ร.ฟ.ท.ลุยตอกเข็มรถไฟทางคู่ ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ค่าก่อสร้างกว่า 1.02 หมื่นล้าน เชื่อมการขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก-แหลมฉบังกับภาคเหนือ, อีสาน เร่งเจรจาชดเชยเวนคืนบริเวณคลองท่าไข่ ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง ด้าน “ออมสิน” เผยเตรียมชง ครม.อนุมัติอีก 3 เส้นทาง เร่งเปิดประมูลภายในปีนี้
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดการดำเนินงานในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ในเส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอโครงการรถไฟทางคู่ เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร วงเงิน 29,853.18 ล้านบาท ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเป็นอีกโครงการที่ต้องเร่งดำเนินการ ส่วนอีก 3 เส้นทาง คือ เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงิน 17,290.63 ล้านบาท เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กิโลเมตร วงเงิน 24,840.54 ล้านบาท และเส้นทางนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร วงเงิน 20,306.53 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถประกวดราคาได้ภายในปีนี้ทั้งหมด
ด้านนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ร.ฟ.ท.เตรียมส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้างเข้าดำเนินการ ซึ่งตามกำหนดการจะเริ่มเคลียร์พื้นที่ และเริ่มต้นก่อสร้างโครงการในวันที่ 19 ก.พ.นี้ ขณะที่ปัญหาการเวนคืนที่ดิน บริเวณคลองท่าไข่ จ.ฉะเชิงเทรานั้นอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองราคา ซึ่งมั่นใจว่า ประเด็นนี้จะไม่ทำให้โครงการล่าช้า
โดยรถไฟทางคู่ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย แบ่งเป็น สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-วิหารแดง และช่วงบุใหญ่- แก่งคอย พร้อมทางคู่เลี่ยงเมือง (Chord Lines) 3 แห่ง (ฉะเชิงเทรา บ้านภาชี และแก่งคอย) ระยะทางรวมประมาณ 106 กิโลเมตร งบประมาณในการก่อสร้าง 9,825.81 ล้านบาท มีบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง, สัญญาที่ 2 งานก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ ช่วงวิหารแดง-บุใหญ่ ระยะทางรวมประมาณ 9 กิโลเมตร และอุโมงค์รถไฟลอดใต้เขาพระพุทธฉาย 1.2 กิโลเมตร งบประมาณในการก่อสร้าง 407.04 ล้านบาท มีบริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด เป็นผู้รับจ้าง
โดยเป็นโครงการที่สอดคล้องกับแนวทางการลงทุนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 10 ในด้านการลดต้นทุนด้านการขนส่งและลอจิสติกส์ รองรับการขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกและท่าเรือแหลมฉบังกับพื้นที่บริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น น้ำมัน ก๊าซ LPG ปูนซีเมนต์ สินค้าบรรจุคอนเทนเนอร์ มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญในการช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าและบริการระหว่างจังหวัดต่างๆ รวมถึงสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขนส่ง (Modal Shift) ไปสู่ระบบรางและสนับสนุนการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ของประเทศ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการกระจายสินค้าให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มความจุสูงสุดของทางในระบบทำให้ขนส่งสินค้าได้มากขึ้น ในขณะที่ค่าขนส่งลดต่ำลง