจัดสรรงบประมาณ หรือรายได้ที่ได้รับเพิ่มเติมสำหรับการสร้างความตระหนักและส่งเสริมให้ประชาชนคัดแยกขยะด้วย (ให้เป็นไปตามร่างกฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะการจัดการมูลฝอยทั่วไป) อาจจะต้องก าหนดสัดส่วนงบประมาณในการรณรงค์สร้างความตระหนักควบคู่ไปกับการติดตามประเมินประสิทธิภาพ หรือผลของการรณรงค์ด้วย
3. ควรมีการปรับแก้กฎหมายผังเมือง ให้ร้านรับซื้อของเก่าอยู่ในเขตเมืองได้ เพื่อสร้างความสะดวกให้กับประชาชนในการขายขยะรีไซเคิล แต่ควรมีการบังคับใช้กฎหมายสาธารณสุขในการจัดระเบียบร้านรับซื้อของเก่าไม่ให้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนใกล้เคียง
ท้ายที่สุด เราคงต้องย้อนถามกลับประชาชนทุกคนว่า เราจะปล่อยให้ไฟไหม้บ่อขยะเป็นปัญหาเรื้อรังอยู่อย่างนี้หรือไม่ เราจะยอมจ่ายเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นมากน้อยเพียงใด หลายคนบอกว่า ค่าเก็บขยะ 40 บาทสูงเกินไป แต่ทำไมค่าบริการโทรศัพท์มือถือ เดือนละ 300 - 700 บาท เราถึงจ่ายได้????

เรื่อง ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี
นักวิจัย สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (sujitra20@gmail.com)

กำลังโหลดความคิดเห็น