โฆษกรัฐบาลเผย การจัดการขยะตกค้างของประเทศคืบหน้า 66% มุ่งกำจัดขยะใหม่ให้ถูกต้องตามหลักวิชา ด้านนายกฯ กำชับ มท. ทส. เร่งเดินหน้าส่วนที่เหลือ พร้อมตั้งโรงกำจัดขยะชาติ ปลุก ศธ.ปลูกฝังเด็กให้มีจิตสำนึกที่ดี
วันนี้(5มี.ค.) พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ และได้จัดทำ Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ 1) การจัดการขยะมูลฝอยตกค้างในพื้นที่วิกฤต (ขยะเก่า) 2) สร้างรูปแบบการจัดการขยะที่เหมาะสม (ขยะใหม่) 3) การวางระเบียบมาตรการการบริหารจัดการขยะ 4) สร้างวินัยคนในชาติมุ่งสู่การจัดการที่ยั่งยืน
“ที่ผ่านมารัฐบาลได้เร่งกำจัดขยะค้างเก่าในพื้นที่วิกฤต 6 จังหวัด ไปแล้ว 9 ล้านตัน จาก 11 ล้านตัน ส่วนพื้นที่อื่นทั่วประเทศได้ขนย้ายไปกำจัดอย่างถูกต้อง หรือแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง/พลังงานไฟฟ้า รวมแล้ว 20 ล้านตัน ทำให้การกำจัดขยะตกค้างของประเทศมีความก้าวหน้าไปแล้วร้อยละ 66 จากปริมาณขยะทั้งหมด 30.5 ล้านตัน”
พลตรี สรรเสริญ กล่าวต่อว่า สำหรับขยะใหม่ มท. ร่วมกับ ทส. สนับสนุนให้ อปท.คัดแยกขยะต้นทาง เก็บขนแยกประเภท และส่งไปกำจัดตามหลักวิชาการ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขยะตกค้าง มีการตั้งจุดรวบรวมของเสียอันตราย จำนวน 83 แห่งทั่วประเทศ และส่งเสริมการบริหารจัดการในรูปแบบศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวม (cluster) ในแต่ละจังหวัด ซึ่งจะช่วยกำจัดขยะใหม่ได้เพิ่มขึ้นอีกปีละประมาณ 2.18 ล้านตัน จากเดิมที่สามารถกำจัดได้ 12.7 ล้านตันในแต่ละปี
นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมลงทุนเดินระบบการแปรรูปขยะเพื่อผลิตพลังงาน โดยเปิดดำเนินการแล้ว 2 แห่ง ที่จ.ภูเก็ต และจ.สงขลา สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 15 เมกกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 4 แห่ง คือ กทม. ขอนแก่น พัทลุง และหนองคาย ซึ่งคาดว่าจะผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 15 เมกกะวัตต์
“ท่านนายกฯ ได้กำชับให้ มท. ทส. เร่งดำเนินการกำจัดขยะตกค้างในพื้นที่วิกฤตที่ยังเหลืออยู่ รวมทั้งการก่อสร้างสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย จ.พระนครศรีอยุธยา และโรงกำจัดขยะในภาพรวมของประเทศ เพื่อรองรับปริมาณขยะมูลฝอยของทุกจังหวัด พร้อมทั้งให้ ศธ. ดำเนินการตามแผนสร้างจิตสำนึกด้านการจัดการขยะแก่นักเรียนในโรงเรียนเป้าหมาย 30,000 แห่ง ให้แล้วเสร็จภายในปี 59”