ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลายสัปดาห์ก่อนเขียนเรื่องที่ ผู้บริหาร กทม. กำลังเลือกที่จะแก้ไข ข้อบัญญัติ ระเบียบและวิธีการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียจากผู้ที่ใช้น้ำประปา ในเขต กทม. เพื่อเสนอ กระทรวงมหาดไทย ประกอบด้วย
1.กทม.จะซื้อข้อมูลจากการประปานครหลวง (กปน.) เพียงอย่างเดียวหรือซื้อข้อมูลจำนวนบ้านคนที่ใช้น้ำประปาในกรุงเทพฯ จากนั้นพิมพ์ใบเสร็จเอง
2.ให้กปน.เก็บค่าบำบัดน้ำเสียพร้อมกับค่าน้ำประปา ในใบเสร็จเดียวกัน แต่วิธีนี้กปน.ปฏิเสธการจัดเก็บ เนื่องจากพ.ร.บ.การประปานครหลวง ไม่ได้ระบุให้จัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย แต่เป็นผู้ออกใบเสร็จค่าน้ำประปาให้กทม.ได้ โดยคิดค่าใบเสร็จ แบ่งเป็นค่าข้อมูลจากมิเตอร์ ค่าพิมพ์ รวมใบละ 6 บาท ซึ่งเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมามีบ้านเรือนที่ใช้น้ำประปา 300,000 หลังคาเรือน เท่ากับว่า กทม.ต้องจ่ายค่าออกใบเสร็จเฉลี่ยเดือนละ 1.8 ล้านบาท และเมื่อกทม.ไม่มีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่จ่าย จึงยังไม่มีความแน่นอน ว่าจะจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียได้มากน้อยเพียงใด
และ3.การเหมาจ่ายเช่นเดียวกับการจัดเก็บค่าขยะมูลฝอย โดยแนวทางนี้ต้องแก้ไขข้อบัญญัติกรุงเทพ มหานคร เรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย พ.ศ.2547 โดยแบ่งอัตราค่าธรรมเนียมตามประเภทของอาคารหรือสถานที่ที่เป็นแหล่งกำเนิดน้ำเสีย
ล่าสุด มีความเป็นไปได้ที่ จะเรียกเก็บ อัตราค่าน้ำเสียนี้จะคิดเป็นสัดส่วนตามการใช้น้ำประปา น้ำบาดาล หรือน้ำจากแหล่งอื่นๆ ตกเดือนละ 22 บาท โดยแบ่งได้ดังนี้
1) บ้านเรือนที่อยู่อาศัยที่มีน้ำเสียเกิน 10 คิว หรือ 10 ลบ.ม.ต่อเดือน ให้คิดอัตราในช่วงปีแรก 1 บาทต่อคิว จากนั้นทุก 6 เดือน จะเก็บเพิ่มอีก 25 สตางค์ต่อคิว จนครบ 2 ปี รวมเป็น 2 บาทต่อคิว 2) สถานที่ราชการ-รัฐวิสาหกิจ และธุรกิจ อัตรา 2 บาทต่อคิว 3) โรงพยาบาล อัตรา 3 บาทต่อคิว 4) โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ภัตตาคาร ร้านอาหาร ตลาด อาบอบนวด และสถานประกอบการ คิด 4 บาทต่อคิว 5) อุตสาหกรรม อัตรา 8 บาทต่อคิว และ 6) แหล่งมลพิษอื่น 4 บาทต่อคิว
ทีนี้มาดูเรื่อง “ขยะ-สิ่งปฏิกูล” สัปดาห์ก่อนการประชุมคณะรับมนตรี (ครม.) มีการเห็นชอบร่างกฎกระทรวง 4 ฉบับ ตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอ ว่าด้วย ขยะมูลฝอย และสิ่งปฏิกูลล้วน ๆ โดย เตรียมประกาศใช้ต่อเมื่อราชกิจจานุเบกษา ประกาศวันเวลาต่อไป
วันก่อน เจ้าของเรื่อง “นายเเพทย์ พรเทพ ศิริวนารังสรรค์” อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า เป็นการให้อำนาจเทศบาลในการจัดการขยะอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะการกำหนดเกณฑ์ให้เทศบาลใช้เพื่อจัดเก็บค่าจัดการขยะ ได้ครัวเรือนละ150 บาทต่อเดือน ซึ่งค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะดังกล่าวได้มีการศึกษาและวิจัยแล้วพบว่า ตามปกติแต่ละครัวเรือนจะสร้างขยะ คนละ 1 ก.ก.ต่อวัน เฉลี่ยให้แต่ละครัวเรือนมีสมาชิก 5 คน แต่ละเดือนจะเท่ากับสร้างขยะ 150 ก.ก. โดยค่ากำจัดขยะเฉลี่ยก.ก.ละ 1 บาท จะเท่ากับเดือนละ 150 บาท ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวเป็นค่ามาตรฐานกลาง กำหนดไว้เพื่อให้เทศบาลได้มีเกณฑ์อ้างอิงในการจัดเก็บ แต่หากครัวเรือนสามารถลดปริมาณขยะได้น้อยกว่าเกณฑ์ก็อาจจะเสียน้อยกว่าหรือไม่เสียก็ได้
“หวังกระตุ้นให้ครัวเรือนคัดแยกขยะ รีไซเคิลขยะ เช่น ขวด กระดาษ ซึ่งเป็นขยะประเภทที่สามารถคัดแยกไว้ขายได้ ซึ่งเมื่อสร้างขยะน้อยก็จะไม่เสียค่าจัดการขยะ เป็นต้น ครัวเรือนต้องรับผิดชอบขยะของครัวเรือนเอง นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ก็ต้องมีส่วนร่วม มีแนวคิดเก็บค่ากำจัดขยะรวมอยู่ในค่าที่พักวันละ 2 บาทต่อคน และให้สถานประกอบการเป็นผู้นำส่งเทศบาล
ทีนี้มาดูรายละเอียดของร่างกฎกระทรวงทั้ง 4 ฉบับ
ฉบับแรก “ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะการจัดการมูลฝอยทั่วไป พ.ศ. ...”
กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการเก็บมูลฝอยทั่วไป เช่น ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ที่พักอาศัย ธุรกิจร้านค้า สถานประกอบการ สถานบริการ โรงงานอุตสาหกรรม ตลาด สถาบันต่าง ๆ และสถานที่ที่เป็นแหล่งกำเนิดมูลฝอยทั่วไปต้องมีการคัดแยกมูลฝอยอย่างน้อย 3 ประเภท คือ มูลฝอยนำกลับมาใช้ใหม่ มูลฝอยทั่วไป และมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน
กำหนดคุณลักษณะของถุงหรือภาชนะ เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารอยู่อาศัยรวมที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไปหรือมีพื้นที่ใช้สอยมากกว่า 4,000 ตารางเมตรขึ้นไป ธุรกิจร้านค้า สถานประกอบการ สถานบริการ ตลาด สถาบันต่าง ๆ ที่มีปริมารมูลฝอยเกิน 2 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ต้องจัดให้มีที่พักรวมมูลฝอยทั่วไปหรือภาชนะรองรับที่มีขนาดใหญ่ผู้ปฏิบัติงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการคัดแยก
ผู้จัดเก็บต้องได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีและผ่านการฝึกอบรมให้มีความรู้ด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน ต้องจัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เหมาะสมสำหรับผู้ปฏิบัติงาน เจ้าของหรือผู้ครอบครองโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นแหล่งกำเนิดมูลฝอยทั่วไปห้ามทิ้งของเสียอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานปะปนกับมูลฝอยทั่วไป ราชการส่วนท้องถิ่นต้องจัดให้มีภาชนะรองรับมูลฝอยทั่วไปในที่หรืองานสาธารณะอย่างถูกสุขลักษณะตามความเหมาะสม อย่างน้อยเป็น 2 ประเภท คือ มูลฝอยนำกลับมาใช้และมูลฝอยทั่วไปหรือตามที่ราชการส่วนท้องถิ่นกำหนด เป็นต้น
กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการที่ใช้ในการขนมูลฝอยทั่วไปของราชการส่วนท้องถิ่น บุคคลซึ่งราชการส่วนท้องถิ่นมอบให้ดำเนินการ หรือบุคคลซึ่งได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินกิจการรับทำการ เก็บ ขน และกำจัดมูลฝอยทั่วไป โดยทำเป็นธุรกิจ ลักษณะของยานพาหนะสำหรับใช้ในการขนมูลฝอย กำหนดให้ต้องมีสถานีขนถ่ายมูลฝอยทั่วไปที่ต้องพักรอการถ่าย
กำหนดวิธีดำเนินการในการกำจัดมูลฝอยทั่วไปของราชการส่วนท้องถิ่น บุคคลซึ่งราชการส่วนท้องถิ่นมอบให้ดำเนินการ หรือบุคคลซึ่งได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินกิจการการทำการเก็บ ขน และกำจัดมูลฝอยทั่วไป โดยทำเป็นธุรกิจ หลักการจัดการที่ถูกสุขาภิบาล การป้องกันเหตุรำคาญต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากขั้นตอนในการกำจัดมูลฝอยทั่วไป สถานที่ตั้งในการกำจัดมูลฝอยทั่วไปที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฏกระทรวงนี้
มีการกำหนดบทเฉพาะกาล โดยกำหนดให้ผู้ที่ก่อให้เกิดมูลฝอยทั่วไป ราชการส่วนท้องถิ่น บุคคลซึ่งราชการส่วนท้องถิ่นมอบให้ดำเนินการ หรือบุคคลซึ่งได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินกิจการรับทำการเก็บ ขน และกำจัด มูลฝอยทั่วไปโดยทำเป็นธุรกิจที่มีการดำเนินการก่อนกฎกระทรวงฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ต้องดำเนินการเก็บ ขนมูลฝอยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและมาตรการภายใน 1 ปี และต้องดำเนินการกำจัดมูลฝอยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและมาตรการตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ภายใน 3 ปี
ฉบับที่สอง “ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะการจัดการสิ่งปฏิกูล พ.ศ. .....” ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีอำนาจในการบังคับใช้
