xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ย้ำไทยพร้อมประชาคมอาเซียน 100% - กต.แนะเสาเศรษฐกิจ ต้องออกกฎหมายเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
“บิ๊กตู่” ย้ำความพร้อมไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ชี้ ทุกหน่วยงานต้องเชื่อมโยง คน งาน และเงิน เพื่อผลสัมฤทธิ์ ด้าน “บัวแก้ว” แจง 3 เสาหลัก พร้อม 97.96% การเมือง - สังคม พร้อม 100% ส่วนเสาเศรษฐกิจพร้อมเพียง 97.3% ต้องออกกฎหมายเพิ่มแนะตั้ง “ทูตเชิงป้องกันรับมือภัยคุกคามรูปแบบใหม่”

วันนี้ (27 ม.ค.) มีรายงานว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) โดยที่ประชุมมอบหมายให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบในการหาหน่วยงานเจ้าภาพของแต่ละเสา (อาซียน) เพื่อขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ

โดย นายกรัฐมนตรีได้มอบแนวทางในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนของไทย โดยกำชับว่า ทุกหน่วยงานของรัฐบาลจะต้องมองการขับเคลื่อนอาเซียนทั้งสามเสาหลัก เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารประเทศ โดยต้องมีการกำหนดกิจกรรมหลัก/กิจกรรมรอง/และกิจกรรมเสริม ให้เกิดความเชื่อมโยงทั้งแผนงาน โครงการ บุคคล และงบประมาณ และมีการวาง Roadmap อย่างชัดเจน โดยมีการเสนอรายงานทุกสามเดือน หรือรายไตรมาส เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยหลักการทำงานเช่นนี้ จะสามารถทำให้เห็นภาพได้ว่า ในอีก 1 ปีข้างหน้า อาเซียนจะได้อะไร นายกรัฐมนตรียังได้ย้ำความสำคัญ ว่า ประชาคมอาเซียนจะต้องส่งเสริมทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วม เช่นเดียวกับหลักการประชารัฐ เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในการขับเคลื่อนทั้งสามเสาหลักของอาเซียน

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนเสาการเมืองและความมั่นคง โดยเน้นการสร้างความเชื่อมโยง การอำนวยความสะดวกการเดินทาง ให้ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาความมั่นคงและความปลอดภัยจากภัยในรูปและดั้งเดิม และรูปแบบใหม่ ความร่วมมือเสาเศรษฐกิจนั้น ทุกประเทศสมาชิกอาเซียนคือหนึ่งเดียวกัน การร่วมมือกันเพื่อพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันและการสร้างตลาดอาเซียน เพื่อให้เกิด ASEAN Brand เป็นที่ยอมรับและรู้จักกันในตลาดโลก สำหรับความร่วมมือเสาวัฒนธรรม จะต้องส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสนับสนุนความเป็นหนึ่งของประชาชนอาเซียน โดยจะต้องก้าวข้ามความแตกต่าง ๆ ทั้งชาติพันธุ์ และศาสนา การส่งเสริมการศึกษา ความร่วมมือวัฒนธรรมและประเพณีที่ร่วมกัน ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนจะต้องมีการเตรียมความพร้อม สร้างเครือข่ายระหว่างเอกชน เพื่อให้ประชาคมอาเซียนนั้นเกิดประโยชน์สูงสุด

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า ประเทศไทย และอาเซียนจะต้องเดินหน้าไปพร้อมกัน เพราะไทยคือส่วนหนึ่งของอาเซียน ขณะเดียวกัน อาเซียนก็เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก ดังนั้น การพัฒนาประชาคมอาเซียนจะต้องมุ่งสู่ความยั่งยืน สอดคล้องกับแนวการพัฒนาของโลกโดยสหประชาชาติที่กำหนดกรอบการพัฒนา 15 ปี ที่ประกาศไว้ในการประชุมสหประชาชาติที่ผ่านมา

