xs
xsm
sm
md
lg

ศึกษาค่ากำจัดขยะ ตกครัวเรือนละ 150 บาท/เดือน หวังเป็นเกณฑ์ท้องถิ่นออกกฎรีดค่าธรรมเนียม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศึกษาค่ากำจัดขยะพบอยู่ที่ 150 บาทต่อครัวเรือน ใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงให้ท้องถิ่นออกเทศบัญญัติเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดขยะ หลัง ครม. ไฟเขียวร่างกฎกระทรวง หวังกระตุ้นประชาชนแยกขยะ สร้างขยะน้อยก็จ่ายน้อย

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันเทศบาลจะเก็บเพียงค่าธรรมเนียมขนส่งขยะเท่านั้น ไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดขยะ ทำให้ไม่มีงบประมาณในการกำจัดขยะอย่างถูกต้อง จึงเกิดปัญหาหลายเทศบาลนำขยะไปกองทิ้งไว้ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ครม. ได้เห็นชอบหลักการเรื่อง สุขลักษณะการจัดการมูลฝอยทั่วไป พ.ศ. ... และร่างกฎกระทรวงว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตและหนังสือรับรองการแจ้ง พ.ศ. ... ซึ่งจะทำให้ท้องถิ่นแต่ละแห่งมีการอำนาจในการจัดการขยะได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถออกเทศบัญญัติในการจัดเก็บค่าบำบัดขยะได้ ซึ่งเกณฑ์กลางอ้างอิงที่เสนอคืออยู่ที่ 150 บาทต่อครัวเรือน เนื่องจากการศึกษาร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อคำนวณค่าบำบัดขยะ พบว่า แต่ละครัวเรือนสร้างขยะคนละ 1 กิโลกรัมต่อวัน เฉลี่ยแต่ละครัวเรือนมีสมาชิก 5 คน จะเท่ากับสร้างขยะ 150 กิโลกรัมต่อเดือน โดยค่ากำจัดขยะเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1 บาท จึงเท่ากับเดือนละ 150 บาท ทั้งนี้ หากครัวเรือนใดสามารถลดปริมาณขยะได้น้อยกว่าเกณฑ์ก็อาจจะเสียน้อยกว่าหรือไม่เสียก็ได้

หลักการดังกล่าวจะเป็นการกระตุ้นให้ครัวเรือนตระหนักในการคัดแยกขยะ รีไซเคิลขยะ ซึ่งเมื่อสร้างขยะน้อยก็จะไม่เสียค่าจัดการขยะ สำหรับการออกเทศบัญญัติขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละพื้นที่ อย่างไรก้ตาม นอกจากครัวเรือนที่ต้องรับผิดชอบแล้ว นักท่องเที่ยวก็เช่นกัน ทั้งไทยและต่างชาติ ต้องมีส่วนร่วม โดยมีแนวคิดเก็บค่ากำจัดขยะรวมอยู่ในค่าที่พักวันละ 2 บาทต่อคน โดยให้สถานประกอบการเป็นผู้นำส่งเทศบาล เพื่อให้เทศบาลมีรายได้ในการจัดการขยะ ซึ่งพบว่าบางพื้นที่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้สูงมาก เช่น เกาะ ซึ่งต้องหาวิธีลดปัญหา และให้ประชาชนร่วมรับผิดชอบ เพราะที่ผ่านมาประชาชนไม่เคยรับรู้มาก่อนว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้สูงมาก เช่น กทม. ใช้งบปีละ 4,000 - 5,000 ล้านบาท ในการฝังกลบขยะ” นพ.พรเทพ กล่าว

นพ.พรเทพ กล่าวว่า สำหรับรายละเอียดการเก็บมูลฝอยทั่วไป เช่น ให้เจ้าของ หรือผู้ครอบครองอาคาร ที่พักอาศัย ธุรกิจร้านค้า สถานประกอบการ สถานบริการ โรงงานอุตสาหกรรม ตลาด สถาบันต่างๆ และสถานที่ที่เป็นแหล่งกำเนิดมูลฝอยทั่วไป ต้องมีการคัดแยกมูลฝอยอย่างน้อย 3 ประเภท คือ มูลฝอยนำกลับมาใช้ใหม่ มูลฝอยทั่วไป และมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตราย กำหนดคุณลักษณะของภาชนะบรรจุมูลฝอย เจ้าของ หรือผู้ครอบครองอาคารอยู่อาศัยรวมที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป หรือมีพื้นที่ใช้สอยมากกว่า 4,000 ตารางเมตรขึ้นไป ธุรกิจร้านค้า สถานประกอบการ สถานบริการ ตลาด สถาบันต่างๆ ที่มีปริมาณมูลฝอยเกิน 2 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ต้องจัดให้มีที่พักรวมมูลฝอยทั่วไปหรือภาชนะรองรับที่มีขนาดใหญ่

นพ.พรเทพ กล่าวว่า สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการคัดแยก และเก็บรวบรวมมูลฝอยทั่วไปต้องได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีและผ่านการฝึกอบรมให้มีความรู้ด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน ต้องจัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เหมาะสมสำหรับผู้ปฏิบัติงานคัดแยกและเก็บรวบรวมมูลฝอยทั่วไป เจ้าของ หรือผู้ครอบครองโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นแหล่งกำเนิดมูลฝอยทั่วไปห้ามทิ้งของเสียอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานปะปนกับมูลฝอยทั่วไป ราชการส่วนท้องถิ่นต้องจัดให้มีภาชนะรองรับมูลฝอยทั่วไปในที่ หรืองานสาธารณะอย่างถูกสุขลักษณะตามความเหมาะสม อย่างน้อยเป็น 2 ประเภท คือ มูลฝอยนำกลับมาใช้และมูลฝอยทั่วไปหรือตามที่ราชการส่วนท้องถิ่นกำหนด เป็นต้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น