กาฬสินธุ์ - สาธารณสุขจังหวัดพร้อมภาคีเครือข่ายนำกลุ่มเสี่ยงจากการคัดแยกขยะรีไซเคิลกว่า 400 คนเข้าโครงการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพของประชาชน
วันนี้ (25 ส.ค.) ที่หอประชุมธรรมาภิบาล เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ นายสุรพจน์ รัชชุศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาความร่วมมือเครือข่ายการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค และภัยสุขภาพจากการคัดแยกและรีไซเคิลขยะ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพของประชาชนประจำปี 2558 โดยนายแพทย์ พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ นายวิชัย ตะวัน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ และภาคีเครือข่ายได้คัดกรองบุคคลกลุ่มเสี่ยงจาก 18 อำเภอ จำนวน 400 คน เข้าร่วมโครงการ
นายแพทย์ พีระกล่าวว่า กาฬสินธุ์เป็นพื้นที่เป้าหมาย 1 ใน 8 จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง หรือพื้นที่ HOT ZONE ในส่วนที่ประชาชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการคัดแยกขยะรีไซเคิล โดยภาพรวมของพื้นที่ HOT ZONE มีกลุ่มเสี่ยงประมาณ 20,000 คน หรือประมาณ 500-3,000 คนต่อจังหวัด นอกจากนี้ จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษยังพบว่าประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นจากปีก่อนๆ ถึงปีละ 2 ล้านตัน ซึ่งส่งผลกระทบให้กลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มคนที่อยู่ใกล้ชิดกับกองขยะต้องทำงานหนักขึ้นและสัมผัสกับขยะมากขึ้น
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาความร่วมมือเครือข่ายเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพจากการคัดแยกขยะและรีไซเคิลขยะ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพของประชาชน จ.กาฬสินธุ์ ประจำปี 2558 เป็นการจัดกิจกรรมรณรงค์เปิดตัวครั้งแรกของโครงการ
โดยมีคำขวัญของโครงการ คือ “เก็บขยะ เก็บชีวิต อย่าคิดเสี่ยง โรคจากการทำงานป้องกันได้” สร้างเครือข่ายให้แก่ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันและสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างทั่วถึง
“ทั้งนี้ ในส่วนของนโยบายรัฐบาลภายใต้ยุทธศาสตร์ลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาหนี้สิน และความยากจนของประชาชน ทางภาคีเครือข่าย จ.กาฬสินธุ์ได้จัดทำเป็นโครงการดูแลสุขภาพประชาชนเป็นกลุ่มเฉพาะเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ”
ซึ่งจะเน้นการดูแลสุขภาพกลุ่มพนักงานเก็บ คุ้ยเขี่ย และคัดแยกขยะเพื่อขาย หรือรีไซเคิล เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ไม่มีสวัสดิการคุ้มครองและดูแล โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ ซ้ำยังขาดการเข้าถึงในการบริการอาชีวอนามัย ทั้งก่อนและหลังการเจ็บป่วย ที่ต่อจากนี้กลุ่มเสี่ยงทั้งหมดที่อยู่ในโครงการจะได้รับการดูแลและขยายผลถึงครอบครัวและชุมชนต่อไปในอนาคต
สำหรับพื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง หรือ Hot Zone ได้แก่ จ.สมุทรปราการ จ.นครศรีธรรมราช จ.กาญจนบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ขอนแก่น จ.บุรีรัมย์ จ.กาฬสินธุ์ และ จ.อุบลราชธานี