ด้าน นายวิทวัส ศรีวิหค รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ แถลงภายหลังว่า ส่วนราชการได้รับทราบรายงานสรุปความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทย ที่เริ่มเข้ามาตั้งแต่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา เพราะอาเซียนเป็นกระบวนการทำงานที่เป็นกระบวนการที่มีพัฒนามาเป็นลำดับ ดังนั้น การเข้าประชาคมฯที่ผ่านมา จึงได้เป็นเหตุให้ไม่เกิดความประหลาดใจเหมือนกับที่เราเดินเข้าห้องมืดแล้วมีแสงสว่างพรึ่บ แต่ไฟจะเริ่มสว่างตามกำหนดการ แต่ความพร้อมของทั้ง 3 เสาหลัก คือ เสาการเมือง เสาเศรษฐกิจ และเสาสังคมวัฒนธรรม 10 ประเทศ ก็มีการทำการบ้านพอสมควร โดยในที่ประชุมตนนำเรียนว่าทั้ง 3 เสา เรามีความพร้อมที่ปฏิบัติตามแผนงาน 97.96% ซึ่งความพร้อมของเราที่ทำตามแผนใกล้เคียง 100% คือ เสาการเมือง พร้อม 100% เสาสังคม พร้อม 100% และเสาเศรษฐกิจ พร้อม 97.3%

ในส่วนของเสาการเมือง มีการเตรียมเรื่องนโยบาย เอกสารยุทธศาสตร์การดำเนินการโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช ) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และหน่วยงานกลุ่มงานความมั่นคง ที่รวมถึงปัญหาการบริหารจัดการชายแดน การค้ามนุษย์การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ที่มีคณะกรรมการะดับชาติทำงานต่อเนื่อง ซึ่งความพร้อมของเสาการเมืองมีความพร้อมก่อนวันที่ 1 ม.ค. โดยมีการดำเนินการตามรายการต่าง ๆของสำนักเลขาธิการอาเซียนครบ 100% แต่ไส้ในยังมีเรื่องที่จะต้องสานต่อต่อไป ไม่ได้หมายความว่า ปัญหาเหล่านี้ทำสำเร็จ 100% อย่างไรก็ตาม ปัญหาอุปสรรคของเสาการเมืองนั้น คือ เรื่องความมั่นคงระหว่างประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงภัยคุกคาม มีความมั่นคงระหว่างประเทศและภูมิภาค ที่คาดว่า การรับมือในโลกปัจจุบันจะยากขึ้น อาทิ เหตุผู้ก่อการร้าย เช่น เหตุวางระเบิดที่จาการ์ตา ที่สถานการณ์แบบนี้เป็นรูปแบบใหม่ และแม้ว่าประเทศ 10 ประเทศ จะรวมเป็นประชาคม แต่ปัญหาเส้นเขตแดนยังอยู่กับเราและต้องเจรจาแก้ไขต่อไป

“การรับมือภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เช่น ขบวนการไอเอสก็เป็นรูปแบบใหม่ รวมทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติ โรคระบาดข้ามชายแดน อาชญากรรมข้ามชาติ สินค้าและบริการมีทั้งมืดและสว่าง ที่ต้องหาทางป้องกัน ที่ต้องมีการทูตเชิงป้องกันต้องกระชับให้เครื่องมือนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้นว่าจะร่วมกันอย่างไรในการป้องกันร่วมกัน ก่อนที่มันจะลุกลาม” รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวและว่า ส่วนเสาประชาคมและวัฒนธรรมก็สำเร็จตามแผนงาน 100% ในทางนโยบาย เช่น เรื่องแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน สวัสดิการสังคม การจัดการขยะและของเสีย ความหลากหลายทางชีวภาพ การค้าสัตว์ ที่ทำครบ แต่ยังจะต้องทำไส้ในที่ต้องสานต่อให้เข้มแข็ง ส่วนเสาเศรษฐกิจสำเร็จแล้ว 97.3% ในเรื่องการบริการ การค้าชายแดน การส่งเสริมไมโครเอสเอ็มอี เศรษฐกิจดิจิตอล การทำให้ไทยมีความเชื่อมโยง การเกษตร และอำนวยความสะดวกเรื่องการค้าการลงทุน และที่ต้องสานต่อจะต้องดำเนินการต่อแบบเข้มข้นยิ่งขึ้น ได้แก่เรื่องที่จะต้องท ำคือ เรื่องการลงนามให้สัตยาบันข้อตกลงต่าง ๆ ที่คั่งค้าง เช่น การขนส่งสินค้าผ่านแดน ความตกลงยอมรับร่วมเรื่องอาหารสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยานยนต์อาเซียน ฯ

