xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวตามรอยในหลวงรัชกาลที่ ๙ “ไม่มีที่ใดบนผืนแผ่นดินไทย ที่พระองค์เสด็จไปไม่ถึง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตามโครงการพระราชดำริ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พระองค์ท่านทรงให้ความสำคัญเพื่อจะเข้าไปแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับพสกนิกรที่มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างยากลำบากตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ทรงครองราชย์ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และวันนี้ประชาชนในพื้นที่ต่างมีความอยู่ดี กินดี และมีความสุขถ้วนหน้า

โดยโครงการของพระองค์ท่าน ได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เพื่อการพักผ่อน เพื่อการศึกษาหาความรู้ ซึ่งแต่ละโครงการล้วนมีที่มาที่น่าสนใจ และจะได้สัมผัสถึงพระอัจฉริยภาพที่กว้างไกลอย่างหาที่เปรียบมิได้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สูงสุดตามยอดดอย จวบจน ใต้สุดของแผ่นดินไทย

ดังคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีที่ใดบนผืนแผ่นดินไทย ที่พระองค์เสด็จไปไม่ถึง”

และวันนี้เราสามารถเดินทางมาท่องเที่ยวและเรียนรู้ตามรอย ในโครงการพระราชดำริ ที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้จัดทำขึ้นเพื่อให้คนไทยและชาวโลกได้รับรู้ถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นตามภาคต่างๆ ไม่ว่า จะเป็นภาคกลาง เหนือ ใต้ และภาคอีสาน

เที่ยวตามรอย ใน 3 จังหวัดภาคเหนือ

•อ่างเก็บน้ำแม่ต๋ำหลวง จังหวัด ลำปาง เมืองงามในหุบเขา


ลำปาง คือเมืองในภูเขา ตัวเมืองมีรูปทรงเป็นแอ่งกระทะ หลังจากที่ชาวบ้านหมู่บ้านทุ่งกล้วย อำเภอเมืองลำปาง ประสบปัญหาเดือดร้อนขาดน้ำที่จะทำการเกษตรและน้ำใช้ ซึ่งน้ำแห้งขอดในฤดูแล้ง ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเห็นถึงปัญหา และ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ สร้างอ่างเก็บน้ำแม่ต๋ำหลวง ที่มีความจุ 770,000 ลูกบาศก์เมตร บนเนื้อที่ราว 100 ไร่ และหลังจากนั้น เมืองเล็กๆ ในหุบเขาก็มีความอุดมสมบรูณ์ และเป็นแหล่งน้ำให้ชาวบ้านได้กิน ได้ใช้ และใช้ในการประกอบอาชีพ ตั้งแต่นั้นมา

แต่ด้วยสภาพความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่มีปัญหาเรื่องตัดไม้ และถางป่าเพื่อทำการเกษตร ส่งผลให้การฟื้นฟูป่าจึงเป็นสิ่งสำคัญ ควบคู่กับการส่งเสริมอาชีพ

จึงมีการปลูกป่าเสริมตั้งแต่ปี 2535-2541 นอกจากไม้ยืนต้นอย่างต้นสัก ยังใช้วิธีปลูกป่าตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามหลักปลูกไม้ 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ไม้ผล ไม้สร้างบ้าน ไม้ฟืน และอีกอย่างคือ ได้ดิน และน้ำกลับคืนมา

ความเย็นสบายจากผืนป่า ที่ได้รับการฟื้นฟูอยู่ทั่วพื้นป่า รอบอ่างเก็บน้ำแม่ต๋ำหลวง เป็นอีกหนึ่งสัมผัสที่คนไทยน่าไปสัมผัส

•โครงการฟาร์มตัวอย่างตามแนวพระราชดำริแม่ต๋ำ อ.เสริมงาม จ.ลำปาง

“แหล่งผลิตอาหารที่คุณภาพ และปลอดภัย เหลือจากขาย ก็มาช่วยกันแปรรูป” ซึ่งเป็นผลผลิตจากโครงการฟาร์มตัวอย่างตามแนวราชดำริ โดยโครงการจะเป็นแปลงที่ราบ ปลูกพืชสีเขียวสด ที่มีทั้งพืชหมุนเวียน และพืชตามฤดูกาล และปลอดสารพิษ ไม่ว่าจะเป็น ฟักทองญี่ปุ่น, ผักกาดโชว์จิน, เห็ดนางฟ้าฎูฏาน, มะยงชิด แก้วมังกร และพืชสวนต่างๆ ขณะที่ในสระก็จะมีการเลี้ยงปลา ไม่ว่า จะเป็นปลาทับทิม ปลากดคัง ปลาดุกรัสเซีย ปลาสวาย เป็นต้น

•ศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำ ตามโครงการพระราชดำริ ที่จัดตั้งในปี 2527 เพื่อฝึกอบรม ทอผ้าฝ้าย ปั้นเครื่องปั้นดินเผา แกะสลักไม้ ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นงานเซรามิกที่ขึ้นชื่อ ซึ่งสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชาวบ้านมีความกินดีอยู่ดีขึ้น

นอกจากนี้ลำปางยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง เช่น วัดพระธาตุจอมปัง, เหมืองแม่เมาะ, วัดพระธาตุลำปาวหลวง, วัดทุ่งงามหลวง

•อ่างเก็บน้ำห้วยดึงเฒ่า จ.เชียงใหม่

เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2523 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมศูนย์เกษตรกรรมทหารฯ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อทรงทราบถึงปัญหาขาดแคลนน้ำ จึงมีพระราชดำริให้สร้างอ่างเก็บน้ำที่ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เวลาผ่านไป วันนี้อ่างเก็บน้ำห้วยดึงเฒ่า ไม่เพียงแต่จะเป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร แต่ยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยว

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้

จากพื้นที่ประมาณ 8,500 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม อันเกิดจากการลักลอบตัดไม้ อีกทั้งดินก็ถูกชะล้าง เหลือเพียงดินลูกรัง และหินกรวด เป็นผืนดินที่ไม่สามารถพัฒนา หรือ ปลูกอะไรได้เลย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเห็นปัญหา และทรงมีพระราชดำริก่อตั้ง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ เพื่อหารูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของภาคเหนือ โดยบางส่วนจากการพระราชทานพระราชดำริที่ว่า
“เป้าหมายหลักของโครงการนี้ คือ การฟื้นฟู และอนุรักษ์บริเวณต้นน้ำห้วยฮ่องไคร้ ซึ่งมีสภาพแห้งแล้งโดยเร่งด่วน ด้วยการทดลองใช้วิธีใหม่ๆ เช่น การผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำในระดับบนลงไปตามแนวร่องน้ำต่างๆ เพื่อช่วยให้ความชุ่มชื้นค่อยๆ แผ่ขยายออกไป”

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ นับเป็นต้นแบบของการบูรณาการโดยมุ่งเน้นการพัฒนาป่าไม้ 3 อย่าง เพื่อประโยชน์ 4 อย่าง อันได้แก่ มีไม้ใช้สอย ไม้ผล ไม้เชื้อเพลิง ซึ่งจะอำนวยประโยชน์ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดจนความชุ่มชื้นเอาไว้เป็นประโยชน์ที่ 4

ซึ่งนับตั้งแต่ ปี 2525 จากพระราชดำริว่า “ให้ศูนย์ศึกษาพัฒนห้วยฮ่องไคร้ ทำหน้าที่เสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” และพลิกผืนแผ่นดินจากป่าเสื่อมโทรม มาเป็นพื้นดินที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำที่เป็นอ่างเก็บน้ำถูกสร้างมาเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ต่างๆ นอกจากนั้นใช้ในกิจกรรมการทดลองเลี้ยงปลาในอ่างเก็บน้ำ ตลอดจนศึกษาการจัดรูปบริหารแหล่งน้ำเพื่อการประมง และยังเป็นอีกสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกด้วย

•สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่

จากการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านผักไผ่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และได้เสด็จฯ ผ่านบริเวณดอยอ่างขาง ทรงพบว่าชาวเขาส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ทำการปลูกฝิ่นแต่ยังยากจน ทั้งยังทำลายทรัพยากรป่าไม้ ต้นน้ำลำธารที่เป็นแหล่งสำคัญต่อระบบนิเวศ

จึงทรงมีพระราชดำริตั้งโครงการหลวงขึ้นเป็นโครงการส่วนพระองค์ เมื่อ พ.ศ. 2512 โดยได้สละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อซื้อที่ดินและไร่จากชาวเขาในบริเวณดอยอ่างขาง ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ได้พระราชทานนามว่า “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง”

