ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - จับตาโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังหีบ จ.นครศรีธรรมราช อีกหนึ่งประเด็นร้อน ชาวบ้านตั้งกลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำเขาเหมน-วังหีบ เดินหน้าคัดค้านโครงการ แนะหากอยากได้น้ำให้รักษาป่า ขณะข้อมูลระบุชัดโครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบ กระทบพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ เผยผลจัดทำ EIA รอบแรกไม่ผ่านการอนุมัติจาก คชก. นักพัฒนาเอกชนแฉรัฐอำพรางความจริงอ้างแก้ปัญหาน้ำท่วม-ขาดแคลนน้ำ แท้จริงมุ่งจัดหาน้ำดิบรองรับนิคมอุตสาหกรรม
โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังหีบ ซึ่งกรมชลประทานกำหนดจะก่อสร้างในพื้นที่หมู่ที่ 1 บ้านสระแก้ว และหมู่ที่ 5 บ้านคอกช้าง ต.นาหลวงเสน อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช กำลังเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าจับตามอง เมื่อชาวบ้าน และประชาชนจำนวนมากไม่เห็นด้วยต่อการก่อสร้างโครงการนี้ เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างอยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สำคัญของภาคใต้
โดยประชาชนในกลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำเขาเหมน-วังหีบ นครศรีธรรมราช ได้เริ่มรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนคัดค้านโครงการนี้ผ่านทางสังคมออนไลน์ หลังจากภาครัฐมีการขยับเพื่อผลักดันโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังหีบอีกครั้ง
โดยกลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำเขาเหมน-วังหีบฯ ได้เผยแพร่ภาพถ่ายของป่าต้นน้ำบริเวณที่จะมีการสร้างอ่างเก็บน้ำ ซึ่งพบว่า สภาพพื้นที่เป็นป่าทึบค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ เป็นจุดกำเนิดสายน้ำ และลำธารหลายสาย ซึ่งสภาพเหล่านี้จะถูกทำลายไปหากมีการสร้างอ่างเก็บน้ำ พร้อมรณรงค์ติดแฮชแท็ก #อยากได้น้ำต้องสร้างป่า หยุดเขื่อนวังหีบ-ทุ่งสง
ด้าน นายกัมพล จิตตะนัง ผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำเขาเหมน-วังหีบฯ โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขาว่า “ที่นี่! กำลังจะจมอยู่ใต้เขื่อนวังหีบ ฉันกับชาวบ้าน 100 กว่าคนตกลงใจจะปกป้องที่นี่ไว้ให้คนรุ่นต่อไป แต่เราไม่มีทางทำได้สำเร็จ โครงการ 1,600 ล้านบาทหยุดมันได้ไม่ง่ายนัก นอกจากคุณจะลุกขึ้นมาช่วยเรา #หากเราร่วมกันต่อสู้ก็มีโอกาสชนะ”
*** เปิดที่มาโครงการ “อ่างเก็บน้ำวังหีบ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 10 โครงการวังหีบ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า โครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2533 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพภูมิประเทศบริเวณที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำกะลูแป ต.เตราะบอน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี
ข้อมูลกรมชลประทาน ระบุว่า พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทานในพื้นที่ต่างๆ ทั้งได้ทรงรับสั่งให้กรมชลประทาน พิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำปิดกั้นคลองวังหีบ และอ่างเก็บน้ำสาขาด้วย ที่บริเวณบ้านนาหลวงเสน และบ้านนาประดิษฐ์ ตลอดจนฝายทดน้ำต่างๆ ในเขต อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ตามที่ราษฎรได้กราบบังคมทูลพระราชทาน และกรมชลประทานได้มอบหมายให้กองวางโครงการ (ปัจจุบัน คือ สำนักบริหารโครงการ) ดำเนินการศึกษาวางโครงการ
