xs
xsm
sm
md
lg

EEP เดินหน้าลุยโรงไฟฟ้าขยะที่สมุทรปราการ หลังได้พันธมิตรใหม่เสียบแทนราชบุรีฯ 40%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายพงษ์ดิษฐ พจนา (ซ้าย) นายคณพศ นิจสิริภัช (เสื้อครีม)
“อีสเทิร์น เอเนอร์จี้พลัส” ล้มแผนดึงราชบุรีฯ ถือหุ้น 40% ในโรงไฟฟ้าขยะ RDF 9.9 เมกะวัตต์ ที่แพรกษาใหม่ จ.สมุทรปราการ อ้างไม่บรรลุข้อตกลงเรื่องการบริหารงาน จึงตัดสินใจดึงบริษัทใหม่เข้ามาเสียบแทน มั่นใจจ่ายไฟเข้าระบบได้ภายในสิ้นปี 59 เผยจ่อลุยโรงไฟฟ้าขยะ เฟส 2 อีก 105 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท รอลุ้นเรกูเลเตอร์เปิดรับซื้อไฟฟ้า SPP

นายคณพศ นิจสิริภัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส จำกัด (EEP) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยกเลิกการร่วมทุนกับ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ในโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะสดชุมชนให้เป็นเชื้อเพลิงแห้ง (RDF) กำลังผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ที่แพรกษาใหม่ จ.สมุทรปราการ เนื่องจากไม่สามารถบรรลุเงื่อนไขบางประการ เช่น อำนาจในการบริหารงาน ทำให้บริษัทตัดสินใจดึงบริษัทใหม่ที่ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานเข้ามาถือหุ้นแทนในบริษัท ราชบุรี-อีอีพี รีนิวเอเบิ้ล เอนเนอจี้ จำกัด (R-EEP) ที่สัดส่วนหุ้น 40% เพื่อให้โครงการโรงไฟฟ้าขยะเดินหน้าต่อไปได้

ทั้งนี้ ส่งผลให้ EEP ในฐานะบริษัทแม่จะถือหุ้นในราชบุรี-อีอีพี รีนิวเอเบิ้ลฯ 51% บริษัท นอร์ทเทิร์น รีนิวเอเบิ้ล เอนเนอร์ยี่ (NRE) ถือหุ้น 9% และพันธมิตรใหม่ 40% โดยเงินลงทุนเฉพาะโรงไฟฟ้า RDF ประมาณ 1.2 พันล้านบาท ซึ่ง EEP ได้สัมปทานขยะจังหวัดสมุทรปราการ และมีบ่อฝังกลบขยะอยู่ที่นั่น ดังนั้น บริษัทแม่จะเป็นผู้ลงทุนโรงงานคัดแยกขยะเพื่อนำมาเป็นขยะ RDF มาป้อนโรงไฟฟ้าดังกล่าว รวมทั้งนำขยะประเภทพลาสติกมาผลิตเป็นน้ำมันสังเคราะห์ใช้แทนน้ำมันเตา (Pyrolysis) และนำขยะอินทรีย์มาผลิตเป็นปุ๋ย ส่วนขยะที่รีไซเคิลได้ อาทิ ขวดแก้ว ก็จะคัดแยกขายออกไป

โครงการโรงไฟฟ้าขยะนี้ คาดว่าจะได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ (รง.4) ในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ โดยล่าสุดวานนี้ (7 ต.ค.) ราชบุรี-อีอีพี รีนิวเอเบิ้ลฯ ได้ลงนามว่าจ้างบริษัท แอดวานซ์ เพาเวอร์ คอนเวอร์ชั่น จำกัด เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าแบบเชื้อเพลิงขยะ มูลค่า 1 พันล้านบาท คาดว่าจะจ่ายไฟเข้าระบบได้ในเดือนธันวาคม 2559 โดยจะขายไฟให้การไฟฟ้านครหลวง 8 เมกะวัตต์ ที่เหลือจะใช้ไฟภายในโรงไฟฟ้าเอง

“แม้ว่าโรงไฟฟ้าขยะ เฟสแรก 9.9 เมกะวัตต์ ทาง บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งจะไม่ได้เข้ามาร่วมทุน แต่ทาง EEP ไม่ได้ลุยโครงการนี้เพียงลำพัง ได้ดึงนายพงษ์ดิษฐ พจนา อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการในบริษัท ราชบุรี-อีอีพี รีนิวเอเบิ้ลฯ ด้วย ขณะเดียวกันก็ขายหุ้นในราคาพรีเมียมให้แก่พาร์ตเนอร์ใหม่ทำให้บริษัทแม่ได้กำไรเข้ามา”

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่งจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ โดยจะสร้างโรงไฟฟ้าขยะ RDF เฟส 2 กำลังผลิต 105 เมกะวัตต์ในพื้นที่ใกล้เคียงเฟสแรก จ.สมุทรปราการ เงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากบ่อขยะฝังกลบมีขยะมากถึง 10 ล้านตันในพื้นที่ 159 ไร่ และทุกวันจะมีขยะเกิดขึ้นใหม่ที่สมุทรปราการ 2.5 พันตัน/วัน ขณะที่โรงไฟฟ้าขยะเฟสแรก 9.9 เมกะวัตต์นั้น สามารถกำจัดขยะมูลฝอยได้วันละ 600-800 ตัน/วัน หรือคิดเป็นขยะ RDF 300 ตัน/วัน โดยโรงไฟฟ้าขยะ RDF เฟส 2 จะใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง 3,000 ตัน/วัน โดยขณะนี้ได้มีการเจรจาที่จะนำขยะบางส่วนจากกรุงเทพฯมาเป็นเชื้อเพลิงด้วย ขณะนี้โรงไฟฟ้าขยะเฟส 2 ต้องรอให้มีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนรายย่อย (SPP) ก่อน

นายคณพศกล่าวต่อไปว่า ยังมีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าขยะขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 40 เมกะวัตต์ที่บริเวณบ่อฝังกลบขยะบางปลา จ.สมุทรปราการด้วย โดยบ่อฝังกลบขยะดังกล่าวมีปริมาณขยะเดิมมากเพียงพอสร้างโรงไฟฟ้าได้ รวมทั้งบริษัทฯ ได้รับการติดต่อให้เข้าไปช่วยกำจัดขยะที่เกาะสมุย โดยจะนำขยะจากสมุยมารวมไว้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ RDF ที่นั่นด้วย

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าขยะ เฟสแรก 9.9 เมกะวัตต์ มีอัตราค่าไฟแบบ Feed in Tariff ที่ 5.08 บาท/หน่วย เป็นเวลา 20 ปี บวกอีก 0.70 บาท เป็นเวลา 8 ปีแรก โดยมีผลตอบแทนการลงทุน (IRR) 18-19% คืนทุนในเวลา 7 ปี คาดว่าบริษัทฯ จะรับรู้รายได้เข้ามาปีละ 400 ล้านบาท

เนื่องจากบริษัทฯ มีแผนที่จะลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มเติมในอนาคต ดังนั้น การจัดหาแหล่งเงินทุนจึงมีความจำเป็น ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการการจัดโครงสร้างธุรกิจ ก่อนนำบริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2559 ส่วนบริษัทลูกก็มีแผนจะนำเข้าตลาดหุ้นเช่นกัน แต่ต้องรอให้มีผลการดำเนินงานก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น