xs
xsm
sm
md
lg

“ประจิน” ลุยเมืองช้าง ติดตามการกระตุ้น ศก.-รับมือภัยแล้ง ดันเปิดสนามบินพาณิชย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมาติดตามการปฏิบัติราชการและมอบนโยบายในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ วันนี้ ( 17 ก.พ.)
สุรินทร์ - “พล.อ.อ.ประจิน” รองนายกฯ ลุยเมืองช้าง ตรวจติดตามการกระตุ้นเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหาภัยแล้งและขยะมูลฝอย เผย จ.สุรินทร์เสนอผลักดันเปิดใช้ “สนามบินสุรินทร์ภักดี” เชิงพาณิชย์อีกครั้งเพื่อรองรับการเจริญเติบโต พร้อมร้องเพิ่มแหล่งน้ำและระบบชลประทานเพื่อการเกษตร

วันนี้ (17 ก.พ.) พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมาติดตามการปฏิบัติราชการและมอบนโยบายในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง การจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งแวดล้อม นโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ การดำเนินงานของศูนย์การเรียนรู้ไอที ชุมชน และผลการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรม

โดยมี นายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดสุรินทร์ร่วมต้อนรับและบรรยายสรุป ที่ห้องประชุมศรีณรงค์ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์

ทั้งนี้ จังหวัดสุรินทร์ได้รับการจัดสรรงบประมาณตามแผนปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 26 โครงการ เป็นเงิน 263,635,400 บาท ขณะนี้เบิกจ่ายแล้วเป็นเงิน 30,770,939.62 บาท คิดเป็นร้อยละ 11.67 ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจน จังหวัดสุรินทร์ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 81 โครงการ เป็นเงิน 35,491,379 บาท ขณะนี้เบิกจ่ายแล้ว 69 โครงการ เป็นเงิน 21,324,494 บาท คิดเป็นร้อยละ 60.08 ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2559

นอกจากนั้น ยังมีกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 2,145 กองทุน แบ่งเป็นกองทุนหมู่บ้าน 2,120 กองทุน กองทุนชุมชนเมือง 25 กองทุน จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว จำนวน 2,132 กองทุน มีเงินทุนหมุนเวียนทั้งสิ้น 7,732,867,305 บาท

อย่างไรก็ตาม จ.สุรินทร์ได้เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามโครงการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล จำนวน 2,738 โครงการ เป็นเงิน 793,173,712 บาท ซึ่ง ขณะนี้ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้วจำนวน 1,762 โครงการ สามารถเบิกจ่ายแล้วจำนวน 20.82 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.62 โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2559

สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง จ.สุรินทร์ได้รับการอนุมัติโครงการ ระยะที่ 1 กิจกรรมพืชใช้น้ำน้อยแล้ว จำนวน 12 โครงการ เป็นเงิน 11,626,805 บาท เบิกจ่ายแล้ว 4,291,505 คิดเป็นร้อยละ 36.91

ระยะที่ 2 ได้รับการอนุมัติงบประมาณ จำนวน 37 โครงการ เป็นเงิน 40,458,781 บาท แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ โครงการพืชใช้น้ำน้อยจำนวน 1 โครงการ งบประมาณ 464,480 บาท โครงการพืชอื่นๆ และปศุสัตว์ จำนวน 20 โครงการ งบประมาณ 28,272,336 บาท โครงการนอกภาคเกษตร จำนวน 16 โครงการ งบประมาณ 11,721,965 บาท ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ

ด้านการจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งแวดล้อม ผลการจัดการขยะมูลฝอยตกค้างสะสมในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย (ขยะมูลฝอยเก่า) จังหวัดสุรินทร์มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 16 แห่งที่มีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย และมีขยะสะสมจำนวน 72,462 ตัน ปัจจุบันมีการกำจัดไปแล้วจำนวน 61,290.75 ตัน คิดเป็นร้อยละ 84.58 ผลการกำจัดขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายที่สะสม (ขยะมูลฝอยใหม่) รูปแบบการกำจัดขยะมูลฝอยใหม่ของจังหวัดสุรินทร์อยู่ระหว่างการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สำหรับนโยบาย ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ จ.สุรินทร์มีโรงเรียนซึ่งอยู่ในกลุ่มเป้าหมายที่จะดำเนินการ รวม 836 แห่ง ขณะนี้ได้เข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 226 แห่ง

ส่วนผลการดำเนินงานของศูนย์การเรียนรู้ IT ชุมชน จังหวัดสุรินทร์ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 42 แห่ง ในพื้นที่ 17 อำเภอ โดยตั้งอยู่ใน อบต. จำนวน 18 แห่ง โรงเรียน 16 แห่ง กศน. 6 แห่ง และวัด 2 แห่ง

การดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสุรินทร์ มีเรื่องร้องเรียนที่รับไว้ดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2557-31 มกราคม 2559 รวมทั้งสิ้น 2,853 เรื่อง ประกอบด้วย เรื่องร้องเรียนที่รับเรื่องมาจากศูนย์บริการประชาชน จำนวน 590 เรื่อง เรื่องร้องเรียนที่ประชาชนมาร้องเรียนกับศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสุรินทร์ จำนวน 2,263 เรื่อง ผลการดำเนินงาน สามารถแก้ไขปัญหาจนยุติแล้ว จำนวน 2,506 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 80.25 มีเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 347 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 12.16

ในโอกาสนี้ จังหวัดสุรินทร์ได้เสนอขอรับการสนับสนุนจากรองนายกรัฐมนตรี 2 เรื่อง ได้แก่ ปัญหาด้านการคมนาคม โดยขอให้สนับสนุนผลักดันการเปิดใช้สนามบินสุรินทร์ภักดีในเชิงพาณิชย์อีกครั้ง เพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการเปิดประชาคมอาเซียน

และการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนระบบชลประทาน เนื่องจากจังหวัดสุรินทร์มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 5 ล้านไร่เศษ มีพื้นที่การเกษตรจำนวน 3.6 ล้านไร่ อาชีพหลัก ได้แก่ การทำนา และพืชเศรษฐกิจรอง ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา แต่ปัจจุบันจังหวัดสุรินทร์มีพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ในเขตชลประทานเพียง 166,258 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 4.6 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด การเพาะปลูกจึงอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก

จึงมีความจำเป็นในการเพิ่มแหล่งน้ำและระบบชลประทานกระจายน้ำให้แก่เกษตรกรเพิ่มเติม เพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิตในภาคการเกษตร อันจะส่งผลให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น