นครพนม - ชาวนาในพื้นที่ตำบลโพธิ์ตาก อำเภอเมืองนครพนม เดือดร้อนหนัก หลังบ่อกำจัดขยะจำนวนมหาศาลเกิดน้ำทะลักไหลเข้าพื้นที่นาของชาวบ้านรอบบ่อขยะ กระทบข้าวยืนต้นตาย ทั้งเกิดผลกระทบด้านสุขอนามัยต่อชาวบ้าน ด้านนายกเทศมนตรีนครพนม เล็งแก้ปัญหานำขยะไปผลิตไฟฟ้า
วันนี้ (22 ส.ค.) ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านใน ต.โพธิ์ตาก อ.เมือง จ.นครพนม ว่า มีน้ำเน่าเสียจากกองขยะจำนวนมหาศาลที่หมักหมมหลังฝนตก น้ำขยะได้ไหลทะลักล้นคันดินเข้าพื้นที่นาของชาวบ้านรอบบ่อขยะ ส่งผลให้ต้นข้าวเฉาล้มตายได้รับความเสียหายจำนวนมาก
จึงไปตรวจสอบสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลเมืองนครพนม บ้านสุขเกษม หมู่ 8 ต.โพธิ์ตาก พบกองขยะสูง 4-5 เมตร เรียงรายเต็มพื้นที่ บางจุดกองล้นจนเสาไฟฟ้าหักเอียงใกล้ล้ม ขณะที่บางจุดมีน้ำเน่าเสียจากฝนตกท่วมขังเจิ่งนอง ริมรั้วทิศตะวันออกพบรั้ว และคันดินสูง 1 เมตร ความยาวร่วม 200 เมตร มีน้ำเน่าเสียท่วมเอ่อล้นคันดินไหลเข้าที่นาชาวบ้านเสียหายร่วม 50 ไร่แล้ว
นายเฉลียว เสนนอก อายุ 45 ปี ชาวบ้านบ้านสุขเกษม กล่าวว่า เดิมตนปลูกบ้านอาศัยใกล้ริมรั้วบ่อขยะเทศบาลเมืองนครพนม ที่ก่อสร้างมานาน 20 ปี หลังทนกลิ่นเน่าเหม็น และยุงชุกชุมมานาน 18 ปี จึงย้ายไปปลูกบ้านในตัวหมู่บ้านได้ 2 ปีแล้ว หลังพบว่า มีขยะล้นจากบ่อจำนวนมหาศาล โดยตนมีที่นาใกล้กับบ่อขยะดังกล่าว 30 ไร่ ทุกครั้งที่ฝนตกหนักน้ำฝนจะชะล้างน้ำเน่าเสียไหลมาสู่นาของตน และแม่ยาย โดยล่าสุด เสียหาย 6-7 ไร่ ส่วนพื้นที่นาเพื่อนบ้านอยู่รอบข้างก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
ขณะเดียวกัน คุณยายวัย 60 ปี หนึ่งในผู้เดือดร้อน ระบุว่า แม้เทศบาลเมืองนครพนมคันดินกั้นสูง 1 เมตร ป้องกันน้ำเสียไหลลงสู่นา แต่เมื่อฝนตกหนักจะล้นคันดิน ทำให้ต้นข้าวที่หว่าน และปักดำ มีลักษณะใบลายแดงเหี่ยวเฉายืนต้นตาย ถ้าข้าวออกรวงก็ไม่เกิดเป็นเมล็ดข้าว ปีไหนที่ปักดำนามือจะเปื่อยยุ่ย คาดเกิดจากสารพิษที่ไหลมาจากบ่อขยะ ที่ผ่านมา ตนไม่เคยได้ค่าชดเชยแต่อย่างใด เหตุที่ผู้เดือดร้อนหลายรายไม่กล้าร้องเรียน เพราะต้องอาศัยเก็บขยะได้วันละ 100 บาทประทังชีวิตร่วมกับกลุ่มเพื่อน 50 คน
ด้าน นายนิวัต เจียวิริยบุญญา นายกเทศมนตรีเมืองนครพนม กล่าวว่า บ่อขยะแห่งนี้สร้างมาตั้งแต่ปี 2535 อยู่ห่างจากตัวเมือง 17 กิโลเมตร เนื้อที่ 70 ไร่ เป็นบ่อขยะแบบฝังกลบ 4 ชั้น หลังร่วมมือกับ อบต.โพธิ์ตาก เจ้าของพื้นที่สร้าง พบปริมาณขยะรวมกันมากถึงวันละ 55-60 ตันถูกมาทิ้งจาก 13 ตำบลในอำเภอเมือง ส่งผลให้ขยะล้นบ่อมานาน 2-3 ปีแล้ว จนกองใหญ่มีจำนวนมากถึง 2 แสนตัน เรื่องน้ำเสียไหลเข้านาชาวบ้านไม่ได้นิ่งนอนใจ จัดงบ 7 แสนบาทสร้างแนวคันดินมาหลายปีแล้ว หลังพบว่าข้าวที่ปักดำไม่มีเมล็ด ซึ่งจะดูแลผู้ได้รับผลกระทบเป็นรายๆ ไป
การแก้ไขปัญหาขยะล้นบ่อ ล่าสุด ได้รับงบประมาณ 15 ล้านบาท จัดซื้อเครื่องคัดแยกขยะนำมารีไซเคิล ซึ่งร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ขณะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ระหว่างศึกษาเพื่อนำขยะจำนวนมากมาผลิตขยะชีวะมวลความร้อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า หากได้งบประมาณที่ตั้งไว้กว่า 300 ล้านบาท มาดำเนินการจะสามารถลดปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านได้