xs
xsm
sm
md
lg

ใครได้ประโยชน์ !? เมื่อโรงไฟฟ้าขยะไม่ต้องมีผังเมืองมาบังคับ และไม่ต้องรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือที่มักเรียกกันว่า EIA มาจากภาษาอังกฤษคำเต็มว่า Environmental Impact Assessment ปรากฏเป็นคำอธิบายในเว็บไซต์สำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า

"การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือที่มักเรียกกันว่า EIA ย่อมาจากคำว่า Environmental Impact Assessment ซึ่งหมายถึง การใช้หลักวิชาการในการทำนายหรือคาดการณ์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งทางบวกและทางลบของการดำเนินโครงการพัฒนา ที่จะมีผลต่อสิ่งแวดล้อมในทุกๆ ด้าน ทั้งทางทรัพยากรธรรมชาติ ทางเศรษฐกิจ และสังคม เพื่อจะได้หาทางป้องกันผลกระทบในทางลบที่อาจเกิดขึ้นให้เกิดน้อยที่สุด ในขณะเดียวกันก็มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถฟื้นคืนกลับมาได้อย่างมีประโยชน์ มีประสิทธิภาพสูงสุด และคุ้มค่าที่สุด นอกจากนี้ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมยังใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจของนักบริหารว่าสมควรดำเนินการหรือไม่

การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะเป็นประโยชน์อย่างมาก หากได้รับการนำมาในการวางแผนป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ขั้นตอนศึกษาความเหมาะสมของโครงการจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นภายหลังดำเนินโครงการไปแล้ว และเป็นวิสัยทัศน์ของนักบริหารโครงการในยุคโลกาภิวัฒน์ที่มุ่งเน้นการป้องกันมากกว่าการแก้ไข"

ถ้าจะยึดเอาคำอธิบายเว็บไซต์ของสำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถึงความสำคัญของการจัดทำการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หากไร้ซึ่งการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว นอกจากจะแสดงถึงการขาดวิสัยทัศน์ทั้งในมิติด้านสิ่งแวดล้อม แล้วก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยกทุกหย่อมหญ้าเพราะจะไม่มีรายงานการวิเคราะห์อะไรให้อ้างอิงทั้งสิ้น

ตัวอย่างที่จะหยิบยกปัญหาในบทความนี้ก็คือ "โรงไฟฟ้าขยะ"!!!

มิติการมองขยะว่าเป็นอะไรระหว่าง การเป็นของเสียที่ต้องเร่งกำจัดให้เร็วที่สุด หรือเป็นทรัพย์สินที่ต้องบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะทั้ง 2 สิ่งนี้ดูขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง

เศษอาหารและอินทรีย์สาร พลาสติก กระดาษ แก้ว โลหะ ไม้ ยาง หนัง ผ้า ฯลฯ สิ่งเหล่านี้อยู่ในขยะ เมื่อมีการคัดแยกขยะแล้ว ขยะบางส่วนก็สามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยได้ บางส่วนสามารถนำมารีไซเคิลได้ บางส่วนยังสามารถนำไปเผาให้เกิดเป็นพลังงานความร้อน ซึ่งสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้ด้วย

ในขณะเดียวกันขยะที่บริหารจัดการไม่ดีและเหลือตกค้างก็จะทำให้เกิดมลพิษ ทั้งการติดเชื้อ สารพิษ กลิ่น ฝุ่นละออง ซึ่งก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชนได้

และไม่ว่าจะเป็นมิติของการนำขยะมาใช้ประโยชน์ หรือการเร่งกำจัดขยะ ต่างก็ก่อให้เกิดมลพิษได้ทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีทั้ง 1. ผังเมืองและ 2. การวิเคราะห์รายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA)คอยควบคุมเอาไว้ ไม่ให้กระทบต่อประชาชนด้วย

แต่ไม่น่าเชื่อว่าทั้ง ผังเมือง และการวิเคราะห์รายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะถูกยกเลิกไปเพื่อทำให้เกิดโรงไฟฟ้าขยะง่ายขึ้น !!!?

