xs
xsm
sm
md
lg

“ประจิน” รองนายกฯ ลุยบุรีรัมย์ - จังหวัดเสนอยกระดับสนามบิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บุรีรัมย์ - “พล.อ.อ.ประจิน” รองนายกฯ ลงพื้นที่บุรีรัมย์ ตรวจติดตามการกระตุ้นเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหาภัยแล้งและจัดการขยะมูลฝอย เผย จ.บุรีรัมย์ เสนอขอใช้พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติตาพระยา เพื่อเปิดจุดผ่านแดนถาวร ช่องสายตะกู พร้อมร้องขอยกระดับสนามบินบุรีรัมย์เป็นสนามบินศุลกากร รองรับการเจริญเติบโต

วันนี้ (18 ก.พ.) พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมาติดตามการปฏิบัติราชการและมอบนโยบายในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง การจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งแวดล้อม นโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ การดำเนินงานของศูนย์การเรียนรู้ไอที ชุมชน และผลการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรม

โดยมีนายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมต้อนรับและบรรยายสรุป ที่ห้องประชุมนารายณ์บรรทมสินธุ์ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์

ทั้งนี้ จังหวัดบุรีรัมย์ได้รับจัดสรรงบประมาณโครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 20 โครงการ งบประมาณ 327 ล้านบาทเศษ แยกเป็นงบลงทุนจำนวน 159 รายการ งบประมาณ 264 ล้านบาทเศษ เบิกจ่ายแล้วร้อยละ 2.16 งบดำเนินงาน/งบรายจ่ายอื่น จำนวน 62 ล้านบาทเศษ เบิกจ่ายแล้ว ร้อยละ 28.08 ผลการเบิกจ่ายงบประมาณภาพรวม จำนวน 23 ล้านบาทเศษ คิดเป็นร้อยละ 7.11

ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวน 7 โครงการ งบประมาณ 171 ล้านบาทเศษ ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 4 โครงการ เบิกจ่ายแล้ว 75 ล้านบาทเศษ คิดเป็นร้อยละ 66.14 สำหรับอีก 3 โครงการจะดำเนินแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2559

นอกจากนั้น ยังมีกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 2,587 กองทุน เป็นกองทุนเป้าหมายที่มีผลการประเมินศักยภาพระดับ A และ B จำนวน 1,994 กองทุน และกู้ยืมเงินตามมาตรการฯ จำนวน 1,338 กองทุน คิดเป็นร้อยละ 67.10 เป็นเงิน 1,327 ล้านบาทเศษ โดยส่วนใหญ่กู้ยืมไปประกอบอาชีพ ด้านการเกษตร และค้าขาย และมีกองทุนหมู่บ้าน ที่ยื่นแบบสำรวจความพร้อมการพัฒนาศักยภาพ เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากภายใต้แนวคิดประชารัฐ จำนวน 206 กองทุน 253 โครงการ เป็นเงิน 124 ล้านบาทเศษ

อย่างไรก็ตาม จ.บุรีรัมย์ ได้เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามโครงการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) จำนวน 3,019 โครงการ งบประมาณ 941 ล้านบาทเศษ และสำนักจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ 13 ได้พิจารณาอนุมัติรวม 5 งวด จำนวน 2,397 โครงการ งบประมาณ 741 ล้านบาทเศษ ได้ก่อหนี้ผูกพันแล้ว จำนวน 537 โครงการ งบประมาณ 177 ล้านบาทเศษ เบิกจ่ายแล้ว จำนวน 18 โครงการ งบประมาณ 4,300,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 0.58

สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง จ.บุรีรัมย์ ได้ดำเนินการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง ปี 2558/59 แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้ ระยะแรก กิจกรรมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยและอาศัยความชื้นของดิน ได้แก่ แตงโม พืชผัก ถั่วลิสง ข้าวโพดหวาน และดาวเรือง จำนวน 6 โครงการ งบประมาณ 3 ล้านบาทเศษ เบิกจ่ายแล้ว จำนวน 2.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 77.74