“ดอยอ่างขาง” ถือเป็นโครงการหลวงแห่งแรกของประเทศไทยซึ่งเป็นสถานที่ทดลอง ค้นคว้า และวิจัยพืชผัก ผลไม้ และไม้ดอกเมืองหนาว เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่ชาวไทยภูเขาในการนำพืชเหล่านี้มาเพาะปลูกเป็นอาชีพแทนการปลูกฝิ่น ที่จะทำให้ชาวไทยภูเขามีรายได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ตามแนวพระราชดำริที่ว่า “ให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้”

ผลจากการที่มีโครงการพระราชดำริเข้าไป ทำให้สภาพไร่ฝิ่นหรือการทำไร่เลื่อนลอยหมดไป เปลี่ยนสภาพมาเป็นแปลงพืชผักผลไม้เมืองหนาวที่สมบูรณ์และสวยงาม รวมทั้งความงามของธรรมชาติของดอยอ่างขาง จึงเป็นสถานที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาชื่นชมจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวตามรอยพระราชดำริในจังหวัดเชียงใหม่อีกมากมายเช่น สวนพฤกษศาสตร์ พระนางเจ้าสิริกิติ์, โครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่ยาว, สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์, วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร, พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 2 (ฝาง)

•หอฝิ่น หรืออุทยานสามเหลี่ยมทองคำ จ.เชียงราย

ในอดีต สามเหลี่ยมทองคำได้ชื่อมาจากการค้าฝิ่น ดินแดนแถบนี้ คือ เมืองหลวงของการปลูกและค้าฝิ่น แต่ด้วยพระวิริยะของในหลวงท่าน ไร่ฝิ่นถูกแทนที่ด้วยพืชผักและไม้เมืองหนาว กล่าวได้ว่า ฝิ่นหมดไปจากสามเหลี่ยมทองคำ แต่เหลือเพียงหอฝิ่น หรืออุทยานสามเหลี่ยมทองคำ ที่ตั้งอยู่ บนพื้นที่ 250 ไร่ ห่างจากอำเภอเชียงแสนประมาณ 10 กิโลเมตร โดยตั้งเป็นศูน นิย์ทรรศการการแสดงประวัติความเป็นมาของฝิ่นและเรื่องราวต่างๆ จนหมดไปจากษทศไทย ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้จากหอฝิ่นนี้ 

นอกจากหอฝิ่น แล้วยังมีโครงการหลวงที่น่าเที่ยวอีกหลายที่ อาทิ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง หมู่บ้านผาตั้ง บนดอยผาหม่น แนวแบ่งเขตไทยกับลาว อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า โดยเที่ยวชมการปลูกพืชไม้เมืองหนาว และแปลงผักต่างๆ ท่ามกลางทิวทัศน์อันสวยงาม, โครงการดอยตุง, ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน, ไร่แม่ฟ้าหลวง อีกทั้งยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีก เช่น วัดพระแก้ว, วัดร่องขุ่น หมู่บ้านสันติคีรี

ตามรอยพระราชดำริในพื้นที่อีสาน
จากภาคเหนือ ตามรอยในหลวง รัชกาลที่ ๙ ไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะมีโครงการพระราชดำริใน 4 จังหวัด ได้ แก่ สกลนคร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น และมุกดาหาร

•ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
จากอดีตที่เป็นพื้นที่สีแดง เนื่องจากเป็นเขตเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และกลับมาอบอุ่นจากการที่ในหลวงได้เสด็จฯ เยือนภูพานหลายครั้ง และมีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการหลากหลาย จนมีการจัดสร้างพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ เพื่อทรงงาน โดยเริ่มก่อตั้ง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานที่บ้านนานกเค้า ตำบลห้วยยาง อำเภอเมืองสกลนคร บนพื้นที่ 11,300 ไร่ ครอบคลุม 22 หมู่บ้าน ในการพัฒนาเกษตรกรรมและป่าไม้ ซึ่งปัจจุบัน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน เขียวชอุ่มชุ่มชื้นไม่ว่าจะด้านเกษตรกรรม และปศุสัตว์

•ศูนย์ศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม อำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร

จากภูพาน ไปทางทิศตะวันออก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปยังบ้านกุดนาขาม ซึ่งเดิมเป็นหมู่บ้านยากจน หมู่บ้านแห้งแล้ง ทำการเกษตรได้น้อย ศูนย์ศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมา และกลายเป็นต้นแบบของศูนย์ศิลปาชีพอีก 23 แห่งทั่วประเทศ ในเวลาต่อมา 

“พระองค์ท่านทรงถามว่า อยากทำอะไร เนื่องจากชาวบ้านที่นี่มีพื้นฐานเรื่องจักสานไม้ไผ่ ทอผ้า ปั้นดินเผา จึงเกิดแผนกงานเครื่องปั้นดินเผา ทอผ้าไหม และจักสานไม้ไผ่ แกะสลัก ตีเหล็ก”
โดยศูนย์ศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม มีงานฝีมือ 19 แผนก และครูที่สอนอาชีพปัจจุบัน ก็คือลูกศิษย์เมื่อ 20 กว่าปีก่อนนั่นเอง

เพียงรอยพระบาทท่านมาถึง หมู่บ้านกุดนาขามก็พลิกชีวิต และชุบชีวิตให้ผืนแผ่นดินแห้งแล้งนี้ กลับมาร่มเย็นและมีอาชีพ และความเป็นอยู่ดีขึ้นตามมา

นอกจากนี้ยังมีที่สถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายแห่ง เช่น อุทยานแห่งชาติภูพาน พระธาตุภูเพ็ก พระธาตุนารายณ์เจงเวง น้ำตกห้วยใหญ่ ฟาร์มตัวอย่างหนองหมากเฒ่า

อุโมงค์ “ลำพะยังภูมิพัฒน์” อัจฉริยภาพของรัชกาลที่ ๙
•โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอนาวง จังหวัดกาฬสินธุ์

ในปี 2535 ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยสร้างอ่างเก็บน้ำลำพะยังความจุ 4 ล้านลูกบาศก์เมตร และอีก 3 ปีต่อมา ได้พระราชทานพระราชดำริผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ ซึ่งอยู่อีกฟากภูเขามาเติมใส่อ่างเก็บน้ำลำพะยัง และเป็นที่มาของการสร้างอุโมงค์ผันน้ำเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 เมตร ยาว 700 เมตรจากเขตมุกดาหาร ลอดใต้เทือกเขาวง มาเติมใส่อ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน ในเขตอำเภอนาวง จังหวัดกาฬสินธุ์

อุโมงค์ผันน้ำหนึ่งเดียวในเมืองไทยใต้พระบารมี ที่มาจากพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในด้านบริหารจัดการน้ำ ซึ่งพระองค์พระราชทานชื่อว่า อุโมงค์ “ลำพะยังภูมิพัฒน์” ซึ่งหมายถึง “อุโมงค์ผันน้ำที่นำความเจริญมาสู่แผ่นดินลุ่มน้ำลำพะยัง”  ได้ส่งประโยชน์ครอบคลุมพื้นที่มากถึงประมาณ 12,000 ไร่ และทำให้ผลผลิตทางการปลูกข้าวของชาวนาเพิ่มมากขึ้นถึง 2-3 เท่า

สิ่งที่น่าสนใจ คือ อุโมงค์ “ลำพะยังภูมิพัฒน์” ได้สะท้อนให้เห็นถึงแนวพระราชดำริ การก่อสร้าง รูปแบบการก่อสร้าง เทคนิคการผันน้ำจาก 2 ลุ่มน้ำ 2 จังหวัด รวมถึงในอุโมงค์(ประมาณช่วงกลางอุโมงค์) ยังมีเส้นแบ่งเขตแดนจังหวัดระหว่างมุกดาหารกับกาฬสินธุ์ และการเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของน้ำจากบนเขาบักดีที่ซึมผ่านดินลงมาเกิดเป็นผลึกหินงอกหินย้อยจำนวนหนึ่ง และเป็นจุดดึงดูดทางการท่องเที่ยวอีกด้วย

•โครงการพัฒนาแหล่งน้ำสองฝั่งลำน้ำชี ( ขุดลอกหนองโง้ง) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลดอนหัน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2539 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จฯ ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่จังหวัดขอนแก่น โดยในครั้งนั้นทรงมีพระราชดำริ ความว่า