หลังจากนั้น กรมชลประทาน โดยกองวางโครงการ ได้ศึกษาจัดทำรายงานเบื้องต้นขึ้นเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2536 เพื่อกำหนดขอบเขตของงานสำรวจข้อมูลพื้นฐานในการศึกษารายละเอียดโครงการฯ และภายหลังจากได้รับข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง จึงได้ศึกษา และจัดทำรายงานวางโครงการ (Pre-feasibility Report : PR) แล้วเสร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2541
แต่จากการศึกษาพบว่า ถ้าหากต้องการเก็บกักน้ำให้เต็มศักยภาพ บริเวณพื้นที่น้ำท่วมของอ่างเก็บน้ำจะเข้าเขตพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2532 มิให้ส่วนราชการ หรือหน่วยงานใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ไม่ว่ากรณีใดๆ จึงส่งผลให้โครงการวังหีบต้องลดระดับเก็บกักน้ำลงมาทำให้เก็บน้ำได้ในปริมาณที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำท่าที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ ทำให้ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำได้
ต่อมา เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2546 ได้มีมติคณะรัฐมนตรี ผ่อนผันการขอใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ให้ดำเนินการศึกษาโครงการได้ แต่ต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ดังนั้น กรมชลประทานจึงได้ดำเนินงานโดยศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการวังหีบ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีตามมติดังกล่าว
สำหรับที่ตั้งโครงการวังหีบ เป็นการก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำขนาดกลาง ปิดกั้นคลองวังหีบ บริเวณหมู่ที่ 1 บ้านสระแก้ว และหมู่ที่ 5 บ้านคอกช้าง ต.นาหลวงเสน อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช วัตถุประสงค์ของโครงการวังหีบ 1.เพื่อใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้เพื่อการเพาะปลูกทั้งในฤดูฝน และฤดูแล้ง 2.เพื่อใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคของราษฎร และสัตว์เลี้ยงที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่โครงการ และใกล้เคียง 3.เพื่อใช้เป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำจืดให้ราษฎรได้ใช้บริโภค และมีรายได้เสริมจากการจับสัตว์น้ำ
4.เพื่อช่วยบรรเทาอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่เกษตรกรรมบริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ 5.ใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของราษฎรที่อาศัยบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่โครงการ
*** พื้นที่ก่อสร้างโครงการกระทบหมู่บ้าน-ป่าลุ่มน้ำชั้น 1 เอ
กรมชลประทาน ระบุว่า โครงการวังหีบ เป็นการก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำขนาดกลาง ปิดกั้นคลองวังหีบ บริเวณหมู่ที่ 1 บ้านสระแก้ว และหมู่ที่ 5 บ้านคอกช้าง ต.นาหลวงเสน อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภคในเขตตำบลนาหลวงเสน ตลอดจนมีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะปล่อยลงคลองวังหีบ โดยจะมีการบริหารจัดการน้ำในคลองวังหีบ เพื่อส่งน้ำให้ทั้งสองฝั่งของคลองวังหีบ ในเขต ต.นาหลวงเสน ต.หนองหงส์ ต.ควนกรด และ ต.นาไม้ไผ่ รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำดิบสำรองเพื่อใช้ในกิจกรรมของสำนักงานประปาทุ่งสง นอกจากนั้น ในบริเวณพื้นที่อ่างจะเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และประมงพื้นบ้านในบริเวณรอบอ่าง ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยว และพักผ่อนหย่อนใจของราษฎรในบริเวณพื้นที่โครงการ และจากนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือนด้วย