ระยะที่ 2 กิจกรรมด้านการเกษตรอื่นๆ อาชีพนอกภาคการเกษตร และการจ้างงานจังหวัดได้เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 172 โครงการ งบประมาณ 103 ล้านบาทเศษ ได้แก่ พืชใช้น้ำน้อย จำนวน 12 โครงการ การเกษตรอื่นๆ จำนวน 106 โครงการ กลุ่มนอกภาคเกษตร จำนวน 54 โครงการ ขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติกรอบวงเงิน

ด้านการจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งแวดล้อม ผลการกำจัดขยะมูลฝอยตกค้างสะสมในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย (ขยะมูลฝอยเก่า) ปริมาณขยะมูลฝอยตกค้างสะสม จำนวน 58,323 ตัน และมีสถานที่กำจัดขยะไม่ถูกหลักวิชาการ จำนวน 52 แห่ง แผนบริหารจัดการขยะมูลฝอย ได้กำหนดปิดสถานที่กำจัดขยะไม่ถูกหลักวิชาการภายในปี พ.ศ. 2562 ซึ่งขณะนี้ปิดไปแล้ว 6 แห่ง รวมมีการกำจัดขยะมูลฝอยตกค้างสะสมแล้ว 37,560 ตัน

ผลการกำจัดขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายที่เหมาะสม (ขยะมูลฝอยใหม่) ปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นใหม่ จำนวน 1,553 ตัน/วัน มีการเก็บขนไปกำจัด 406 ตัน/วัน การคัดแยกขยะระดับครัวเรือน 40.37 ตัน/วัน มีปริมาณขยะที่เหลือ 1,106 ตัน/วัน คิดเป็นร้อยละ 71.25 มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการคัดแยกขยะที่ต่อเนื่อง จำนวน 19 แห่ง

การวางมาตรการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกข้อบังคับในการกำจัดขยะมูลฝอย และสิ่งปฏิกูลจำนวน 157 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 75 และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งได้รวบรวมขยะมูลฝอยที่เป็นของเสียอันตราย นำไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดที่ถูกหลักวิชาการ

การสร้างวินัยของคนในชาติสู่การจัดการที่ยั่งยืน (ให้ความรู้ บงคับใช้กฎหมาย) มีการให้ความรู้ ประชาสัมพันธ์ การจัดการขยะมูลฝอย ในชุมชน โรงเรียนและสถานศึกษา จัดกิจกรรมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โครงการบุรีรัมย์เมืองสวย น้ำใส ไร้มลพิษ พิชิตผักตบชวา เพื่อเป็นการสร้างวินัย ในการรักษาความสะอาด อนุรักษ์ฟื้นฟูและพัฒนาสภาพแวดล้อมโดยกำหนดจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

สำหรับนโยบาย ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ จ.บุรีรัมย์ มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 240 โรงเรียน เป็นโรงเรียนในระดับประถมศึกษา จำนวน 180 โรงเรียน โรงเรียนในระดับมัธยมศึกษา จำนวน 60 โรงเรียน

กำหนดจัดกิจกรรมในการดำเนินงาน ดังนี้ การพัฒนาความรู้ความเข้าใจบุคลากร ประชุมเชิงปฏิบัติการ ผู้บริหาร ครู เพื่อปรับโครงสร้างเวลาเรียน และกำหนดกรอบกิจกรรม ประสานความร่วมมือในการจัดกิจกรรม จากผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษา ส่วนราชการ ชุมชน ผู้นำท้องถิ่น และภูมิปัญญาในท้องถิ่น และจัดทำเอกสารแนวทางการจัดกิจกรรมสู่การปฏิบัติและแต่งตั้งคณะทำงานนิเทศ ติดตาม ช่วยเหลือ และรายงานผลการดำเนินงานของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ

จากการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ นักเรียนได้เรียนรู้ตามความต้องการ ความถนัด และได้ลงมือปฏิบัติจริงทำให้ลดความเครียดในการเรียน อัตราการขาดเรียนลดลง