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555 นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ลงนามในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

โดยในประกาศของกระทรวงฯ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ดังกล่าวนั้นได้มีเอกสารท้ายประกาศ 3 ลำดับที่ 18 ระบุเอาไว้เกี่ยวกับกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ โดยให้เสนอในขั้นขออนุญาตก่อสร้างเพื่อประกอบกิจการหรือขั้นขออนุญาตประกอบกิจการแล้วแต่กรณี

หมายความว่าไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าชนิดใดที่ใช้ความร้อนดังที่กล่าวมาข้างต้น ต้องให้มีการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วย!!!

ต่อมาวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2558 พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ลงนามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2558

โดยในประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2558 นั้นได้ยกเว้นให้โรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงเป็นกรณีพิเศษ แตกต่างจากโรงงานไฟฟ้าความร้อนอื่นๆทุกประเภท

โดยหากเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งไม่ได้อยู่ในพื้นชที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และชั้น 2 ไม่อยู่ในพื่นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติมตามมติของคณะรัฐมนตรี ไม่อยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศตามมติคณะรัฐมนตรี และไม่อยู่พื้นที่ซึ่งมีระดับสารมลพิษทางอากาศสูงเกินกว่าร้อยละ 80 ของค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป โรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงดังที่กล่าวมาข้างต้นไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป

ตามซ้ำมาด้วยการลงนามของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อาศัยรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2559 เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2559 เพื่อยกเว้นการใช้บังคับผังเมืองรวมกับโรงผลิตไฟฟ้า โรงผลิตก๊าซ โรงกำจัดขยะ โรงไฟฟ้าขยะ และโรงงานรีไซเคิลขยะและของเสีย

ถ้าจะตามข่าวสารถึงสาเหตุที่มีการยกเว้นทั้งการใช้บังคับผังเมือง และการยกเว้นไม่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก็ต้องกลับไปดูคำสัมภาษณ์ของ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่เคยได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้เกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ความว่า

"ที่ผ่านมาการบริหารจัดการขยะของประเทศไทยยังไม่มีแนวทางการดำเนินการจัดการที่ถูกต้องเหมาะสมและยั่งยืน วันนี้ขยะที่ตกค้างมีทั้งหมด 30 ล้านตันจะต้องใช้งบประมาณ 1 พันล้านบาทไปแก้ปัญหา และขยะใหม่ไม่อยากให้ตกค้างอีก โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดทำโรดแมป กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบเรื่องขยะมูลฝอยที่เกิดจากประชาชน

โดยกระทรวงมหาดไทยได้เสนอต่อที่ประชุม ครม.ว่า จะสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนทราบก่อนว่าขยะมูลฝอยเกิดในพื้นที่ใด จะต้องให้กำจัดในพื้นที่นั้น เพราะที่ผ่านมาเวลาจะไปสร้างโรงเผาขยะเพื่อนำมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าจะถูกต่อต้าน ดังนั้น ต้องสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ว่าหากไม่ต้องการให้เกิดโรงไฟฟ้าในพื้นที่จะต้องมีสถานที่ฝังกลบขยะ เพราะขยะเกิดจากพื้นที่ของตัวเอง ทั้งนี้มี 2 แนวทาง คือ 1. หลังจากเก็บจากบ้านคนไปแล้วหากตรงไหนมีศักยภาพ มีปริมาณขยะพอเพียงจะทำโรงเผาเพื่อผลิตป็นพลังงานไฟฟ้า และ 2. หากพื้นที่ใดขยะไม่พอเพียงจะใช้วิธีฝังกลบ ทั้งหมดจะต้องทำให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ

รมว.มหาดไทยกล่าวว่า ขณะนี้ได้ทำพื้นที่กำจัดขยะไว้แล้วทั่วประเทศ 141 แห่ง โดยพื้นที่ที่มีศักยภาพ เพราะมีขยะพอเพียงทำโรงไฟฟ้าได้มี 44 แห่ง ส่วนกรณีไม่พอเพียง แต่อยู่ในรัศมีใกล้กัน 4 กิโลเมตร หากคุ้มที่จะทำก็จะขนมาให้ได้เป็นจุดเดียว โดยปริมาณขยะที่ต้องการสำหรับเป็นโรงเผาเพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าจะอยู่ประมาณวันละ 500 ตัน หากต่ำกว่านั้นจะไม่คุ้มทุน ทั้งนี้ ในขั้นต่อไปจะพิจารณาว่ารัฐจะลงทุนหรือจะให้เอกชนลงทุน หรือจะมีใครมาร่วมทุน โดยจะต้องศึกษาพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ว่าจะต้องปฏิบัติตามอย่างไร หากจะต้องการจะดูตัวอย่างก็ได้มีโครงการนำร่องแล้วที่ จ.พระนครศรีอยุธยา"

จึงต้องย้อนกลับไปดูพระนครศรีอยุธยาโมเดลว่าเป็นอย่างไร เพราะดูเหมือนว่าโครงการนำร่องนี้มีที่ไปที่มามากว่าที่หลายคนจะคาดคิดได้

เพราะถ้ามองผิวเผินว่านำขยะมาเผาให้ความร้อนเป็นพลังงานไฟฟ้า ด้านหนึ่งได้ทั้งการทำลายขยะ อีกด้านหนึ่งก็สามารถนำมาใช้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้ ก็ดูมีประโยชน์สร้างความยั่งยืนได้ แต่ก็มีเรื่องที่ให้น่าพิจารณาคือความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

โชคดีว่า โรงปูนซิเมนต์ในประเทศไทยนั้น ได้มีความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเดิมต้องใช้ถ่านหินในการมาเป็นพลังงานความร้อนในระดับสูงเพื่อผลิตปูนซิเมนต์อยู่แล้ว ต่อมาเพื่อเป็นการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง ก็ทำให้โรงปูนซิเมนต์ในประเทศไทยได้นำขยะมาเป็นเชื้อเพลิงแทนถ่านหิน โดยพบว่าโรงปูนซิเมนต์ที่นำขยะมาเป็นเชื้อเพลิงได้แก่ โรงปูนซิเมนต์ไทย (วันละประมาณ 50 ตัน) โรงปูนซิเมนต์นครหลวง (วันละหลายพันตัน) แต่ที่ยกระดับจนถึงขั้นนำมาเป็นทั้งพลังงานให้ความร้อนและต่อยอดจนผลิตเป็นไฟฟ้านั้นต้องยกให้โรงปูนซิเมนต์ของทีพีไอ ที่จังหวัดสระบุรี

โรงปูนซิเมนต์ของทีพีไอ ที่จังหวัดสระบุรี นั้นมีความสามารถที่จะรับขยะได้ถึงวันละ 5,000 -6,000 ตัน แต่มีการใช้งานจริงเพียงวันละ 1,000 ตันเท่านั้น สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 90 เมกะวัตต์ และเมื่อผลิตเต็มความสามารถแล้วก็จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 160 เมกกะวัตต์ จึงเท่ากับเหลือกำลังที่จะเผาขยะได้อีกถึงวันละ 4,000-5,000 ตัน

และข้อดีอีกประการหนึ่งของการที่โรงปูนซิเมนต์ มีโรงงานขยะ และโรงผลิตไฟฟ้าอยู่ด้วยกันนั้น เป็นการจำกัดเขตมลพิษจากขยะรวมอยู่เขตอุตสาหกรรม ที่ต้องควบคุมมาตรฐานสิ่งแวดล้อม และต้องอยู่ในภายใต้กฎบังคับผังเมืองที่ไม่ให้กระทบต่อประชาชนอยู่แล้ว

ส่วนขยะที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น มีขยะตกค้างสูงถึง 200,000 ตัน และมีขยะเพิ่ม 1,200 วันต่อตัน กำจัดได้ 700 ตัน จึงตกค้างทุกวันอีกวันละ 500 ตัน ด้วยเหตุผลว่าไม่มีงบประมาณเพียงพอ จึงถือเป็นวิกฤติสิ่งแวดล้อมของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่มีอยู่จริง

ทั้งนี้นายอภิชาต โตดิลกเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ให้สัมภาษณ์กับประชาชาติธุรกิจ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ว่า