ข้อมูลในรายงานการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการวังหีบ จังหวัดนครศรีธรรมราช (กรมชลประทาน, 2552) ระบุผลประโยชน์ของโครงการวังหีบ พื้นที่รับประโยชน์ (เพื่อการเกษตร) มีพื้นที่ 13,014 ไร่ ซึ่งครอบคลุม 24 หมู่บ้าน ใน 4 ตำบล คือ ต.นาหลวงเสน ต.หนองหงส์ ต.ควนกรด และ ต.นาไม้ไผ่ หมู่บ้านรับประโยชน์ (เพื่อการอุปโภคบริโภค) ครอบคลุม 20 หมู่บ้าน ใน 3 ตำบล คือ ต.นาหลวงเสน ต.หนองหงส์ และ ต.นาไม้ไผ่
แต่ผลกระทบของโครงการ ประกอบด้วย ผลกระทบต่อการชดเชยที่ดินและทรัพย์สินของราษฎร การชดเชยที่ดินและทรัพย์สินในพื้นที่อ่างเก็บน้ำคลองวังหีบ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม 1.การชดเชยที่ดิน ที่ดินของประชาชนในบริเวณพื้นที่องค์ประกอบโครงการ ได้แก่ พื้นที่หัวงาน พื้นที่อ่างเก็บน้ำ ฝายในคลองวังหีบ รวมทั้งแนวท่อส่งน้ำ และถนนทดแทน มีเนื้อที่รวมทั้งหมด 419 ไร่ คิดเป็นค่าชดเชยที่ดินประมาณ 16.760 ล้านบาท 2.การชดเชยอาคารและสิ่งปลูกสร้าง มีอาคารและสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่หัวงานและอ่างเก็บน้ำ รวมจำนวน 28 หลัง ซึ่งจำแนกเป็นบ้าน จำนวน 27 หลัง และโรงรีดยาง จำนวน 1 หลัง โดยมีผู้ถือครอง จำนวน 27 ราย รวมเป็นค่าชดเชยทั้งสิ้น 9.049 ล้านบาท 3.การชดเชยพืชผลทางการเกษตร มีไม้ยืนต้นและไม้ผลในพื้นที่หัวงาน และอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งบริเวณถนนทดแทน ชนิดพืช ได้แก่ ยางพารา เงาะ ทุเรียน มังคุด เป็นต้น คิดเป็นค่าชดเชยพืชผลทางการเกษตรทั้งสิ้นประมาณ 37.437 ล้านบาท
สำหรับราคาโครงการระบุในรายงานการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการวังหีบ จังหวัดนครศรีธรรมราช (กรมชลประทาน, 2552) โครงการนี้มีราคา 1,403.145 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำเขาเหมน-วังหีบ นครศรีธรรมราช ระบุว่าโครงการนี้น่าจะใช้งบประมาณแผ่นดินในการก่อสร้างสูงถึง 1,600 ล้านบาท
*** เผยผลจัดทำ EIA รอบแรก คชก.มีมติไม่เห็นชอบ
ขณะเดียวกัน พบว่าพื้นที่น้ำท่วมบางส่วนอยู่ในเขตชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ซึ่งเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กรมชลประทาน ได้ว่าจ้างบริษัท ซิกม่า ไฮโดร คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ครีเอทีฟ เทคโนโลยี จำกัด จัดทำรายงานศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม (FS & EIA) แล้วเสร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2522 และจัดส่งรายงานให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) นำสู่การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.) เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2553 โดย คชก. มีมติ “ยังไม่เห็นชอบ” ต่อรายงานฯ เนื่องจากยังมีประเด็นที่ติดค้าง 17 ประเด็นหลัก รวม 21 ประเด็นย่อย โดยให้กรมชลประทาน ปรับปรุงรายงานตามข้อคิดเห็นเพิ่มเติม
ต่อมา เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2557 กรมชลประทาน ได้เสนอรายงานชี้แจง ครั้งที่ 1 เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ คชก.อีกครั้ง โดยมีมติให้กรมชลประทาน พิจารณาปรับปรุงแก้ไขและเพิ่มเติมข้อมูลให้ชัดเจน และให้เป็นปัจจุบัน (เนื่องจากรายงานฯ ได้ศึกษาแล้วเสร็จตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552) ได้แก่ ประเด็นสังคมและการมีส่วนร่วม การชดเชยทรัพย์สิน สภาพเศรษฐกิจและสังคม ความต้องการใช้น้ำ การใช้ประโยชน์ที่ดิน ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า เศรษฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
โดยกรมชลประทาน ได้ดำเนินการจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาเดิม โดยวิธีตกลง เพื่อดำเนินการทบทวนและสำรวจเพิ่มเติม โครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการวังหีบ จังหวัดนครศรีธรรมราช (ด้านเศรษฐกิจ สังคม และการมีส่วนร่วม) ตามสัญญาจ้างเลขที่ จ.38/2557 (กสพ.) ลงวันที่ 28 พ.ค.2557 โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 90 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2557 จนถึงวันสิ้นสุดสัญญา ในวันที่ 6 กันยายน 2557
