ช่วงนี้ไม่ใช่ฤดูกาลที่มีลำไยเต็มตลาด แต่ก็มีเกษตรกรจำนวนหนึ่งผลิตลำไยนอกฤดูกาลได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตที่เปรียบเสมือนลมหายใจของ จ.ลำพูน และมากกว่านั้น “โรงรมลำไย” ผลงานของนักวิจัยไทย เพื่อช่วยยืดอายุลำไยสำหรับส่งออกก็พร้อมให้บริการแล้ว
หาก “โรงสี” จำเป็นสำหรับชาวนา “โรงรมลำไย” ก็จำเป็นต่อชาวสวนลำไยไม่ต่างกัน เพราะการรมลำไยด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์นั้น ช่วยยืดอายุผลไม้รสหวานของดีเมืองลำพูน และภาคเหนือจังหวัดอื่นๆ จาก 3-4 วันให้ยาวนานออกไปเป็น 30-40 วัน ซึ่งนานพอสำหรับการวางจำหน่ายและส่งออกไปต่างแดน
ทว่าการรมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์นั้นทำให้มีก๊าซบางส่วนเข้าไปอยู่ในเนื้อลำไย และบางประเทศก็มีมาตรฐานกำหนดไม่ให้ก๊าซดังกล่าวปนในเนื้อลำไยเกินกำหนด นอกจากนี้การทำงานของคนงานในโรงรมลำไยที่ไม่ได้มาตรฐานยังเสี่ยงอันตรายจากก๊าซที่รั่วไหลอยู่ตลอดเวลา
ในประเทศไทยมีโรงรมลำไยกว่า 200 โรง ในจำนวนนั้นมีโรงที่ได้รับการรับรองรวม 144 โรง ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จัดทำโครงการปรับปรุงคุณภาพและบริหารจัดการลำไยให้ได้มาตรฐานส่งออก ตั้งแต่ฤดูกาลผลิตลำไยปี 2556 เนื่องจากจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้า ได้มีมาตรการในการนำเข้าลำไยที่เข้มงวดขึ้น โดยระงับการนำเข้าลำไยที่มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในเนื้อลำไยเกิน 50ppm
ทางด้านสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้รับมอบหมายจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้จัดทำศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียืดอายุลำไยเพื่อการส่งออกที่ได้มาตรฐานด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเป็นต้นแบบโรงรมลำไยมาตรฐานเพื่อการส่งออก และเพิ่มขีดความสามารถของเอกชนและชุมชนเกษตรกรลำไย ให้รู้จักใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อแก้ปัญหา
ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียืดอายุลำไยเพื่อการส่งออกเพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 พ.ย.59 โดยใช้พื้นที่ของ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลเหล่ายาว อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ซึ่ง ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว.กล่าวว่า ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียืดอายุลำไยดังกล่าว จะเป็นที่ตั้งของโรงรมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ต้นแบบ และยังเป็นศูนย์ถ่ายทอดองค์ความรู้ของ วว.ด้านเทคโนโลยีการจัดการสวนลำไย เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวลำไยสด และเทคโนโลยีการรมควันลำไยด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์
สำหรับโรงรมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์นั้น นายทรงเกียรติ รอดแดง จากฝ่ายวิศวกรรม วว.ผู้พัฒนาโรงรมลำไยอธิบายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ภายในศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียืดอายุลำไยนั้นมีโรงลำไยซึ่งใช้ระบบรมควันลำไยแบบอัดอากาศย้อนกลับ ทั้งหมด 6 ห้อง ซึ่งสร้างขึ้นจากแสตนเลสทั้งหมด ทำให้ไม่มีก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์รั่วไหลสู่ภายนอกระหว่างการรมลำไย ต่างจากโรงรมลำไยบางแห่งที่ไม่ได้มาตรฐาน
