xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมคัดเลือก อบต.กำจัดขยะแบบยั่งยืน เป็นต้นแบบนำร่อง 8 จว.เหนือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภาคเหนือ - รองปลัดกระทรวงมหาดไทยขึ้นเหนือ กระตุ้น อบต.8 จังหวัดสร้างวินัยคนในพื้นที่บริหารจัดการขยะให้ถูกวิธี ระบุเชียงใหม่ติด 1 ใน 10 ขยะมากที่สุดของประเทศ เผยเตรียมคัดเลือก อบต.จัดการขยะได้อย่างยั่งยืนเป็นต้นแบบนำร่อง

วันนี้ (23 ก.ค.) ที่โรงแรมเชียงใหม่ออคิด จังหวัดเชียงใหม่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดงานสัมมนาเรื่อง เสริมศักยภาพ 1 จังหวัด 1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบ สร้างวินัยคนในชาติ มุ่งสู่การจัดการขยะที่ยั่งยืนครั้งที่ 1 ภายในงานมีตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 8 จังหวัดภาคเหนือเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

นายไมตรี อินทุสุต รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การจัดการปัญหาขยะเป็นงานที่หน่วยงานใดๆ ก็ไม่อยากจะทำ แต่ในเมื่อปัญหามันเกิดขึ้นมาแล้วจึงเป็นหน้าที่ของทุกคนในชาติที่จะต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาไม่ใช่รอแต่เพียงให้ภาครัฐแก้ไขแต่ฝ่ายเดียว

สถานการณ์ปัญหาขยะปัจจุบันพบว่า ใน 1 ปีประเทศไทยมีปัญหาขยะที่ตกค้างมากถึง 27 ล้านตัน และขยะนำไปกำจัดแบบถูกวิธีมีเพียง 49% แต่ที่เป็นปัญหาในขณะนี้คือ ขยะที่เหลืออีก 51% ถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีผิดๆ ซึ่งทำให้วันนี้เราต้องมาหาทางออกร่วมกันเพื่อเพิ่มตัวเลขของขยะที่ถูกกำจัดแบบถูกวิธีให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึง 70% ให้ได้

“สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ติดอยู่ 1 ใน 10 จังหวัดที่มีปริมาณขยะมากที่สุดในประเทศ โดยจังหวัดเชียงใหม่มีปริมาณขยะต่อวันมากถึง 17 ตัน ปัญหาของขยะมีมากเพราะถือว่าจังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวจึงทำให้มีขยะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย และอีกส่วนหนึ่งมาจากระบบการจัดการขยะที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร”

นายไมตรีกล่าวว่า การบริหารจัดการขยะที่จะต้องเร่งแก้ไขตอนนี้คือ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารขยะ ซึ่งขณะนี้ในประเทศไทยมี พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการขยะอยู่ 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบของบ้านเมือง ที่มีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดูแล, พ.ร.บ.จัดการขยะแห่งชาติ ของกระทรวงสาธารณสุข และ พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม ของกรมควบคุมมลพิษ แต่ในข้อกฎหมายที่ได้กำหนดไว้ให้ทางสำนักงานนโยบายและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ดูแลร่วมด้วย จึงทำให้ท้องถิ่นเกิดความสับสนในการเสนอของบประมาณที่จะนำมาบริหารการจัดเก็บขยะในพื้นที่รับผิดชอบ

“ผู้นำในท้องถิ่นจะต้องทำให้คนในชุมชนของตนเองนั้นทำตามกฎข้อบังคับ 4 ก. คือ 1. กระตุ้นชุมชนให้ตระหนักถึงความสะอาดทั้งในบ้านเรือนของตนเองและชุมชนที่ตนเองอยู่ 2. กระแส ต้องสร้างกระแสเพื่อให้ชุมชนรู้ถึงปัญหาของขยะที่จะทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน รวมไปถึงการรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติก 3. กดดันคนที่ไม่ใส่ใจและไม่ให้ความร่วมมือกับชุมชนในด้านการพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืน และ 4. กิจกรรม ชุมชนต้องจัดกิจกรรมเพื่อให้คนในแต่ละชุมชนได้หันกลับมาคัดแยกขยะและนำเอาขยะที่สามารถรีไซเคิลได้กลับมาทำเป็นสินค้าเพื่อจำหน่ายและสร้างรายได้กลับมายังชุมชนของตนเอง”

ด้าน นายนพดล ณ เชียงใหม่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว กล่าวว่า อบต.ดอนแก้วเริ่มดำเนินการโครงการกำจัดขยะในชุมชนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ซึ่งถือเป็น อบต.แรกในเชียงใหม่ที่เริ่มต้นจัดทำโครงการนี้ โดยเริ่มแรกมีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 90 คน ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประชากรใน อบต.ดอนแก้วทั้งหมด

ปัจจุบันนี้ทาง อบต.ดอนแก้วไม่มีนโยบายที่จัดหารถเก็บขยะ เพราะเมื่อลองคำนวณดูแล้วการเก็บค่ากำจัดขยะให้คนในชุมชนจะได้เงินอยู่ที่ 1 ล้านบาท แต่ทาง อบต.ดอนแก้วจะต้องจ่ายเงินให้บริษัทเอกชนเพื่อนำขยะไปกำจัดเป็นเงินถึง 4 ล้านบาท ตนจึงคิดว่าทาง อบต.ควรจะส่งเสริมให้คนในชุมชนได้รู้จักการคัดแยกขยะ และการนำเศษวัสดุต่างๆ กลับมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์มากขึ้น

“ขณะนี้สิ่งที่ อบต.ดอนแก้วกำลังดำเนินงานเร่งด่วน คือ การกำจัดเศษขยะและน้ำเสีย ที่จะไหลลงสู่คลองแม่ข่า ที่ขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว 40% ที่เหลือจะต้องเร่งดำเนินการกับต้นทางที่ปล่อยน้ำเสีย เพื่อให้น้ำเสียที่ไหลไปยังคลองแม่ข่าให้น้อยที่สุด”




นายไมตรี อินทุสุต รองปลัดกระทรวงมหาดไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น