ซึ่งกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาได้ดำเนินการจัดประชุมทบทวนรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เมื่อวันที่ 20-21 เม.ย.2557 และ 25-26 เม.ย.2557 จัดกิจกรรมพากลุ่มผู้ได้รับผลกระทบเข้าศึกษาดูงานโครงการอ่างเก็บน้ำกระทูน จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2557 การศึกษาและสำรวจเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ ได้แก่ การใช้ประโยชน์ที่ดิน เศรษฐกิจและสังคม การชดเชยที่ดินและทรัพย์สิน ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ถนนทดแทน เป็นต้น
โดยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาได้ดำเนินการจัดทำรายงานชี้แจง ครั้งที่ 2 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2557 และสำนักบริหารโครงการได้ดำเนินการจัดประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมโดยคณะทำงานเตรียมความพร้อมและติดตามการพิจารณารายงานฯ เพื่อนำเสนอรายงานชี้แจงดังกล่าวต่อ สผ. เข้าสู่การพิจารณาของ คชก.อีกครั้ง
และเมื่อ 14 สิงหาคม 2558 คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านพัฒนาแหล่งน้ำ ครั้งที่ 2/2558 ได้ประชุมและมีมติเห็นชอบต่อรายงาน โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ให้ชี้แจงรายงานด้านต่างๆ เพิ่มเติม ได้แก่ ด้านสังคมและการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้านสาธารณสุข ด้านธรณีวิทยา และด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม
*** แฉรัฐอ้างสร้างเขื่อนเพื่อการเกษตร แท้จริงหวังหาน้ำดิบป้อน “อุตสาหกรรม”
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวซึ่งเป็นนักพัฒนาเอกชนใน จ.นครศรีธรรมราช ระบุว่า โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังหีบ เป็นอีก 1 โครงการที่ภาครัฐพยายามอ้างความต้องการ และความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่เพื่อผลักดันโครงการนี้ให้สำเร็จ
แต่กลับพบว่า โครงการนี้ไม่แตกต่างจากโครงการก่อสร้างเขื่อน และอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคใต้จำนวนมากตามแผนของภาครัฐที่อยู่ในส่วนหนึ่งของโครงการเมกะโปรเจกต์ในส่วนของการจัดสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน คือ แหล่งน้ำดิบไว้รองรับนิคมอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากนี้ โดยข้อมูลเหล่านี้มีระบุไว้ชัดเจนในแผนพัฒนาภาคใต้ซึ่งทราบกันดีในกลุ่มนักพฒนาเอกชนและนักวิชาการอิสระที่ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
“ประเด็นสำคัญคือ ภาครัฐต้องการให้ภาคใต้เป็นฐานอุตสาหกรรมลำดับต่อมา หลังจากนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ไม่สามารถขยับขยายได้อีกต่อไป ทุกอย่างจึงมาลงที่ภาคใต้ ทั้งท่าเรือน้ำลึกปากบารา ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และอ่างเก็บน้ำอีกจำนวนมาก ทั้งหมดนี้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมที่จะตามมา ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมหน้าภาคใต้ให้กลายเป็นเมืองเหมือนกับมาบตาพุดในตอนนี้ที่มีแต่ปัญหามลพิษไม่จบสิ้น กระทบต่อวิถีทำมาหากินของชาวบ้านอย่างมาก แต่เมื่อจะผลักดันโครงการ ภาครัฐกลับนำแต่ละโครงการมาแยกส่วนแล้วอ้างความต้องการ และความเดือดร้อนของประชาชน โดยไม่เปิดเผยความจริงทั้งหมดให้ทราบ เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ เพราะเท่ากับมีการพยายามบิดเบือนข้อมูลเพื่อทำทุกอย่างให้โครงการสำเร็จโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา” แหล่งข่าว กล่าว