xs
xsm
sm
md
lg

คค.ปรับแผนประมูล 19 โครงการมูลค่า 1.7 ลล. ปี 59 เน้น PPP-สร้างเชื่อมั่นนักลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อาคม” แจง “สมคิด” เร่งแผนลงทุนรถไฟตะวันออก-ตะวันตกเชื่อมกัมพูชา-ไทย-ทวาย (พม่า) พร้อมปรับตารางแผนงาน (Time Frame) 19 โครงการ มูลค่ากว่า 1.7 ล้านล้าน เร่งประมูลในปี 59 สร้างความมั่นใจนักลงทุน โดยเน้น PPP เพื่อลดหนี้สาธารณะและเร่งเติมเต็มเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้รายงานความก้าวหน้าโครงการด้านระบบรางของกระทรวงคมนาคม ต่อ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องการทราบรายละเอียดของแผนงานการดำเนินงานในแต่ละโครงการที่ชัดเจน เช่น จะเริ่มต้นเมื่อใด ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมารองนายกฯ ได้มาติดตามความคืบหน้าแล้ว และได้เร่งรัดการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Corridor) ด้านล่าง เส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ, กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ, กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง ระยะทาง 574 กม. ซึ่งมีความสำคัญในการขนส่งสินค้า เชื่อมจากประเทศกัมพูชาไปยังท่าเรือแหลมฉบัง และเชื่อมไปถึงนิคมอุตสาหกรรมทวาย ประเทศพม่า และประเทศอินเดียได้ โดยตลอดเส้นทางผ่านแหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญจำนวนมาก

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมมีความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นในการพัฒนารถไฟ 3 เส้นทาง ประกอบด้วย 1. รถไฟความเร็วสูง ระบบชินคันเซ็น (กรุงเทพฯ-เชียงใหม่) ระยะทาง 672 กิโลเมตร ความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง 2. รถไฟแนวตะวันออก-ตะวันตก ด้านล่าง เส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ, กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ, กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง 3. การศึกษา รถไฟแนวตะวันออก-ตะวันตก ด้านบน เส้นทางมุกดาหาร-กาฬสินธุ์-ขอนแก่น-เพชรบูรณ์-พิษณุโลก-สุโขทัย-ตาก-แม่สอด ระยะทาง 815.82 กม. นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือไทย-จีน ในการพัฒนารถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-โคราช-หนองคาย, แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 873 กม.

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังได้ปรับปรุงแผนงานลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในปี 2559 จากเดิม 17 โครงการเป็น 19 โครงการ มูลค่ากว่า 1.7 ล้านล้านบาท โดยเพิ่มโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 17,290.63 ล้านบาท และ รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ระยะทาง 23.6 กม. วงเงิน 104,116.61 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายจะต้องนำเสนอขออนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเปิดประกวดราคาภายในปี 2559 โดยจะมีการจัดทำแผนภาพระยะเวลาการดำเนินงานในช่วงเวลาต่างๆ (Time Frame) อย่างชัดเจน ทั้งนี้เพื่อทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจว่าโครงการต่างๆ ของรัฐบาลจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และกล้าที่จะตัดสินใจเข้ามาลงทุนมากขึ้นเพื่อเติมเต็มเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ ในแต่ละโครงการจะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน หรือ Public Private Partnerships (PPP) เพื่อลดลงทุนหนี้สาธารณะลง

สำหรับ 19 โครงการ ประกอบด้วย โครงการมอเตอร์เวย์ 3 สายของกรมทางหลวง (ทล.) คือ 1. สายพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กม. วงเงิน 20,200 ล้านบาท, 2. สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร วงเงิน 55,620 ล้านบาท และ 3. สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร วงเงิน 84,600 ล้านบาท (ครม.ให้ความเห็นชอบแล้วและอยู่ในขั้นตอนการประกวดราคา) 4. โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) งบประมาณ 1,864.19 ล้านบาท 5. โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operator : SRTO) วงเงินลงทุน 3,062 ล้านบาท ของโครงการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) (ครม.ให้ความเห็นชอบแล้วและอยู่ในขั้นตอนการประกวดราคา)

โครงการรถไฟทางคู่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 6 เส้นทาง ประกอบด้วย 1. สายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ระยะทาง 106 กม. กรอบวงเงิน 10,524,890,000 บาท 2. ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กม. วงเงิน 26,007.20 ล้านบาท 3. ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. วงเงิน 29,853.18 ล้านบาท 4. ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. วงเงิน 24,840.54 ล้านบาท อยู่ระหว่างพิจารณา EIA 5. ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กม. วงเงิน 20,306.53 ล้านบาท 6. ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 17,290.63 ล้านบาท

และรถไฟสายสีแดง Missing Link ขนาดรางกว้าง 1 เมตร (Meter Gauge) ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร และช่วงบางซื่อ-พญาไท-หัวหมาก ระยะทาง 19.5 กิโลเมตร วงเงินรวม 3.9 หมื่นล้านบาท, โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานกรุงเทพ (ดอนเมือง)-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง (แอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยาย) ระยะทาง 21.8 กม. วงเงิน 3.1 หมื่นล้านบาท

โครงการรถไฟฟ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 4 เส้นทาง ประกอบด้วย 1. สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ระยะทาง 34.5 กม. วงเงิน 56,691 ล้านบาท 2. สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ระยะทาง 29.1 กม. วงเงิน 54,644 ล้านบาท 3. สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ระยะทาง 21 กม. วงเงิน 110,325.76 ล้านบาท 4. สายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ระยะทางทั้งสิ้น 23.6 กม. วงเงิน 104,116.61 ล้านบาท

และการพัฒนาขนส่งทางอากาศ ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. 2 โครงการ คือ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 วงเงิน 61,735.420 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ความยาว 4,000 เมตร มูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยค่าก่อสร้างที่ 6,312 ล้านบาท ค่าก่อสร้างทางเชื่อมระหว่างรันเวย์ ประมาณ 3,000 ล้านบาท และค่าชดเชยผลกระทบทางเสียงประมาณ 10,000 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น