xs
xsm
sm
md
lg

สนข.ชงลงทุนกว่า 1.8 พันล้านสร้าง BRT เชื่อมเดินทางในศูนย์คมนาคมพหลโยธิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สนข.” เคาะใช้ระบบ BRT เชื่อมโยงการเดินทางภายในศูนย์คมนาคมพหลโยธิน งบลงทุนกว่า 1,800 ล้าน รองรับการพัฒนาศูนย์กลางคมนาคมแห่งใหม่ของประเทศ คาดสรุปรายงานฉบับสมบูรณ์ 29 ก.ค.นี้ เสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณารูปแบบการลงทุนเพื่อเสนอ สคร.ต่อไป พร้อมพิจารณาการบูรณาการในพื้นที่ร่วม

นายวิจิตต์ นิมิตรวานิช นักวิชาการขนส่งทรงคุณวุฒิ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ สนข.ดำเนินโครงการศึกษาออกแบบรายละเอียดศูนย์คมนาคมพหลโยธิน และการพัฒนาต้นแบบการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางคมนาคม โดยมีสถานีกลางบางซื่อ ที่เป็นศูนย์กลางเปลี่ยนถ่ายการเดินทางด้วยระบบรางแห่งใหม่และใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่ง สนข.ได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 ต่อการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการระบบขนส่งมวลชนรอง (BRT) ภายใต้โครงการศึกษาออกแบบรายละเอียดศูนย์คมนาคมพหลโยธิน และการพัฒนาต้นแบบการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางคมนาคม เพื่อนำเสนอผลสรุปการศึกษาโครงการระบบขนส่งมวลชนรอง (BRT) ในทุกๆ ด้าน รวมทั้งลักษณะโครงการแนวทางเดินเชื่อมต่อภายในพื้นที่ 2,325 ไร่ พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน

โดยโครงการระบบขนส่งมวลชนรอง (BRT) มูลค่าการลงทุนประมาณ 1,800 ล้านบาท ส่วนรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม ในเบื้องต้นคาดว่าภาคเอกชนน่าจะสนใจลงทุนเพียงการให้บริการเดินรถ ขณะนี้ที่ปรึกษาโครงการฯ อยู่ระหว่างรวบรวมและเสนอแนะรูปแบบการลงทุนเพื่อนำเสนอรายงานการศึกษาความเหมาะสมตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) โดยคาดว่าเอกสารรายงานต่างๆ จะแล้วเสร็จโดยสมบูรณ์ในวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ หลังจากนั้น สนข.จะเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาดำเนินการบูรณาการพื้นที่ต่อไป

โดย BRT จะมีทั้งหมด 16 สถานี เริ่มต้นจากสถานีกลางบางซื่อ วิ่งข้ามพวงรางด้วยทางวิ่งยกระดับบริเวณถนนกำแพงเพชร 6 เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนกำแพงเพชร2และเลี้ยวซ้ายเข้าถนนกำแพงเพชร 4 จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนกำแพงเพชร 3 แล้วจึงเลี้ยวเข้าพื้นที่ กม.11 เพื่อกลับเข้าสู่ถนนกำแพงเพชร 2 และวนกลับสถานีกลางบางซื่อ มีเส้นทางให้บริการประมาณ 10 กิโลเมตรทั้งสองทิศทาง ยกเว้นรอบสถานีกลางบางซื่อจะเดินรถทิศทางเดียว และเชื่อมโยงกับระบบขนส่งหลัก โดยออกแบบให้มีทางวิ่งพิเศษ (Exclusive Lane) ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ช่องทางด้านซ้ายสุดของแนวเส้นทาง และมีการติดตั้งคันกั้นเลนแยกออกต่างหากจากผิวจราจรปกติ โดยถนนกำแพงเพชร 2, 3, 4, 6 รวมทั้งถนนบริเวณ กม.11 จะแบ่งทางวิ่งพิเศษจากช่องทางเดินรถยนต์ส่วนบุคคลทิศทางละ 1 ช่องจราจร

สำหรับบริเวณทางแยกที่ BRT ตัดกระแสการจราจรจะมีการติดตั้งสัญญาณไฟจราจรพิเศษ เพื่ออำนวยความสะดวกและให้ความสำคัญแก่รถ BRT ก่อน โดยทิศทางอื่นจะเป็นสัญญาณไฟหยุด ซึ่งรูปแบบการเดินรถ BRT ที่ปรึกษานำเสนอภายใต้เงื่อนไขที่สถานีขนส่ง หรือ บขส. (หมอชิต 2) ย้ายออกไปจากพื้นที่ และจะเหลือเพียง บขส.ย่อย (ซึ่งจะมีรถขนาดใหญ่สุดไม่เกินมินิบัส ให้บริการเฉพาะการเดินรถเพื่อออกนอก กทม.ในรัศมีไม่เกิน 300 กม.) บนพื้นที่ 16 ไร่ (ที่ตั้งสถานีขนส่งผู้โดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก.ในปัจจุบัน) โดย ขสมก.จะย้ายไปอยู่ใต้ทางด่วนด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะสามารถเข้าออกจากพื้นที่ด้านถนนกำแพงเพชรได้โดยสะดวก นอกจากนี้ยังมีศูนย์ซ่อมบำรุงบนเนื้อที่กว่า 7 ไร่

สำหรับมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในช่วงระหว่างการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนรอง เช่น ด้านการคมนาคมขนส่ง จะต้องออกแบบและบริหารจัดการจราจรให้ชัดเจนเพียงพอและเหมาะสม เพื่อไม่ก่อผลกระทบการจราจรในด้านลบทั้ง ด้านการระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุง ต้องมีบ่อหน่วงน้ำที่มีขนาดเหมาะสมตามมาตรฐานของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) อีกทั้งกำหนดให้หน่วงน้ำไว้ในบริเวณไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง และต้องทำการบำรุงรักษาช่องทางระบายน้ำอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้การระบายน้ำในพื้นที่โครงการมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ยังได้มีการนำเสนอผลสรุปการเชื่อมต่อการเดินทางบริเวณย่านศูนย์กลางคมนาคมในพื้นที่ โดยการเสนอรูปแบบทางเดินเชื่อมต่อ (แนวตะวันออก-ตะวันตก) แบบยกระดับ (Skywalk) ระหว่างสถานีกลางบางซื่อ-สถานี BTS หมอชิต/สถานี MRT จตุจักร ซึ่งได้ออกแบบเป็นโครงสร้างสะพานทางเดินเหล็ก กว้าง 6 เมตร ระยะทาง 1.27 กม. และทางเดินเชื่อมต่อระดับพื้นดิน (แนวเหนือ-ใต้) ระหว่างถนนกำแพงเพชร-สถานีย่อย บขส. โดยออกแบบให้มีขนาดทางกว้าง 9 เมตร มีช่องทางเดินรถ 1 ช่องทาง พร้อมด้วยทางเดินเท้า ทางจักรยานและการปรับปรุงภูมิทัศน์ โดยแนวถนนใหม่นี้กำหนดตามแนวขอบแปลงที่ดินเพื่อการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ (แปลง D) ซึ่งผู้รับสัมปทานพัฒนาแปลงที่ดินต้องรับภาระค่าใช้จ่ายพัฒนาแนวแกนทางเดินเชื่อมต่อหลักทั้ง 2 แกนดังกล่าวด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น