xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์คมนาคมพหลโยธินเนื้อหอม “เอกชนไทย-ญี่ปุ่น” สนใจร่วมลงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โปรเจกต์ “ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน” เนื้อหอม เอกชนไทย-ญี่ปุ่น สนร่วมลงทุน สนข.เตรียมสรุปผลศึกษา แผนแม่บทหลัก ใน ก.ค. ชงคมนาคมเสนอ คจร.เดือน ก.ย.นี้ ตั้งเป้าเปิดแปลง A และ D พัฒนาก่อน เร่งเปิด Sky Walk เชื่อมสถานีกลางบางซื่อ-BTS (หมอชิต)-MRT (จตุจักร) ปี 62 ส่วน BRT คาดเปิดได้ปี 65 ผอ.สนข.เผยระยะเช่ายาวจูงใจนักลงทุน

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สนข.ได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาออกแบบรายละเอียดศูนย์คมนาคมพหลโยธิน และการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธินในพื้นที่ 2,325 ไร่ และต้นแบบการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางคมนาคม ซึ่งจะสรุปร่างผลการศึกษาความเหมาะสม ผลการวิเคราะห์ด้านจราจร การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน และการพัฒนาเชิงพาณิชย์ รูปแบบการลงทุนทผลตอบแทนต่างๆ เป็นกรอบแผนแม่บทได้ในเดือน ก.ค.นี้ เพื่อนำเสนอกระทรวงคมนาคมต่อไป จากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เห็นชอบในเดือน ก.ย.นี้ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

โดยเบื้องต้น แบ่งพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์ออกเป็น 4 แปลง โดยแปลง A มีพื้นที่ 35 ไร่, แปลง B พื้นที่ 78 ไร่, แปลง C พื้นที่ 105 ไร่, แปลง D พื้นที่ 87.5 ไร่ ซี่งจากการจัดสัมมนา Market Sounding มีภาคเอกชนไทยและต่างประเทศให้ความสนใจร่วมลงทุนพัฒนา เช่น กลุ่มเซ็นทรัลฯ รวมถึงเอกชนญี่ปุ่นที่มีความเชี่ยวชาญการพัฒนาเชิงพาณิชย์ในและรอบสถานีรถไฟ (TOD) โดยคาดว่ามูลค่าลงทุนของแต่ละแปลงจะไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท ซึ่งจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นเจ้าของพื้นที่ จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน โดยระยะเวลาในการเช่าพัฒนาพื้นที่จะต้องพิจารณาความเหมาะสมและแรงจูงใจ เพราะหากสั้นไปเอกชนอาจมองว่าไม่คุ้มค่าได้

ทั้งนี้ สนข.จะต้องศึกษาเพื่อจัดสรรการพัฒนาพื้นที่แต่ละแปลง ซึ่งจะมีทั้งที่อยู่อาศัย โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ ให้เหมาะสม ภายใต้แนวคิดการพัฒนา “ศูนย์กลางมหานครแห่งใหม่ระดับ ASEAN” เพื่อส่งเสริมให้สถานีขนส่งมวลชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ส่งเสริมการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ (Non - Motorized Transport) และลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ทั้งนี้ การพัฒนาระบบคมนาคมการเดินทางต่างๆ จะต้องทำควบคู่กับการพัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อทำให้พื้นที่มีศักยภาพสูงสุด โดยศูนย์พหลโยธินถือเป็นพื้นที่แปลงใหญ่ของ กทม.และเป็นศูนย์กลางระบบขนส่ง มีสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะมีรถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูง และรถไฟฟ้าสีน้ำเงินวิ่งเข้ามา

ขณะที่ในพื้นที่จะมีการศึกษาออกแบบระบบขนส่งเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางภายด้วยรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) ระยะทาง 15 กม. มี 16 สถานี ค่าลงทุนประมาณ 100 กว่าล้านบาทต่อ กม. โดยอยู่ระหว่างสรุปรูปแบบลงทุนว่าควรจะเป็นรัฐหรือเอกชน หรือรัฐลงทุนบางส่วน เนื่องจากเป็นบริการที่อาจจะไม่คุ้มทุนมากนัก คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2565 และคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการไม่น้อยกว่า 14,977 คนต่อวัน

นอกจากนี้ จะมีทางเดินยกระดับ (Sky Walk) เชื่อมแนวตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งจะเชื่อมต่อระหว่างสถานีกลางบางซื่อกับสถานีรถไฟฟ้า BTS (หมอชิต) สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT (จตุจักร) ระยะทางประมาณ 1.2-1.3 กม. โดยจะให้ผู้พัฒนาแปลง D เป็นผู้ลงทุน Sky Walk ซึ่งควรจะเร่งดำเนินการเพื่อให้เปิดพร้อมกับสถานีกลางบางซืิ่อ ปี 2562 โดยทางเชื่อมต่อระหว่างสถานีกลางบางซื่อ ไปยังสถานีรถไฟฟ้าหมอชิต และสถานีรถไฟใต้ดินจตุจักรเป็นทางเดินยกระดับโดยออกแบบเป็นทางเดินเปิดโล่ง ประมาณ 1 กิโลเมตร และเป็นทางเดินแบบปรับอากาศ ระยะทางประมาณ 300 เมตร และพื้นที่ใต้ทางเดินยกระดับได้ออกแบบให้ใช้เป็นทางเดินเท้าและทางจักรยานเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ โดยสามารถรองรับผู้ใช้บริการได้ประมาณ 37,000 คน/วัน ในปี 2580 นอกจากนี้ได้ออกแบบทางเดินระดับดิน เชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินกำแพงเพชรจนถึงสถานีย่อย บขส.หมอชิต 2 สามารถรองรับผู้ใช้บริการได้ประมาณ 5,000 คน/วัน ในปี 2580

อย่างไรก็ตาม จะพัฒนาแปลง A ก่อนเนื่องจากพื้นที่ติดถนน มีศักยภาพสูงสุด และแปลง D จะเริ่มพร้อมๆกันเนื่องจากเป็นส่วนของ Sky Walk ที่จะเชื่อมการเดินทางระหว่างสถานีกลางบางซื่อกับ BTS และ MRT ซึ่งจะเกิดการกระตุ้นในการพัฒนาแปลงอื่นต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น