xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กทม.เอาแน่!จัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย ลดต้นทุนวันละ 1 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -วันก่อนเกิดฝนหลงฤดู ตกหนักในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานคร ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมขัง จนคนกทม.ออกมา กร่นด่า ผู้บริหาร กทม. จนหน้าชาไปตามๆกัน แถมวันนั้นยัง มีข่าวจากศาลาว่าการ กทม. ว่า สำนักการระบายน้ำ เตรียมเสนอ 3 แนวทาง จัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียจากผู้ที่ใช้น้ำประปา ในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้กับผู้ว่า กทม. และสภากรุงเทพมหานครพิจารณา ก่อนเสนอกระทรวงมหาดไทยประกาศใช้

เป็นการจัดทำ “ระเบียบและวิธีการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียจากผู้ที่ใช้น้ำประปา” ประกอบด้วย

1. กทม.จะซื้อข้อมูลจากการประปานครหลวง (กปน.) เพียงอย่างเดียว หรือเรียกว่าซื้อข้อมูลจำนวนบ้านคนที่ใช้น้ำประปาในกรุงเทพฯ จากนั้นนำข้อมูลมาพิมพ์ใบเสร็จเอง

2. กทม.จะให้กปน.จัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียพร้อมกับค่าน้ำประปา โดยให้พิมพ์ข้อมูลอยู่ในใบเสร็จเดียวกัน แต่วิธีนี้ไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนเนื่องจากกปน. ได้ปฏิเสธการจัดเก็บให้กับ กทม.เนื่องจากพระราชบัญญัติการประปานครหลวงไม่ได้ระบุให้มีการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย แต่สามารถเป็นผู้ออกใบเสร็จการน้ำประปาให้กับกทม.ได้

โดยจะคิดค่าใบเสร็จ แบ่งเป็นค่าข้อมูลจากมิเตอร์ ค่าจัดพิมพ์ รวมใบละ 6 บาท ทั้งนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้วมีบ้านเรือนที่ใช้น้ำประปาประมาณ 300,000 หลังคาเรือน เท่ากับว่า กทม.จะต้องจ่ายค่าออกใบเสร็จเฉลี่ยเดือนละ 1.8 ล้านบาท ซึ่งกทม.ก็ไม่มีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่จ่าย จึงยังไม่มีความแน่นอนว่าจะสามารถจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียได้มากน้อยเพียงใด ทำให้ที่ผ่านมาไม่ได้มีการจัดเก็บ

3. การเหมาจ่ายเช่นเดียวกับการจัดเก็บค่าขยะมูลฝอย โดยแนวทางนี้จะต้องแก้ไขข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย พ.ศ.2547 โดยจะแบ่งอัตราค่าธรรมเนียมตามประเภทของอาคารหรือสถานที่ที่เป็นแหล่งกำเนิดน้ำเสีย เมื่อแก้ไขข้อบัญญัติดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงจะขอความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร เพื่อประกาศใช้

เรื่องนี้ ต่อเนื่องมาจากการประชุมหารือข้อราชการของกระทรวงมหาดไทย(มท.) เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ในส่วนของกทม. ซึ่งทางสำนักการระบายน้ำ(สนน.) ได้รายงานความคืบหน้าเรื่องการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียในพื้นที่กรุงเทพฯในที่ประชุม ว่าการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียจากการประสานงานกับการประปานครหลวง(กปน.)ในการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียรวมกับค่าน้ำประปา โดยการประปานครหลวงยังไม่เห็นด้วย เนื่องจากทำให้มีผลกระทบต่อการจัดเก็บค่าน้ำประปา เนื่องจากคาดว่าผู้ใช้น้ำประปาอาจจะไม่ยอมจ่ายในส่วนของค่าบำบัดน้ำเสียทำให้ระบบการชำระหนี้ตามใบเสร็จรับเงินเกิดความยุ่งยาก

ฝ่ายสำนักระบายน้ำ กทม. ชี้แจ้งในที่ประชุมวันนั้นว่า อยู่ระหว่างการทบทวนแนวทางวิธีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียที่เหมาะสม เพราะ ปัจจุบันปริมาณการใช้น้ำประปาของกรุงเทพฯ อยู่ที่ประมาณ 2.585 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ความสามารถในการบำบัดน้ำเสียประมาณ 1.136ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยดำเนินการตามแผนแม่บทการจัดการน้ำเสียปี 2554 ที่ กทม.ร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นหรือไจก้า(JICA ) ได้เสนอแผนแม่บทระยะ30 ปีให้ กทม.สร้างระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อบำบัดน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากชุมชนในกรุงเทพฯทั้งหมด