ว่าด้วยการ การจัดการเรื่อง “สิ่งปฏิกูล” “การจัดการสิ่งปฏิกูล” “ส้วม” “ส้วมสาธารณะ” “การขนสิ่งปฏิกูล” “การบำบัดสิ่งปฏิกูล” “การกำจัดสิ่งปฏิกูล” และ “กากตะกอน”
มีการควบคุมถึงกรณี “การจัดการชุมนุม” หรือการอื่นใดในทำนองเดียวกัน โดยผู้จัดการชุมนุมต้องจัดให้มีส้วม กรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน หรือสาธารณภัยต่อสาธารณชน ให้ราชการส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง จัดให้มีส้วมเคลื่อนที่หรือส้วมชั่วคราว
กำหนดให้สถานประกอบกิจการหรือสถานที่อื่นใด จะต้องจัดให้มีบริการส้วมสาธารณะ
กำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ยานพาหนะ หรือสถานที่ที่จัดให้บริการส้วมสาธารณะ ต้องจัดให้มีห้องส้วมที่ถูกสุขลักษณะและสามารถให้ผู้สูงอายุและผู้พิการเข้าใช้ได้ ได้แก่ การดูแลพื้น ผนัง เพดาน โถส้วม โถปัสสาวะ การจัดให้มีภาชนะรองรับมูลฝอยทั่วไปที่ถูกสุขลักษณะ สะอาด มีฝาปิดมิดชิด เป็นต้น
กำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดเกี่ยวกับการขนสิ่งปฏิกูล ยานพาหนะสำหรับการขนสิ่งปฏิกูล รวมทั้งมาตรการควบคุม กำกับ การขนสิ่งปฏิกูล
ฉบับที่สาม “ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย พ.ศ. ....”
ฉบบนี้ ให้ยกเลิกกฎกระทรวงว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการให้บริการเก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย และอัตราค่าธรรมเนียมอื่น ๆ พ.ศ. 2545 ที่ใช้มากว่า 14 ปี ราชการส่วนท้องถิ่นไม่สามารถเก็บค่าบริการ และไม่สะท้อนค่าใช้จ่ายที่แท้จริง
“ถึงแม้อัตราค่าธรรมเนียมที่ราชการส่วนท้องถิ่นจะเรียกเก็บจากประชาชนในการให้บริการเก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยเป็นบริการสาธารณะ ซึ่งราชการส่วนท้องถิ่นไม่ได้หวังผลในเชิงธุรกิจหรือความคุ้มทุน หากไม่พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบแล้ว อาจส่งผลกระทบต่องบประมาณดำเนินงานของราชการส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมถึงเทคโนโลยีการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย”
ตรงนี้รวมถึงรถเก็บขยะราคามหาศาล ของท้องถิ่น และอัตราค่าจ้างการเก็บขยะด้วย!!!
ผู้ร่างกฎกระทรวงฯ เห็นว่า ดังนั้น การจะกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมควรเป็นอัตราที่สะท้อนค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริง โดยคำนวณจากต้นทุนค่าใช้จ่ายตั้งแต่ค่าลงทุน ค่าดำเนินการ ค่าซ่อมบำรุง เพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยของราชการส่วนท้องถิ่น อีกทั้งยังเป็นการสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนในการมีส่วนร่วมรับผิดชอบ
ฉบับสุดท้าย ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตและหนังสือรับรองการแจ้ง พ.ศ. ....
หลังจาก ยกเลิกกฎกระทรวงว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการให้บริการ เก็บ ขน และกำจัด สิ่งปฏิกูล หรือมูลฝอย และอัตราค่าธรรมเนียมอื่น ๆ พ.ศ. 2545 แล้ว จึงจะต้องมีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือรับรองที่ราชการส่วนท้องถิ่นจะกำหนดในข้อกำหนดของท้องถิ่นใหม่ (ตามตาราง)
อย่างไรก็ตาม ผู้ร่างมีความเห็นว่า บรรดาข้อบัญญัติ หรือเทศบัญญัติ ซึ่งได้ออกตามกฎกระทรวงว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการให้บริการ เก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูล หรือมูลฝอย และอัตราค่าธรรมเนียมอื่น ๆ พ.ศ.2545 ซึ่งถูกยกเลิกโดยกฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งกฎกระทรวงนี้ จนกว่าจะได้มีข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติที่ออกตามกฎกระทรวงนี้
คาดว่า เมื่อมีการเลือกตั้งองค์การส่วนท้องถิ่นใหม่ ก็จะมีการประกาศใช้กฎกระทรวงทั้ง 4 ฉบับนี้ตามมา