xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ ภูเก็ตลงนาม MOU กับโรงแรม-ร้านอาหารบนเกาะราชา แก้ปัญหาน้ำเสีย-ขยะแบบยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผู้ว่าฯ ภูเก็ต นำหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเกาะราชาใหญ่ เพื่อการท่องเที่ยวที่สมดุล และยั่งยืน กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงแรม ร้านอาหารบนเกาะราชา เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาน้ำเสีย และขยะ

เมื่อเวลา 10.30 น.วันนี้ (4 ก.ค.) นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเกาะราชาใหญ่ เพื่อการท่องเที่ยวที่สมดุล และยั่งยืน กับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร และตัวแทนชุมชนบนเกาะราชาใหญ่ โดยมี นายสุธี ทองแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายเกษม สุขวารี ผอ.สำนักงานทรัพย์กรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวันสุรชาติ เดชอรัญ ปลัดอำเภอเมือง น.ส.พรศรี สุทธนารักษ์ ผอ.สำนักงานสิ่งแวดล้อม ภาคที่ 15 ภูเก็ต นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต ตัวแทนจากสำงานที่ดิน ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เทศบาลตำบลราไวย์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.ราไวย์ ตัวแทนโรงแรมรายาบุรี โรงแรมรายาฟาเธอร์ โรงแรมรายากาเด้น โรงแรมบ้านรายา โรงแรมเดอะราชา โรงแรมรายา รีสอร์ท ร้านอาหารโคโคนัท เรสเตอร์รอง ร้านอาหารผัดไท ร้านอาหารรายาแฟมมิลี่ และร้านอาหารราชาซีฟูด ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว ณ โรงแรม เดอะ ราชา ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต

ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของเกาะราชาใหญ่แบบบูรณาการ และรวมกันฟื้นฟู ดูแล รักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ทั้งบนฝั่ง และบริเวณชายฝั่งของเกาะราชาใหญ่ให้อุดมสมบูรณ์ สวยงาม และยั่งยืน รวมทั้งเพื่อให้การบริการจัดการขยะมูลฝอย และน้ำเสียบนเกาะราชาใหญ่ เห็นเป็นรูปธรรม มีการจัดการที่ถูกหลักวิชาการและมีเจ้าภาพรับผิดชอบที่ชัดเจน

โดยข้อตกลงดังกล่าวทุกคนจะต้องร่วมกันบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ในเรื่องของขยะมูลฝ่าย ดังนี้ คือ ห้ามเรือท่องเที่ยวทุกประเภททิ้งขยะมูลฝอยลงทะเล ห้ามสถานประกอบการทุกประเภทบนเกาะราชาใหญ่ ทิ้งขยะมูลฝอย และของเสียของสู่ลำคลอง หรือทะเลโดยเด็ดขาด ให้สถานประกอบการทุกประเภทบนเกาะราชาใหญ่ ลด และคัดแยกขยะมูลฝอย โดยเฉพาะขยะอินทรีย์ ให้นำไปทำปุ๋ยหมัก หรือแปรสภาพเป็นอย่างอื่น จัดวางขยะให้เหมาะสมก่อนที่เทศบาลตำบลราไวย์ จะมาดำเนินการจำกัดอย่างถูกสุขลักษณะต่อไป และให้เทศบาลตำบลราไวย์ และฉลอง จัดสถานที่สำหรับรองรับขยะจากเรือท่องเที่ยว โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามที่กฎหมายกำหนด

ส่วนการจัดการน้ำเสียนั้น การปล่อยน้ำเสียของสถานประกอบการทุกประเภทให้ปฏิบัติตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ และหากมีการปล่อยน้ำเสียจะต้องดำเนินการแก้ไขโดยทันที และให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการตาม Roadmap แนวทางการจัดการน้ำเสีย ดังต่อไปนี้ คือ

ในระยะเริ่มต้น ดำเนินการสูบจากคลองที่น้ำเน่าเสียทิ้ง โดยการขุดบ่อให้น้ำเสียผ่านชั้นทราย และขุดลอกคลอง วัชพืช และสิ่งกีดขวางลำคลองโดยยึดแนวคลองธรรมชาติ ดำเนินการโดยเทศบาลตำบลราไวย์ เจ้าท่าภูเก็ต อำเภอเมืองภูเก็ต เป็นต้น สำรวจข้อมูลจำนวนท่อน้ำทิ้งจากสถานประกอบการลงคลอง กำหนดให้ร้านอาหารทุกแห่งติดตั้งบ่อดักไขมัน ตลอดจนนำน้ำเสียไปกักเก็บในบ่อพักที่ขุดขึ้น เพื่อให้ซึมผ่านชั้นดินทรายภายในสถานประกอบการ โดยไม่มีการปล่อยน้ำเสียลงคลองโดยเด็ดขาด โดยได้มอบให้นายช่างผู้ควบคุมงานของเทศบาลตำบลราไวย์ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 15

ให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 15 ร่วมกันให้คำแนะนำความรู้ด้านการจัดการน้ำเสียขั้นพื้นฐานแก่ผู้ประกอบการ และให้สถานประกอบการ และร้านอาหารทุกแห่งติดตั้งถังดักไขมันไม่ให้น้ำไหลลงคลองโดยตรง ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน และให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร วมทั้งสถานประกอบการ และประชาชนบนเกาะราชาใหญ่ ช่วยกันดูแลไม่ให้เกิดปัญหาน้ำเสียขึ้นอีก

นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การแก้ปัญหาน้ำเสียบนเกาะราชาใหญ่นั้น เป็นไปตามมติ ครม.ที่ให้เร่งแก้ปัญหาน้ำเสียในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยทางจังหวัดได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาแก้ปัญหาเรื่องนี้ จนได้มีการกำหนดแนวทาง และมาตรการขึ้นมาแก้ปัญหาในระยะแรก ไปจนถึงระยะยาว เพื่อให้เกาะราชาใหญ่ เป็นเกาะที่สวยงามอย่างยั่งยืนตลอดไป ซึ่งทางจังหวัดยืนยันว่า การเข้ามาแก้ปัญหานั้นไม่ได้เข้ามาดำเนินการเพื่อเอาผิดต่อผู้ประกอบการ เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่สามารถแก้ได้ด้วยกฎหมาย แต่จะแก้ได้ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งราชการ ผู้ประกอบการ และประชาชน

ด้าน นายสนิท จันทร์ดี ผู้นำชุมชนเกาะราชาใหญ่ กล่าวว่า ชาวบ้านบนเกาะราชาใหญ่พร้อมที่จะให้ความร่วมมือต่อทางจังหวัดภูเก็ต และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน แต่อยากจะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเอาจริงเอาจังต่อปัญหา โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการรายใหญ่ จะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งตนไม่ห่วงในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อยที่ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดอยู่แล้ว

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น