โดยแบ่งพื้นที่ก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียเป็น 27 พื้นที่ โดยมี 8โรงใหญ่บำบัดน้ำเสียได้ 1.112ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 44 ของน้ำเสียทั้งหมดและมีโรงบำบัดน้ำเสียที่อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 4แห่งซึ่งมีขีดความสามารถของการบำบัดน้ำเสีย อยู่ที่ 670,000ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี 2559 คาดว่า จะดำเนินการแล้วเสร็จในปี2566

ขณะที่ กระทรวงมหาดไทย(มท.)ได้มีข้อสั่งการเรื่องการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียโดยขอให้ กทม. ชี้แจงให้ประชาชนยอมรับแบบค่อยเป็นค่อยไปเบื้องต้นให้ชี้แจงทำความเข้าใจในเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำเสียผ่านทางสื่อต่างๆหรือรายการเดินหน้าประเทศไทยโดยให้ประชาชนเกิดการยอมรับและให้สำนักการระบายน้ำ(สนน.)กทม.เร่งทำการสำรวจหรือการวิจัย ในเรื่องระบบบำบัดน้ำเสียในชุมชนให้เสร็จภายใน 10-15ปีจากแผนเดิมที่จะใช้เวลา 30ปี เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะ เมื่อปี 2556 นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่า กทม. ในฐานะกำกับดูแลสำนักการระบายน้ำ บอกว่า ปัจจุบัน กทม.ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการบำบัดน้ำเสีย จึงมีแนวคิดที่จะต้องเรียกเก็บค่าบำบัดน้ำเสียจากผู้ที่ใช้น้ำประปา

โดยกทม.มีโรงงานบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ จำนวน 7 แห่ง ใช้วิธีการจ้างเอกชน 5 แห่ง และ กทม.บริหารเอง 2 แห่ง ได้แก่ โรงควบคุมคุณภาพน้ำสี่พระยา รัตนโกสินทร์ ช่องนนทรี หนองแขม ทุ่งครุ ดินแดง และจตุจักร

“มีค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสียในอัตราเฉลี่ย 1.4 บาทต่อลูกบาศก์เมตร หรือ ประมาณ 1 ล้านบาทต่อวัน”

ซึ่งแนวคิดในการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียมีมาตั้งแต่ปี 2547 แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนเนื่องจากการประปานครหลวง (กปน.) ในขณะนั้นปฏิเสธการจัดเก็บให้กับ กทม.เนื่องจากพระราชบัญญัติการประปานครหลวงไม่ได้ระบุให้มีการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย แต่สามารถเป็นผู้ออกใบเสร็จการน้ำประปาให้กับ กทม.ได้ โดยจะคิดค่าใบเสร็จ แบ่งเป็นค่าข้อมูลจากมิเตอร์ ค่าจัดพิมพ์ รวมใบละ 5.88 บาท ซึ่งเมื่อ 10 ปีที่แล้วมีบ้านเรือนที่ใช้น้ำประปาประมาณ 300,000 หลังคาเรือน เท่ากับว่า กทม.จะต้องจ่ายค่าออกใบเสร็จเฉลี่ยเดือนละ 1.5 ล้านบาท โดยขณะนั้นก็ยังไม่มีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่จ่าย กทม.จึงยังไม่มีความแน่นอนว่าจะสามารถจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียได้มากน้อยแค่ไหน จึงไม่ได้มีการจัดเก็บแต่อย่างใด

ซึ่งช่วงนั้น “ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ผู้ว่าฯ กทม.ได้มอบหมายให้ “นายวัลลภ สุวรรณดี” ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม.เป็นผู้รับผิดชอบ พิจารณาระเบียบในการจัดเก็บใหม่ รวมถึงวิธีการจัดเก็บ ว่าจะซื้อข้อมูลจาก กปน.เพียงอย่างเดียวแล้วเอามาพิมพ์ใบเสร็จเอง หรือให้ กปน.พิมพ์ให้ด้วย เพื่อลดค่าใช้จ่าย และจะต้องดูจำนวนคนใช้น้ำประปาว่าขณะนี้มีอยู่กี่ราย ตอนนั้น เบื้องต้น นายวัลลภ ได้ให้แนวคิดว่าจะให้จัดเก็บพร้อมกับค่าขยะไปเลย ทั้งนี้ จะต้องมีการหารือกับ กปน.อีกครั้งด้วย