“แต่ทั้ง 3 เสา ยังมีความซ้ำซ้อนของกลไกการทำงานที่ยังคาบเกี่ยวกันทั้ง 3 เสา ซึ่งในแง่ของกลไกต้องหาเจ้าภาพหรือเจ้าภาพร่วมทำงานร่วมกันทั้ง 3 เสา เพื่อลดความซ้ำซ้อนด้วยการบูรณาการงานและงบประมาณบางส่วน” นายวิทวัส กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้สรุปเรื่องเร่งด่วน 7 ข้อที่ต้องทำเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในเสาสังคม ว่า ไม่สำคัญยิ่งหย่อนกว่าเสาอื่น เพราะประชาชนยังคิดว่าประชาคมอาเซียนเป็นเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองเท่านั้น เพราะความจริงแล้วเกี่ยวข้องกับประชากรทั้ง 600 กว่าล้านคน ที่ทำยังไงจะให้มีอัตลักษณ์ร่วมกันในการรู้จักเพื่อนบ้านข้ามแดน ที่จะต้องใช้เวลา ร่วมของภาษาการสื่อสารที่ใช้ภาษาอังกฤษที่ยังมีความเข้มและอ่อนต่างกัน และเรื่องแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานส่วนความคืบหน้าด้านกฎหมาย ที่ประชุมสอบถามว่าขณะที่มีกฎบัตรอาเซียน ที่เป็นประชาคมที่อยู่บนพื้นฐานของหลักนิติรัฐนิติธรรม ประเทศทั้งหลายต้องนำไปอนุวัติเป็นกฎหมายภายใน เพื่อทำตามพันธะของอาเซียน โดยประเทศไทยมีกฎหมายที่ให้สัตยาบันออกเป็นกฎหมายลูก ทั้งเสาการเมืองและสังคมออกครบแล้ว ส่วนเสาเศรษฐกิจเหลืออีก 5 ฉบับ อาทิ พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า ร่าง พ.ร.บ. เครื่องมือแพทย์ ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องหลักเกณฑ์วิธีการจัดทำรายงานการผิดปกติของเครื่องมือแพทย์ ร่างกฎกระทรวงวิธีการแก้ไข และขออนุญาตใบอนุญาตการจับสัตว์น้ำ ร่างระเบียบกรมประมงในการแจ้งข้อมูลการแจ้งอาชีพ และยังมีกฎหมายที่เพิ่มขีดการแข่งขันอีก 26 ฉบับที่จะต้องดำเนินการให้เร็ว ภายในรัฐบาลนี้

“เท่าที่ฟังจากการประชุมท่านนายกฯมีความจริงจังมากเรื่องเหล่านี้จะต้องเร่งให้เห็นผล อะไรที่ค้างในกระบวนการปกติ รัฐบาลนี้เร่งรัดได้ขอให้เร่งรัดทำทันที อะไรที่จะต้องเสนอเข้าสภาเพื่อรับรองในขั้นตอนปกติอาจจะช้าในรัฐบาลก่อนหน้านี้ตามกระบวนการ รัฐบาลชุดนี้สามารถเร่งรัดได้” นายวิทวัส กล่าว

ส่วนกลไกขับเคลื่อนอาเซียนนั้นมีการกำหนดการมาตรฐานกลาง กำหนดให้มีคณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติ ที่มีกระทรวงการต่างประเทศเป็นฝ่ายเลขานุการ และรมว.ต่างประเทศ เป็นประธานและจากที่เริ่ม 1 ม.ค. คณะกรรมการจากนี้จะมีรูปแบบหน้าตาอย่างไรต่อไปเพื่อขับเคลื่อน โดยกระทรวงการต่างประเทศรับไปปรึกษาหน่วยงานอื่นเพื่อนำมาผลักดันให้แต่ละเสาสำเร็จ ซึ่งนายกรัฐมนตรีอยากจะเห็นสิ่งที่คั่งค้างของแต่ละเสามาคลี่แล้วต้องบอกได้ว่าระยะถัดนี้ต่อไป 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน อะไรจะสำเร็จ แก้แล้วหรือยัง ผลจะออกมาอย่างไร ที่จะต้องรับไปทุกหน่วยงานเร่งรัดการขับเคลื่อนให้มีผลสำเร็จต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น