"พระนครศรีอยุธยาที่ผ่านมาดำเนินการภายใต้กรมควบคุมมลพิษ มีแผนที่จะขนขยะจากอยุธยาไปเผาที่โรงปูนทีพีไอ จังหวัดสระบุรี แต่มีปัญหาคือ เมื่อขนขยะไปเผา พองบประมาณหมดก็จะเหลือขยะตกค้าง ทำให้ไม่เกิดความยั่งยืน จึงเปลี่ยนมาใช้งบประมาณของกระทรวงมหาดไทย และยังได้ใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างวิธีพิเศษในการดำเนินการ โดยในขณะนี้ได้ผู้รับเหมาแล้วคือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)"

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องมาพิจารณาออกเป็น 2 ส่วนคือ 1. ขยะเก่าที่ตกค้าง 200,000 ตัน จะดำเนินการอย่างไร และ 2. ขยะใหม่ที่ตกค้าเพิ่มวันละ 500 ตันจะทำอย่างไร?

สำหรับขยะที่ตกค้าง 200,000 ตัน เมื่อวัดระยะทางจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถึง โรงปูนซิเมนต์ของทีพีไอมีระยะทาง ประมาณ 111 กิโลเมตร และเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 29.85 บาทต่อลิตร หากรถบรรทุกพ่วง 2 คัน ใช้น้ำมันในอัตรา 2.8 กิโลเมตรต่อลิตร และบรรทุกครั้งละ 30 ตัน และสามารถเดินทางวันละ 3 รอบ หากบวกค่าแรงการขับรถและกำไรให้กับการขับรถตามราคาตลาด ประเมินได้ว่าว่าจะมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งตันละประมาณตันละ 392.91 บาท ดังนั้นหากมีขยะค้างอยู่ 200,000 ตัน หากขนวันละ 3,500 ตัน ตามความสามารถที่เหลือของโรงปูนซิเมนต์ทีพีไอ ก็จะพบว่าจะขนขยะที่ตกค้างของเดิม 200,000 ตัน โดยใช้เวลาประมาณไม่เกิน 60 วันเท่านั้น

ข้อสำคัญก็จะใช้เงินประมาณ 78,582,533 บาท ก็จะกำจัดขยะ 200,000 ตันที่ตกค้างที่พระนครศรีอยุธยาได้โดยการใช้งบประมาณจากค่าขนส่งเท่านั้น!!!

ด้วยกำลังความสามารถของโรงปูนซิเมนต์ทีพีไอ ที่จังหวัดสระบุรี ก็ยังมีกำลังเหลือพอที่จะรับขยะส่วนเกินจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อีกวันละ 500 ตัน ได้อีกด้วย โดยไม่ต้องจ้างฝังกลบ หรือมีการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ โดยยังไม่ต้องพูดถึงความสามารถของเตาเผาขยะของโรงปูนซิเมนต์นครหลวงแต่ประการใด

แต่กระทรวงมหาดไทยไม่เลือกหนทางนั้น เพราะกระทรวงมหาดไทยกลับเลือกใช้งบประมาณใช้ที่ราชพัสดุแห่งใหม่แล้ว "ย้ายขยะตกค้าง 2 แสนตัน" ออกไปจากพื้นที่เดิมประมาณ 5 กิโลเมตร แล้วนำไป "ฝังกลบ" แทน และเตรียมให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าเผาขยะแห่งใหม่

โดยกระทรวงมหาดไทยได้ใช้ที่ราชพัสดุจำนวน 372 ไร่ 2 งาน 29 ตารางวา ที่ตำบลมหาพราหมณ์ อำเภอบางบาล จังหวัดอยุธยา โดยต้องมีการก่อสร้างสถานที่ฝังกลบขยะ งานขนย้ายขยะ งานปรับภูมิทัศน์และงานจัดหาคุรุภัณฑ์ และงบประมาณทำแผนประชาสัมพันธ์อีกส่วนหนึ่ง