มีข้อมูลว่า ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2547 (ที่มา: สำนักงานจัดการคุณภาพน้ำ) การจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย พ.ศ. 2547 ผ่านความเห็นชอบของสภากรุงเทพมหานครและจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในขณะนั้น และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม (2) 121 ตอนพิเศษ 61ง ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2547 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2547 พร้อม จัดทำร่างประกาศกรุงเทพมหานครและร่างระเบียบกรุงเทพมหานคร เรื่องที่สืบเนื่องกับข้อบัญญัติฯ ดังกล่าว จำนวน 5 ฉบับ

มีการว่าจ้าง “กิจการร่วมค้าพีแอนด์ที อีโวเนอร์จี” เป็นผู้ดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบงานคอมพิวเตอร์เพื่อการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานคร ตามสัญญาเลขที่ สนน. 25/2549 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2549 กำหนดระยะเวลาดำเนินการ 150 วัน วงเงิน 11,300,000 บาท ได้มีการขยายสัญญาโครงการฯ ครั้งที่ 1 เป็นเวลา 90 วัน สิ้นสุดสัญญาวันที่ 18 สิงหาคม 2549 และขยายสัญญาครั้งที่ 2 เป็นเวลา 55 วัน สิ้นสุดสัญญาวันที่ 12 ตุลาคม 2549 “ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผน”

ขณะเดียวกันได้มีข้อสังเกต จาก“สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย” ที่เผยแพร่เมื่อปี 2556 เห็นว่า การที่ กทม.เสนอให้จัดเก็บเป็นรายเดือนและจัดเก็บเฉพาะพื้นที่ที่มีการเดินระบบโรงบำบัดน้ำเสียแล้วเท่านั้น ส่วนพื้นที่ใดที่ยังไม่มีโรงบำบัดก็จะยังไม่เก็บ

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ชี้ว่า อัตราค่าธรรมเนียมที่กำหนดนี้ยังไม่สะท้อนความเป็นจริง เพราะอัตราที่เสนอเก็บนี้ต่ำกว่าค่าน้ำประปาอยู่มาก ทั้งๆที่ในทางเทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียแล้ว ค่าใช้จ่ายในการฟอกหรือบำบัดน้ำเสียให้สะอาดนั้น หากรวมเอาค่าใช้จ่ายต่างๆไม่ว่าจะเป็นค่าไฟ ค่าที่ดิน ค่าท่อ ค่าโรงบำบัด ค่าดอกเบี้ย ฯลฯ แล้วย่อมสูงกว่าค่าผลิตน้ำประปาอยู่มาก ในขณะที่ค่าน้ำประปาในขณะนี้ก็ได้เก็บในอัตราสูงถึงกว่า 10 บาทต่อคิวแล้ว

ดังนั้นถ้าจะเก็บก็ควรเก็บให้ตรงกับความเป็นจริง อย่าได้หลอกตัวเองหรือหลอกประชาชนว่าค่าน้ำเสียนั้นราคาถูกอย่างที่กำลังพยายามเสนออยู่ ทั้งนี้หากเกรงปัญหามวลชนและต้องการเก็บแต่เพียงน้อยๆ(โดยไม่รวมเอางบลงทุนมาเป็นค่าใช้จ่ายด้วย)ในระยะเริ่มแรก ก็ทำได้ แต่ต้องบอกให้ประชาชนรู้ว่ารัฐกำลังอุดหนุนอยู่เท่าใด ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดความ 'เคยตัว' และไม่ยอมจ่ายเพิ่มให้สะท้อนความเป็นจริงเมื่อถึงเวลา

