xs
xsm
sm
md
lg

ขยะ “กล่องยูเอชที” พุ่ง สุดยี้! แหล่งเพาะหนอนยั้วเยี้ย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ท้องถิ่นเผยปริมาณขยะ “กล่องยูเอชที” เพิ่มขึ้น เหตุราคาถูก เบา ขนส่งง่าย แต่กำจัดยาก ระบุ 400 ปี ยังไม่สลาย เหตุเป็นพลาสติกถึง 4 ชั้น อะลูมิเนียมฟอยล์และกระดาษอย่างละชั้น ทิ้งไว้นานเศษน้ำในกล่องกลายเป็นแหล่งเพาะหนอนยั้วเยี้ย แนะบีบอัดก้อนไล่น้ำส่งขายบริษัทกำจัดเฉพาะ หนุนกรมอนามัยร่างกฎกระทรวงเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดขยะ ระบุบางท้องถิ่นทำอยู่แล้ว

นางนุชนาถ สุขาวดี ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลเมืองแกลง อ.แกลง จ.ระยอง กล่าวในเวทีชี้นำ “ชุมชนปลอดขยะ ท้องถิ่นต้องทำได้” ในเวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทยครั้งที่ 5 ประจำปี 2558 จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า จากการคัดแยกขยะภายในชุมชนนั้นจะพบว่า “กล่องยูเอชที” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์บรรจุเครื่องดื่มชนิดต่างๆ ทั้งนม น้ำผลไม้ ฯลฯ ถือว่าเป็นขยะที่พบเป็นปริมาณมากในปัจจุบัน เนื่องจากกล่องยูเอชทีนั้นมีน้ำหนักเบา ต้นทุนถูก และง่ายต่อการขนส่ง เมื่อตกพื้นแล้วไม่แตก แต่กล่องยูเอชทีเป็นขยะที่กำจัดยากมาก หากนำมาฝังกลบในบ่อฝังกลบขยะต่อให้ผ่านไป 400 ปี ก็ยังย่อยสลายไม่หมด เนื่องจากกล่องยูเอชทีมีเยื่อถึง 6 ชั้น โดยแบ่งเป็น พลาสติกโพลีเอทธิลีน 4 ชั้น อะลูมิเนียมฟอยล์ 1 ชั้น และกระดาษหน้ากล่องอีก 1 ชั้น นับเป็นขยะประเภทหนึ่งที่เป็นปัญหาและยากต่อการกำจัด

นางนุชนาถ กล่าวว่า เมื่อ 4 ปีก่อนที่ชุมชนเริ่มคัดแยกขยะอินทรีย์ออกจากขยะอื่น เพื่อลดปริมาณขยะ ลดการบูดเน่าของบ่อขยะและกลิ่นเหม็น รวมไปถึงการเกิดก๊าซมีเทนที่ก่อภาวะโลกร้อนนั้น ทางเทศบาลยังเดินหน้าไม่ถูกว่าจะแก้ไขปัญหาขยะกล่องยูเอชทีอย่างไร ซึ่งหากจัดการไม่ถูกวิธีกล่องยูเอชทีจะกลายเป็นแหล่งของไข่แมลงวัน และเกิดหนอนไต่ออกมาจากกล่องยั้วเยี้ยในที่สุด เนื่องจากบางครั้งคนไม่ได้ดูดเครื่องดื่มภายในกล่องให้หมด เมื่อทิ้งไว้นานก็จะเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว จนภายหลังทราบมาว่ามีบริษัทที่รับกำจัดกล่องยูเอชทีโดยเฉพาะ จึงจัดระบบในการกำจัดกล่องยูเอชที

เทศบาลตำบลเมืองแกลงได้ดำเนินการนำกล่องยูเอชที ซึ่งได้มาจากการคัดแยกขยะ และรับมาจากตามโรงเรียน มาเข้าเครื่องบีบอัดให้บี้แบนรวมกันเป็นก้อน เพื่อไล่น้ำที่อยู่ภายในกล่องออกให้หมด จะช่วยลดการเกิดหนอนออกมาจากกล่อง และเป็นการประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บ โดยจะรวมให้ได้ประมาณ 100 - 200 ก้อนใหญ่ๆ ก่อน จึงค่อยบรรทุกรถนำไปส่งขายที่บริษัทรับกำจัด ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะมีกระบวนการในการแยกกระดาษ พลาสติก หรืออะลูมิเนียมฟรอยด์ ซึ่งบางส่วนก็สามารถนำไปรียูสหรือใช้ต่อใหม่ได้” นางนุชนาถ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีกรมอนามัยเตรียมเดินหน้าแผนจัดการขยะระดับชาติ โดยจะร่างกฎกระทรวงเพื่อเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดขยะไม่เกิน 150 บาทต่อครัวเรือน ปรับ 10,000 บาท หากเทศบาลใดกำจัดขยะไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 นางนุชนาถ กล่าวว่า ตนยังไม่เห็นรายละเอียดที่ชัดเจนของร่างดังกล่าว แต่ทางเทศบาลก็ดำเนินการจัดการขยะตามระบบอยู่แล้ว อย่างเทศบาลตำบลเมืองแกลงก็ทำได้ดีจนเป็นศูนย์เรียนรู้ ส่วนการเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดขยะนั้น ก็เห็นด้วยเนื่องจากที่ผ่านมาจะมีแต่การเก็บค่าขนส่งเพียงอย่างเดียวเท่านั้น อย่างของเทศบาลแกลงเก็บ 20 บาท แต่ภายหลังเราออกเทศบัญญัติเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดขยะครัวเรือนละ 10 บาท ซึ่งเราดำเนินการอยู่แล้ว เพราะจะต้องส่งเงินคืนกองทุนสิ่งแวดล้อม การออกกฎกระทรวงเพื่อเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวจึงไม่น่ามีผลกระทบอะไร แต่น่าจะช่วยให้การดำเนินการจัดการขยะได้ดีขึ้น ซึ่งบางท้องถิ่นก็มีการดำเนินการอยู่แล้ว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น