>โดยการก่อสร้างสถานที่กำจัดขยะนำร่อง คณะกรรมการใช้วิธีจัดจ้างโดย"วิธีพิเศษ" (เจรจาตกลงราคา หรือต่อรองราคา) จัดหาผู้รับจ้างได้แก่ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล็อปเมนต์ จำกัด จำนวนเงิน 369,633,000 บาท จัดทำโครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการขยะมูลฝอย โดยคณะกรรมการจัดจ้างโดย "วิธีพิเศษ"ได้แก่ บริษัท ดีเอวัน จำกัด จำนวนเงิน 8,900,000 บาท และจะจัดหาครุภัณฑ์สำหรับโครงการก่อสร้างสถานที่กำจัดขยะนำร่อง เตรียมงบประมาณเอาไว้อีกจำนวน 152,935,600 บาท รวมแล้วใช้งบประมาณในส่วนนี้ 531,468,600 บาท

ลองเปรียบเทียบกันดูกับการขนส่งไปที่โรงปูนซิเมนต์ที่จังหวัดสระบุรีซึ่งใช้งบประมาณ 78,582,533 บาท ไปที่โรงปูนซิเมนต์ทีพีไอ แล้วแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง !!!?

จึงเกิดคำถามว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงมีนโยบาย"ขยะมูลฝอยเกิดในพื้นที่ใด จะต้องให้กำจัดในพื้นที่นั้น" โดยให้สร้างโรงไฟฟ้าขยะรวมศูนย์ซึ่งห่างจากพื้นที่ขยะรัศมีไม่เกิน 4 กิโลเมตร เพราะจะได้ไม่ต้องขนย้ายส่งไปที่โรงปูนซิเมนต์ที่ไกลกว่า 4 กิโลเมตร มาเปรียบเทียบใช่หรือไม่?

เพราะเมื่อกำหนดการกำจัดขยะไม่เกิน 4 กิโลเมตร จะเท่ากับบีบทำให้ต้องสร้างโรงไฟฟ้าขยะขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะเมื่อพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ให้สัมภาษณ์ว่ามีขยะพอเพียงทำโรงไฟฟ้าถึง 44 แห่ง แต่อย่างไรก็ตามหากจะต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) และผังเมืองแล้ว จำนวนโรงไฟฟ้าขยะมากขนาดนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายๆนัก

และนั่นอาจะเป็นข้อสงสัยต่อมาถึงสาเหตุ ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อยกเว้นให้โรงไฟฟ้าขยะตามที่กำหนดไม่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) แถมด้วยคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ อาศัย อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ยกเลิกการใช้บังคับผังเมืองกับโรงไฟฟ้าทุกประเภทและทุกขนาด

ผลประโยชน์และงบประมาณเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยลักษณะบูรณาการประจำปี 2559 ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรากฏข้อมูลอยู่ที่จำนวน 384 โครงการ เป็นเงินประมาณ 26,182 ล้านบาท

แต่คำสั่งการยกเลิกผังเมือง และประกาศยกเว้นการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ให้กับโรงไฟฟ้าขยะนั้น ดูแล้วมีควาขัดแย้งจากคำกล่าวของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในรายการ "คืนความสุขให้คนชาติ" เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ความว่า:

"โรงงานใหม่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม กำจัดของเสีย ทำไม่ได้ก็ต้องปิด มาตรการควบคุมมลพิษ กำจัดน้ำเสีย หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ส่งผลเสี่ยในบรรยากาศ ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่อนุญาต ขอให้กรมควบคุมมลพิษ และส่วนที่ตรวจสอบต่างๆไปตรวจสอบให้ดีขึ้น โรงงานเก่าก็เช่นกัน เก่าไม่ดีก็ปิดไป ถ้าไม่พัฒนาเลยก็โทรมไปเรื่อย ทำให้สังคมเดือดร้อน"

ในขณะที่กำลังไฟฟ้าของประเทศไทยสูงเกินสำรองมาตรฐานไปอย่างมากมายมหาศาลแล้ว กลับเร่งโรงไฟฟ้าขยะ เร่งโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเร่งเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาจะรีบเร่งจนทำลายหลักการเรื่องผังเมืองและการวิเคราะห์รายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อใคร?


กำลังโหลดความคิดเห็น