สำหรับข้อเสนอที่จะให้มีการเก็บค่าน้ำเสียเฉพาะในพื้นที่ที่มีการเดินระบบบำบัดน้ำเสียเท่านั้น ถ้าพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วจะพบว่าก็ไม่เป็นธรรม เพราะคนในเขตสี่พระยา พระนคร ยานนาวา หนองแขม และราษฎร์บูรณะที่มีโรงบำบัดน้ำเสียอยู่นั้น อาจลุกขึ้นมาประท้วงว่าเขาไม่เคยเรียกร้องให้มีการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียในเขตของเขาเลย ทำไมกทม.ไม่ไปทำในพื้นที่อื่นก่อน แล้วค่อยมาทำในพื้นที่ของเขาทีหลัง เขาจะได้ไม่ต้องมารับภาระการแก้ปัญหาน้ำเสียของคนทั้งกทม.ก่อนคนอื่นโดยไม่ได้สมัครใจ และหากคำนึงถึงหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายอย่างแท้จริงแล้ว จะเห็นได้ว่าผู้ก่อมลพิษไม่ได้เป็นเฉพาะเพียงแค่ผู้ที่อยู่ในเขตที่มีการบริการบำบัดน้ำเสียเท่านั้น หากแต่รวมถึงผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่อื่นๆด้วย เพราะคนหรือกลุ่มคนเหล่านี้โดยธรรมชาติและวิถีชีวิตแล้วก็ต้องปล่อยระบายน้ำเสียออกมาอยู่ทุกวันๆเช่นกัน พวกเขาจึงควรต้องจ่ายค่าน้ำเสียด้วยแม้จะไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่ที่มีการบริการบำบัดน้ำเสียก็ตาม

นอกจากนี้ หากมองในประเด็น 'ผู้ได้ประโยชน์เป็นผู้จ่าย' หรือ Beneficiary Pays Principle (BPP) ก็ต้องถือว่าหากแม่น้ำลำคลองในกทม.มีคุณภาพดีขึ้นเพราะมีการบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งแล้ว คนทุกคนในกทม.ก็จะได้ประโยชน์ในส่วนนี้ด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะอยู่ในเขตพื้นที่ใด ดังนั้นทุกคนในกทม.จึงควรต้องจ่ายค่าที่คุณภาพน้ำในคลองกทม.ดีขึ้นในฐานะเป็นผู้ได้ประโยชน์ ไม่ว่าประโยชน์นั้นจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม และโดยไม่จำกัดว่าคนๆนั้นจะอยู่ในเขตบริการบำบัดน้ำเสียของกทม.หรือไม่ก็ตาม

หากทำดังเช่นที่ว่านี้ได้ คือ สามารถเก็บค่าน้ำเสียจากประชาชนให้ครอบคลุมได้ทั้ง 50 เขตของกทม.ในฐานะที่เป็นทั้งผู้ก่อมลพิษและผู้ได้ประโยชน์ ก็จะเป็นการเพิ่มจำนวน 'ผู้รับผิดชอบ' ไปในตัว และเป็นการเพิ่มจำนวน 'ผู้จ่ายค่าน้ำเสีย' ให้มากขึ้นโดยปริยายด้วย วิธีการเก็บค่าน้ำเสียโดยเก็บจากทั่วทั้งกรุงเช่นที่ว่านี้ส่งผลให้อัตราค่าน้ำเสียที่กทม.จัดเก็บเทียบต่อคนลดลง และเมื่อแต่ละคนต้องแบกภาระค่าน้ำเสียลดลงตามความคิดนี้ ความร่วมมือในการจ่ายค่าน้ำเสียก็จะสูงขึ้นตามไป ทำให้ในภาพรวมแล้ว กทม.จะสามารถเก็บค่าน้ำเสียทั้งกทม.ได้มากกว่าการเก็บเฉพาะในเขตที่มีบริการการบำบัดฯเท่านั้น

ส่วนเงิน'กำไร'ที่เก็บได้มากขึ้นนี้ก็สามารถนำไปใช้ในการลงทุนก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียเพิ่มเติมสำหรับเขตที่ยังไม่มีการให้บริการ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะมีโรงบำบัดน้ำเสียได้ทั่วกทม.และผลดีก็จะตกแก่ผู้รับผลประโยชน์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น 'ผู้เก็บ' หรือ 'ผู้จ่าย' ซึ่งก็คือคนกทม.ทั้งหมดนั่นเอง

เรื่องนี้ต้อรอดูว่า หลังเดือนเมษายนนี้ กทม.จะดำเนินการจัดเก็บอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น