“ลำน้ำชีเป็นลำน้ำหลักของจังหวัดขอนแก่น มักเอ่อท่วมพื้นที่สองฝั่ง ซึ่งเป็นหนองบึง ตลอดจนพื้นที่สาธารณะค่อนข้างมาก ในเวลาน้ำลด น้ำก็ลดตามไปด้วย ทำให้ขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง”

ทั้งนี้พระองค์ทรงมีพระราชดำริเพิ่มเติมในอีกหนึ่งปีต่อมาว่า “ให้สำรวจพื้นที่อ่างเก็บน้ำรอบๆ เพื่อขุดลอกและเสริมคันดินให้สูงเพื่อกักเก็บน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมและเก็บน้ำไว้ใช้”

และจากพระราชดำรินี้เอง สำนักงาน กปร., กรมชลประทาน และกองทัพภาคที่ 2 ได้ร่วมมือกันพัฒนาโครงการพัฒนาแหล่งน้ำสองฝั่งลำน้ำชี ( ขุดลอกหนองโง้ง) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จนสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างในปี 2547 เป็นต้นมา

จากสภาพพื้นที่ที่เคยตื้นเขิน น้ำท่วมในหน้าน้ำ น้ำแห้งในหน้าแล้ง กลับมาอุดมสมบรูณ์ จากการขุดลอกหนองโง้ง เพิ่มปริมาณกักเก็บน้ำกว่า 300,000 ลูกบาศก์เมตร และให้ประโยชน์สามารถแก้ปัญหาผืนดินรายรอบถึง 28,273 ไร่ สามารถทำการเกษตรและเลี้ยงปลาพันธุ์ต่างๆ ได้ อีกด้วย

เที่ยวตามรอยพระราชดำริพื้นที่ภาคกลาง
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล รวมถึงพื้นที่ภาคกลาง ที่ควรเป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวหลายแห่ง
•โครงการคลองลัดโพธิ์ จังหวัดสมุทรปราการ สะพานวงแหวนอุตสาหกรรมทอดลงสู่ถนนสุขสวัสดิ์ ระหว่างทาง จะผ่านประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ และคนสมุทรปราการ โดยการขุดลอกและขยายขนาดออกไป จากคลองตื้นเขินที่กว้างเพียง 10 กว่าเมตรกลายเป็นทางลัดที่ย่นระยะทางในการระบายน้ำเหนือที่ไหลเข้ามาท่วมกรุงเทพฯ

• เขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก เขื่อนคอนกรีตอัดบดที่ยาวที่สุดในโลก

เป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นจากโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชน ซึ่งการก่อสร้างเป็นเขื่อนคอนกรีต ที่สันเขื่อนยาว 2,593 เ มตร สูง 93 เมตร และสามารถรองรับน้ำสูงถึง 224 ล้านลูกบากศ์เมตร

เขื่อนขุนด่านปราการชล สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ ซึ่งเดิมเป็นต้นเหตุของอุทกภัย และกลายเป็นสิ่งมีค่าสำหรับเกษตรกร และสามารถแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว ปัญหาน้ำใต้ดิน ปัญหาน้ำทะเลหนุน ซึ่งนอกจากมีประโยชน์ต่อเกษตรกรแล้ว ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ๆ อีกด้วย

•ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา

จากพื้นที่ทุรกันดาร ดินเสื่อมโทรม น้ำขาดแคลน แต่เมื่อในหลวงท่านได้เสด็จฯ มาในปี 2522 และมีราษฎร 7 รายได้ทูลเกล้าฯ ถวายที่ดิน 265 ไร่ เพื่อให้สร้างพระตำหนัก ซึ่งพระองค์ ตรัสถามว่า “ถ้าหากไม่สร้างตำหนัก แต่จะสร้างสถานที่สำหรับศึกษาเกี่ยวกับเกษตรกรรม จะเอาไหม” และเมื่อผู้ถวายไม่ขัดข้อง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ตามโครงการพระราชดำริ ก็กำเนิดขึ้น และสามารถพลิกสภาพพื้นดินที่เสีย เกินฟื้นฟู กลายเป็นพื้นที่เขียว ดินดี น้ำสมบรูณ์ ได้ในเวลาต่อมา และเป็นต้นแบบในการเรียนรู้ และพัฒนาทางการเกษตร 1 ใน 6 ของศูนย์ ศึกษาพัฒนาอันเนื่องมาจากโครงการพระราชดำริทั่วประเทศ

•ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่างคุ้งกระเบน ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี

จากจุดเริ่มต้น ในวันที่ 28 ธันวาคม 2524 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงมีพระราชดำริกับผู้ว่าราชการจังหวัดขณะนั้น “ให้พิจารณาหาพื้นที่ที่เหมาะสม จัดทำโครงการพัฒนาอาชีพการประมงและเกษตร ในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเล และจังหวัดจันทบุรี” พร้อมพระราชทานเงินที่ราษฎรทูลเกล้าฯ ถวายในวันนั้น เป็นทุนเริ่มดำเนินการ

โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่างคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี ถูกก่อตั้งขึ้นบนพื้นที่ราวๆ 200 ไร่ เพื่อทำการฟื้นฟูและจัดการทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางในเผยแพร่ ความรู้ในการวิจัย เพื่อนำมาพัฒนาด้านการประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมทั้งการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมให้เป็นไปตามสมดุลของระบบนิเวศ

นอกจากจะเป็นแหล่งสร้างอาชีพให้กับประชาชนแล้ว ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น ต้นแสมยักษ์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นต้นไม้ที่มีอายุมากที่สุดในป่าชายเลน จนเรียกว่า ปู่แสม หรือการได้เห็นสัตว์น้ำตัวเล็กๆ เป็นต้นว่า ปลาตีน ปูแสม หรือแม้กระทั่ง แมงดาทะเล ซึ่งถือเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต

ล่องใต้ตามโครงการพระราชดำริ

โครงการพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนภาคใต้ และวันนี้ได้เป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวที่สำคัญ

•ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส

จากพื้นที่ลุ่มต่ำ น้ำขังตลอดทั้งปี หรือที่เรียกว่า ดินพรุ ซึ่งเป็นดินคุณภาพต่ำ ไม่เหมาะแก่การปลูกพืชทำการเกษตร เนื่องจากในดินมีกรดกำมะถันทำให้ดินเปรี้ยว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ไขปัญหาเหล่านี้ ทรงหาแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ดินพรุ ด้วย โครงการแกล้งดิน อันเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จึงเป็นทั้งตัวอย่างและต้นแบบสำหรับเกษตรกร เพื่อปรับใช้เป็นแนวทางในการประกอบอาชีพ และประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตนเองอย่างยั่งยืนต่อไป

 โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช

โครงการนี้มีสาเหตุมาจากการที่สภาพพื้นที่นั้นมีภาวะดินเปรี้ยว ป่าไม้ลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ลุ่มน้ำปากพนังที่เคยขึ้นชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของเมืองนครฯ ต้องย่างเข้าสู่ภาวะวิกฤตครั้งใหญ่

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงเปิดโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมทั้งหาหนทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม การก่อสร้างประตูระบายน้ำ การสร้างอ่างเก็บน้ำหรือฝายทดน้ำ หาทางป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็ม ปัจจุบัน ดินแดนลุ่มน้ำปากพนังซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ได้ฟื้นฟูสภาพนิเวศวิทยาให้กลับสู่สมดุลอีกครั้ง อีกทั้งสร้างอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนในลุ่มน้ำนี้อีกด้วย

•โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ ตามพระราชดำริ จ.ชุมพร

  “แก้มลิงหนองใหญ่” ที่มาของชื่อนี้ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่โปรดให้สร้างเส้นทางเดินน้ำ เพื่อพักน้ำไว้ในแก้มลิง ไม่ให้เกิดน้ำท่วมใหญ่อย่างที่ชุมพรเคยประสบมา

พื้นที่ในโครงการแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ ส่วนของป่าธรรมชาติ เป็นที่อยู่อาศัยของหมู่นกต่างๆ หลากหลายพันธุ์ ส่วนของการทำเกษตร เป็นพื้นที่ประกอบอาชีพจริง สุดท้ายคือ ส่วนของเกาะเลข 9 คือ อาคารของหน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ

การเดินทางท่องเที่ยวตามโครงการพระราชดำริในสถานที่ที่ในหลวง รัชกาลที่๙ ได้พระราชทานให้แก่พสกนิกร จะทำให้คนไทยทุกคนได้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยของพระองค์ที่ชโลมทั่วผืนแผ่นดินไทย และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่ทรงทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกันถ้วนหน้า

กำลังโหลดความคิดเห็น