ห้องรมลำไยแต่ละห้องจุลำไยได้ 2 ตัน และมีเตาเผาประสิทธิภาพ 80% คือเตาเผาที่เผาผงกำมะถันแล้วเปลี่ยนเป็นก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ 80% ก๊าซที่ได้จะมีอุณหภูมิสูงถึง 600-700 องศาเซลเซียส จึงต้องเก็บในถังเก็บก๊าซเพื่อลดอุณหภูมิให้เหลือ 30-40 องศาเซลเซียส ก่อนปล่อยเข้าห้องรมที่บรรจุลำไย โดย 1 เตาเผาผลิตก๊าซสำหรับรมลำไยได้ 2 ห้อง อีกทั้งยังใช้กำมะถันน้อยกว่าโรงรมทั่วไป จากปกติ 6-7 กิโลกรัมต่อการรม 1 ครั้ง เหลือเพียง 2 กิโลกรัม ซึ่งการรมลำไยแต่ละครั้งใช้เวลา 1 ชั่วโมง
นายทรงเกียรติบอกว่า ปริมาณกำมะถันที่ใช้น้อยลง ทำให้ปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในเนื้อลำไยไม่เกิน 50 ppm ตามที่จีนซึ่งเป็นคู่ค้าลำไยรายสำคัญกำหนด และปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ภายในบริเวณพื้นที่ทำงานไม่เกิน 5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จึงส่งผลกระทบต่อผู้ปฏิบัติการน้อยกว่าระบบโรงลำไยที่ไม่ได้มาตรฐาน และยังมีระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์หลังรมลำไยจาก 10,000 ppm เหลือ 300-400 ppm
หลังจากลำไยได้รับการรมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์แล้วจะถูกส่งเข้าห้องลดปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โดยใช้พัดลมดูดอากาศเอาก๊าซไปเข้าระบบกำจัด และเนื่องจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์หนักกว่าอากาศทั่วไป ในห้องลดปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จึงมีระบบดูดอากาศอยู่ด้านล่าง หลังจากนั้นลำไยจะถูกส่งเข้าห้องเย็นเพื่อเตรียมจัดจำหน่ายต่อไป
กว่าจะเปิดโรงรมลำไยให้ใช้งานได้ นายสายันต์ ตันพานิช ผอ.ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร วว. กล่าวว่า ต้องมีการทดสอบว่า ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ช่วยยืดอายุลำไยได้จริง และปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในเนื้อลำไยไม่เกิน มาตรฐาน ซึ่ง วว.ได้ซื้อลำไยมาทดสอบกว่า 2 ตัน โดยได้มอบลำไยจากการทดสอบให้เกษตรกรลำไยนำไปใช้เป็นทุนเพื่อจัดตั้งเป็นสหกรณ์ของเกษตรกรลำไย
ส่วนการเลือกพื้นที่ตั้งโรงรมลำไยนั้น นายสายันต์กล่าวว่า วว.มีความร่วมมือกับจังหวัดลำพูน โดยให้ทางจังหวัดสนับสนุนพื้นที่ตั้งโรงรม และจากการศึกษาพบว่า พื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลเหล่ายาวได้อันดับสูงสุด เนื่องจากอยู่ไกลชุมชน และอยู่ใกล้ผลผลิต ซึ่งเป็น 2 ปัจจัยสำคัญเพื่อความปลอดภัยต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
“ส่วนสำคัญของศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีฯ คือการบริหารจัดการ โดยผู้ดำเนินการต่อจากนี้ คือกลุ่มเกษตรกรซึ่งอาจจะจัดตั้งเป็นสหกรณ์ผู้ปลูกลำไย โดยสมาชิกสหกรณ์ต้องมีสวนลำไย แต่จะพื้นที่เล็กหรือใหญ่ก็ได้ และวว.จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงด้านเทคนิค เมื่อกลุ่มเกษตรกรทำได้แล้วจะค่อยๆ ปล่อยมือ แต่ยังคงมาตรวจเพื่อให้ได้มาตรฐานการส่งออก”