xs
xsm
sm
md
lg

นวัตกรรมแก้มลิงอีสาน เกษตรกรทำกินมั่นคงในฤดูแล้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


การขาดแคลนน้ำจนถึงขั้นทำนาไม่ได้ถึง 3 ฤดูติดต่อ ได้แก่ นาปรังฤดูกาลผลิต 2557/2558 นาปี 2558 และนาปรัง 2558/2559 เป็นประจักษ์สัญญาณว่าเป็นภัยแล้งแน่นอน

ฤดูแล้ง 2558/2559 เริ่มจากวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 - 30 เมษายน 2559 ภาวะขาดแคลนน้ำเกิดขึ้นไม่เฉพาะแต่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด หากยังรวมจังหวัดในภาคเหนือ อีสาน และใต้ด้วย เว้นภาคตะวันออกที่น้ำสมบูรณ์กว่าภาคอื่น

“ภัยแล้ง” ตามนิยามของกรมอุตุนิยมวิทยา หมายถึง ภัยอันเกิดจากการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเวลานาน จนส่งผลกระทบต่อชุมชน ภัยแล้งในประเทศไทยเกิดจากฝนแล้งและฝนทิ้งช่วง ซึ่งล้วนมีความหมายเดียวกันคือปริมาณฝนน้อย จนก่อเกิดสภาพการขาดแคลนน้ำ ทั้งการเกษตร การอุปโภคบริโภค การอุตสาหกรรมกรรม และ ฯลฯ

จริงอยู่ ในภาวะที่มีน้ำต้นทุนต่ำ กรมชลประทานได้กำหนดหลักเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำ โดยเรียงลำดับความสำคัญจากการอุปโภค การเกษตร การอุตสาหกรรม แต่หากแล้งหนักๆ มีสิทธิกระทบต่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญที่สุดก็เป็นได้

ภาวะแล้งเกิดขึ้นหลายครั้งและเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก อันเป็นผลมาจากการเพิ่มจำนวนประชากรโลกมากถึงกว่า 7,000 ล้านคนนั่นเอง

ในแต่ละช่วง 1,000 ล้านคนของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น กินเวลาสั้นลง ดังนั้นจำนวนประชากรโลกที่ต้องบริโภคมากขึ้น จึงหมายถึงการเบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติโลกไปในตัวด้วยการบุกรุกป่า การเผาป่า การจับปลา การใช้สารเคมี รวมถึงการใช้น้ำเพื่อผลิตอาหารจากพืชผลการเกษตร และ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ใช้มากเกินไปทั้งสิ้น

การรับมือกับสถานการณ์แล้งในปี 2559 ไม่มีอื่นใดนอกจากประหยัดน้ำทันทีอย่างเดียวและในทุกด้าน นอกจากนั้นยังต้องเร่งเตรียมการรับอนาคต เช่น เร่งพัฒนาแหล่งน้ำทุกรูปแบบ ตั้งแต่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ไปจนถึงสระเก็บน้ำ แก้มลิง เพื่อรอฝนใหม่ในปี 2559 ในช่วง 1 พฤษภาคม - 15 ตุลาคมของปี

ว่าที่ ร.ต.ไพเจน มากสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มอบหมายให้กรมชลประทานดำเนินการขุดแก้มลิง 30 แห่ง ใน 5 จังหวัดภาคอีสาน ได้แก่ หนองคาย 6 แห่ง นครพนม 9 แห่ง เลย 3 แห่ง บึงกาฬ 4 แห่ง และมุกดาหาร 8 แห่ง เพื่อกักเก็บน้ำเหล่านี้ในฤดูฝนก่อนไหลลงแม่น้ำโขง โดยมีความจุรวมกว่า 12 ล้านลูกบาศก์เมตร และช่วยเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกได้กว่า 14,000 ไร่

จากการติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาขุดลอกแก้มลิงในพื้นที่ จ.นครพนม พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในสภาพแล้วเสร็จเกือบ 100% ซึ่งงานพัฒนาดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าแก้มลิงธรรมชาติเป็นอย่างมาก หากลองนึกภาพจะเห็นว่า แก้มลิงธรรมชาติคือพื้นที่ลุ่มต่ำ เมื่อฤดูน้ำหลากพื้นที่เหล่านี้จะเป็นที่รองรับน้ำ แต่ก็ชั่วขณะเดียวเท่านั้น เมื่อน้ำลดลงน้ำในแก้มลิงก็จะพลอยลดตามไปด้วย เหลือเฉพาะส่วนที่เก็บกักระดับดินตามสภาพ เมื่อเกษตรกรใช้กันมากๆ ก็ไม่พอกับความต้องการและถึงสภาพขาดแคลน

แต่เมื่อใช้กระบวนการทางชลประทาน ไม่เพียงแต่ขุดแก้มลิงให้มีความลึกมากขึ้น เก็บกักน้ำได้มากขึ้นเท่านั้น กรมชลประทานยังก่อสร้างคันกั้นน้ำเป็นเรื่องเป็นราว ขุดพื้นที่ใหม่ในแก้มลิงให้เก็บกักน้ำได้อีก หรือเชื่อมโยงน้ำในระหว่างแก้มลิงตามจุดต่างๆ เพื่อให้เป็นแก้มลิงที่มีประสิทธิมากมากขึ้น ตอบสนองความต้องการของราษฎรในพื้นที่ได้ นอกจากน้ำเพื่อการเกษตรแล้ว ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้เลย บางแห่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาสร้างอาคารรองรับการท่องเที่ยว รวมทั้งการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ เพิ่มอาชีพการประมง

สำหรับพื้นที่แก้มลิงภาคอีสานจะใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ในช่วงฤดูแล้ง จากแก้มลิงที่มีน้ำเก็บกัก สามารถทำกินได้ในช่วงนี้ แค่หากขาดแคลนน้ำก็เท่ากับหมดโอกาสในการเพาะปลูกทั้งปี เพราะในฤดูน้ำหลากพื้นที่บริเวณแก้มลิงน้ำท่วมจนพืชผลเสียหายเป็นประจำ การมีแก้มลิงที่พัฒนาปรับปรุงอย่างเป็นระบบเช่นนี้จะทำให้เกษตรกรทำกินในฤดูแล้งได้เต็มที่ ชดเชยกับฤดูฝนที่เสียหาย

“เป็นการสร้างความมั่นคงด้านน้ำขึ้นมาอย่างชัดเจนในระดับพื้นที่ ในแต่ละแห่งปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นจากสภาพธรรมชาติเป็นเท่าตัว ในอนาคตแก้มลิงบางแห่งอาจเพิ่มสถานีสูบเพื่อให้การเข้าถึงน้ำดีขึ้น ช่วยให้เกษตรกรทำกินได้สะดวกยิ่งขึ้น” ว่าที่ ร.ต.ไพเจนกล่าว

นอกจากนั้น แก้มลิงในบางแห่งยังจะเป็นแหล่งประปาสำหรับรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษในอนาคต เช่นแก้มลิงบ่อบึก อ.เมืองนครพนม ความจุ 720.000 ลูกบาศก์เมตร ก็เป็นส่วนหนึ่งสำหรับรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.นครพนม ที่จะสร้างในระยะที่สอง

ว่าที่ ร.ต.ไพเจนกล่าวว่า แก้มลิงเหล่านี้จะเป็นแม่แบบให้พื้นที่อื่นที่ไม่มีแหล่งน้ำชลประทานได้นำไปพิจารณาวางแผนใช้ประโยชน์จากแก้มลิงให้มากขึ้น และเป็นรูปธรรมตามไปด้วย ในส่วนของกรมชลประทานเองก็ได้ศึกษา และมีแผนการขยายการพัฒนาแก้มลิงในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ราษฎรพื้นที่เหล่านั้นสามารถพึงพาตนเองด้านน้ำได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งแก้ปัญหาน้ำในระดับพื้นที่

“ถ้ามีน้ำ ราษฎรก็ไม่ลำบาก อย่างน้อยทำกินได้ ไม่อด และยิ่งได้ศึกษา และปรับเป็นการปลูกพืชใช้น้ำน้อยด้วยก็จะเพิ่มโอกาสในการทำกินมากขึ้น” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น