xs
xsm
sm
md
lg

ลงทุนยาว! ไฮสปีดฯ คืนทุน 50 ปี ไทยแบ่งสร้าง “กรุงเทพ-พิษณุโลก” ตอกเข็มปี 61

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อาคม” หารือ รมต.ญี่ปุ่นเร่งศึกษารถไฟความเร็วสูงจบ ต.ค.-พ.ย. 59 ออกแบบปี 60 ตั้งเป้าตอกเข็มในปี 61 สรุปแบ่งเฟสก่อสร้างช่วงแรกกรุงเทพฯ-พิษณุโลกก่อน เผยระยะคืนทุน 50 ปี เหตุผลตอบแทนการเงินดีกว่าสร้างรวดเดียวถึงเชียงใหม่ ชี้พิษณุโลกมีจุดแข็งมีจังหวัดรอบข้างและแหล่งท่องเที่ยวช่วยส่งต่อผู้โดยสารได้ พร้อมแยกพัฒนาพื้นที่รอบสถานีหนุนอีกทาง และ MOU ญี่ปุ่นด้านความปลอดภัยทางถนนหวังลดสถิติอุบัติเหตุของไทย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านคมนาคม ร่วมกับ นายเคอิจิ อิชิอิ (H.E. Keiichi Ishii) รัฐมนตรีกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น หัวหน้าคณะฝ่ายญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ว่า กรอบความร่วมมือในการพัฒนาระบบราง ในส่วนของรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 672 กม.นั้น ทางญี่ปุ่นได้รายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเบื้องต้น โดยจะแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ตอน คือ กรุงเทพฯ-พิษณุโลก และพิษณุโลก-เชียงใหม่ โดยพบว่า แนวทางที่มีความเหมาะสมแบ่งการก่อสร้างในระยะแรก ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทางประมาณ 380 กม.ก่อน เนื่องจากมีความเป็นไป และมีผลตอบแทนของโครงการดีกว่าการก่อสร้างพร้อมกันทั้งโครงการไปถึงเชียงใหม่ โดยเห็นว่าสามารถพัฒนาที่รอบสถานีและสองข้างทางได้ อีกทั้งพิษณุโลกยังมีจังหวัดรอบๆ ที่สามารถส่งต่อผู้โดยสารเข้ามาเสริมต่อรถไฟความเร็วสูงได้ มีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและการเงินได้

ทั้งนี้ การลงทุนรถไฟความเร็วสูงนั้นมีผลตอบแทนทางการเงินค่อนข้างต่ำ และใช้เวลาในการคืนทุนประมาณ 50 ปี เพราะขนส่งเฉพาะผู้โดยสาร แตกต่างจากรถไฟทั่วไปที่ขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้า ดังนั้นการลงทุนนอกจากมองในเรื่องเส้นทาง และการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มจำนวนผู้โดยสารแล้ว จำเป็นต้องพัฒนาพื้นที่รอบสถานี และพื้นที่สองข้างทางเพื่อนำรายได้มาสนับสนุนการลงทุนอีกทางหนึ่ง ซึ่งแนวทางจะแยกออกมาพัฒนาพื้นที่ออกจากการลงทุนโครงสร้าง และเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน โดยรัฐนำส่วนแบ่งรายได้มาสนับสนุนรถไฟความเร็วสูง

“ทางญี่ปุ่นจะสรุปผลการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของโครงการในเดือน ต.ค.-พ.ย. 2559 จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการออกแบบอีก 1 ปี (2560) จากนั้นจึงจะพิจารณารูปแบบการลงทุน ซึ่งถือว่าเร็วมากที่ศ฿กษาความเหมาะสมแค่ 1 ปีออกแบบ 1 ปี และไทยตั้งเป้าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2561 เพราะระบบรถไฟชินคันเซ็นของญี่ปุ่นศึกษาความเป็นไปได้ถึง 3 ปี ออกแบบอีก 2 ปี รวม 5 ปีถึงจะได้เริ่มก่อสร้าง วันนี้เราเร่งญี่ปุ่นมากแล้ว” นายอาคมกล่าว

ส่วนการพัฒนาเส้นทางรถไฟตามแนวเศรษฐกิจด้านใต้ กาญจนบุรี-แหลมฉบัง-อรัญประเทศ ฝ่ายไทยได้ขอให้ญี่ปุ่นเร่งศึกษาแผนการพัฒนาเส้นทางเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ รวมถึงเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากฝั่งกัมพูชาได้มีการก่อสร้างทางรถไฟไปถึงศรีโสภณ จะแล้วเสร็จในสิ้นปี 2559 ซึ่งจะสามารถเริ่มเดินรถเชื่อมต่อจากไทย-กัมพูชาได้ปลายปีนี้เช่นกัน

ขณะที่การขนส่งสินค้าทางรถไฟ ซึ่งได้เปิดให้บริการขนส่งคอนเทนเนอร์ขนาดเล็กสำหรับการขนส่งภายในประเทศ เส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ ในเส้นทางรถไฟสายเหนือ และสายตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2559 และตั้งสำนักงานส่งเสริมเพื่อเตรียมการสำรวจและพัฒนาการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ณ กรุงเทพฯ เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ทั้งสองฝ่ายจะเร่งรัดสำรวจรายละเอียดการดำเนินการให้บริการขนส่งสินค้ารูปแบบใหม่ เพื่อให้ได้ข้อสรุปสำหรับการให้บริการขนส่งสินค้า

ส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ฝ่ายไทยได้ขอให้ญี่ปุ่นเร่งศึกษาความเป็นไปได้โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ด้านตะวันออก ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม และด้านตะวันตกจาก แม่สอด-ตาก-นครสวรรค์ ซี่งยังขาดการศึกษาในบางช่วงที่ญี่ปุ่นจะมาช่วยเหลือ

นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางถนน ซึ่งไทยมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุอยู่ในอันดับ 2 ของโลก ขณะที่ญี่ปุ่นเคยมีประสบการณ์การเกิดอุบัติเหตุบนถนนมาก แต่สถิติลดลงถึง 50% ภายใน 10 ปี หรือจากผู้เสียชีวิตจาก 4 หมื่นคนเหลือ 1.6 หมื่นคน ดังนั้น ประสบการณ์ของญี่ปุ่นจะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาของไทย ซึ่งฝ่ายไทยได้ขอให้ญี่ปุ่นจัดส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษากับไทยเพื่อดำเนินการให้ทันในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560

นอกจากนี้ ได้ขอให้ญี่ปุ่นศึกษาการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยรอบสถานีกลางบางซื่อ นอกเหนือจากผลการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เพื่อนำผลการศึกษาฯ เสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น