ส่วนผลการดำเนินงานของศูนย์การเรียนรู้ IT ชุมชน จังหวัดบุรีรัมย์ได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ IT ชุมชน แล้ว จำนวน 58 ศูนย์ โดยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หมู่บ้าน/ชุมชนและสถานศึกษา จำนวนผู้มาใช้บริการเฉลี่ยประมาณ 580 คน/เดือนทำให้ประชาชนมีความสะดวกในการสืบค้นข้อมูลข่าวสารเป็นสื่อกลางในการติดต่อซื้อขายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการหมู่บ้าน

การดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ใช้กลไกของคณะกรรมการหมู่บ้าน และธรรมนูญหมู่บ้าน 9 ดี มาแก้ไขและป้องกันปัญหาเรื่องร้องเรียน โดยเริ่มจากกระบวนการชุมชนคุ้มและหมู่บ้านทำให้ได้รับทราบปัญหาที่แท้จริงและแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน และจัดคลินิกที่ดิน สัปดาห์ละ 1 วัน โดยนำปัญหาเรื่องที่ดินที่มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมากเข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ย

ผลการดำเนินการรับเรื่องร้องเรียนและการแก้ไขปัญหา มีเรื่องร้องเรียนที่รับไว้ดำเนินการ รวมทั้งสิ้น 1,766 เรื่อง เป็นเรื่องร้องเรียนจากศูนย์บริการประชาชน จำนวน 44 เรื่อง, เรื่องร้องเรียนของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด จำนวน 1,627 เรื่อง แก้ไขปัญหาจนยุติแล้ว จำนวน 1,406 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 79

เรื่องที่มีการร้องเรียนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ปัญหาที่ดินทำกิน/การบุกรุกที่ดินของรัฐ, ปัญหาการบริหารราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ, ปัญหาความยากจน หนี้สินเกษตรกร หนี้นอกระบบ, ปัญหาอาชญากรรม ผู้มีอิทธิพล และปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน

ในโอกาสนี้ จังหวัดบุรีรัมย์ได้เสนอปัญหาสำคัญอื่นๆ 4 เรื่อง ได้แก่ 1) ปัญหาการขอใช้พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติตาพระยา เพื่อเปิดจุดผ่านแดนถาวร ช่องสายตะกู ตำบลจันทบเพชร อำเภอบ้านกรวด เนื่องจากยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2) ปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบสำหรับการประปา เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของชุมชนเมืองบุรีรัมย์ในอนาคต เนื่องจากปริมาณน้ำของอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากและอ่างเก็บน้ำห้วยตลาดที่ใช้ผลิตน้ำประปาจะมีเพียงพอถึงปี พ.ศ. 2560 จึงจำเป็นต้องพิจารณาปรับปรุงแหล่งน้ำที่มีอยู่และนำน้ำจากลุ่มน้ำอื่นมาสนับสนุนต่อไป

3) การปรับปรุงทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 218 สายบุรีรัมย์-นางรอง ระยะทาง 12.7 กิโลเมตร หมายเลข 2117 สายตะโก-พนมรุ้ง ระยะทาง 11.9 กิโลเมตร เป็น 4 ช่องจราจร และถนนหมายเลข 2378 ตอนสะพานบุรีรินทร์-ไทรงาม ระยะทาง 23.3 กิโลเมตร เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวของจังหวัด

4) การยกระดับสนามบินบุรีรัมย์เป็นสนามบินศุลกากร เนื่องจากปัจจุบันการเดินทางโดยเครื่องบินไปกลับ กรุงเทพ-บุรีรัมย์ มีสายการบินเปิดให้บริการ วันละ 6 เที่ยวบิน ประกอบกับจังหวัดบุรีรัมย์ มีสนามฟุตบอล และสนามแข่งรถที่ได้มาตรฐานโลกและเปิดทำการแข่งขันตลอดปี ทำให้การเดินทางของนักท่องเที่ยวและนักแข่งรถได้รับความลำบาก
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมาติดตามการปฏิบัติราชการและมอบนโยบายในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ วันนี้ ( 18 ก.พ.)





กำลังโหลดความคิดเห็น