“....จะมีพระเจ้าแผ่นดินหรือพระประมุขของประเทศใดหนอในโลกนี้ที่จะทรงตรากตรำพระวรกายจนถึงทรงมุดรั้วลวดหนาม เพื่อจะเสด็จฯ ไปทรงหาแหล่งน้ำให้ราษฎร... ”
ปวงประชาชนชาวไทยย่อมทราบดีว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น ที่พร้อมตรากตรำพระวรกายเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขเพื่อประชาชนของพระองค์
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงประจักษ์แจ้งถึงทุกข์สุขของราษฎร์ ทรงทราบดีว่าที่ชาวนา ชาวไร่ เกษตรกรในชนบทยากจนทนทุกข์เพราะทำการเกษตรไม่ได้ผล อันเนื่องมาจากขาดแคลน “น้ำ” ที่มีความสำคัญยิ่งต่อการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตของชาวบ้านในชนบท
ดังจะเห็นได้จากพระราชดำรัสของพระองค์เมื่อ 17 มี.ค. 2529 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ว่า “...หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้เพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่นถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้...”
ด้วยเหตุนี้พระองค์ท่านจึงทรงทุ่มเทพระวรกายในการศึกษา พัฒนา แก้ปัญหา และจัดการทรัพยากรน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ น้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเสีย ทั้งนี้ก็เพื่อให้ราษฎรได้อยู่ดีกินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สำหรับหนึ่งในโครงการบริหารจัดการน้ำที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงและมีความพิเศษเป็นหนึ่งเดียวในเมืองไทยก็คือ “โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์” ที่ถือกำเนิดขึ้นจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ และมาพร้อมเรื่องราวอันแสนซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีปวงชนชาวไทย
เรื่องราวจาก นายสวัสดิ์ วัฒนายากร อดีตอธิบดีกรมชลประทาน และองคมนตรีผู้ล่วงลับ ที่มีโอกาสรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ซึ่งถ่ายทอดไว้ในหนังสือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับคณะองคมนตรี” เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535 ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรบ้านกุดสิม ต.คุ้มเก่า อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ และได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพภูมิประเทศลำพะยังที่บ้านกุดตอแก่น และที่บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยสายนาเวียง ต.คุ้มเก่า อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์
“...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชดำเนินตรงมายังพวกเราที่ยืนรอเฝ้าฯรับเสด็จ ทรงชี้ไปที่ลำน้ำลำพะยังในแผนที่จุดใกล้ๆ กับบ้านกุดตอแก่นพร้อมกับมีพระราชดำรัสว่า ลำพะยังเหมือนล้ำน้ำทั้งหลายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือลำน้ำคดเคี้ยวมาก หน้าน้ำน้ำจะท่วมเป็นประจำ พอหมดฝนลำน้ำก็แห้งผาก กลายเป็นหุบเหวลึกสิบถึงสิบห้าเมตร น่าจะพิจารณาจุดที่เหมาะสมสร้างประตูเก็บน้ำไว้ใช้หน้าฝน ประเดี๋ยวพระองค์ท่านจะเสด็จฯไปทอดพระเนตรตรงจุดนี้ ทรงชี้ในแผนที่มีพระราชดำรัสแล้วพระองค์ท่านก็เสด็จฯไปยังที่ว่าการอำเภอ...”
ในการเดินทางเข้าถึงพื้นที่นั้นแสนจะยากลำบาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศทรงขับรถยนต์พระที่นั่งด้วยพระองค์เอง เป็นรถยนต์ JEEP Wagoneer พวงมาลัยซ้าย ตามรถนำขบวนบนเส้นทางเกวียนอันขรุขระและมืดมิดในยามค่ำคืน จนพระองค์ตรัสถามนายสวัสดิ์ว่า “อธิบดีจะพาฉันไปดิสโก้ที่ไหน”
ในหนังสือเล่าว่า “...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงทรงพระดำเนินท่ามกลางความมืดไปในทุ่งนาตะปุ่มตะป่ำโดยมีไฟฉายส่องทางและมีมัคคุเทศก์ผ้าขาวม้าเดินนำ ทุกคนต้องเดินอย่างระมัดระวังถ้าพลาดเท้าจะแพลงได้ทันที สักครู่มาถึงสระบัวของราษฎร มีรั้วลวดหนามกั้นอยู่ เส้นทางต้องผ่านที่นี่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห้ามไม่ให้ตัดลวดหนาม โดยทรงให้เจ้าหน้าที่ถ่างลวดหนามแล้วทรงพระดำเนินมุดรั้วลวดหนามเข้าไป
ความรู้สึกของผมขณะนั้นบอกไม่ถูกนึกรำพึงในใจว่า จะมีพระเจ้าแผ่นดินหรือพระประมุขของประเทศใดหนอในโลกนี้ที่จะทรงตรากตรำพระวรกายจนถึงทรงมุดรั้วลวดหนาม เพื่อจะเสด็จฯ ไปทรงหาแหล่งน้ำให้ราษฎร
ยิ่งกว่านั้น พระองค์ท่านยังทรงหันกลับมามีพระราชดำรัสเตือนว่า “อธิบดี อย่าลืมซ่อมรั้วให้เขานะ”
หลังจากพระองค์ได้ทอดพระเนตรพื้นที่ลำพะยังและได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาทำประตูเก็บกักน้ำ จากนั้นได้พระราชดำเนินกลับ ระหว่างทางมีราษฎรราวสิบคนที่ทราบข่าวการเสด็จฯ ได้มานั่งรอเฝ้าฯ อยู่ข้างกองรวงข้าวที่เพิ่งเก็บเกี่ยว
“...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหยิบรวงข้าวมาทอดพระเนตร รวงข้าวมีเมล็ดข้าวลีบๆอยู่สี่ถึงห้าเมล็ด ทรงถามด้วยพระพักตร์ที่หม่นหมองว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ราษฎรกราบบังคมทูลตอบว่า “ปีนี้แล้งมาก ข้าวตายเกือบหมด ต้องปักดำไปในหลุมแห้งๆ ข้าวที่รอดก็อาศัยน้ำค้างไม่พอกิน ปีนี้อดอยากกันทั่ว...”
เมื่อประชาราษฎร์ได้รับความทุกข์ทนหรือเดือดร้อน พระมหากษัตริย์ที่เปรียบดังพ่อของพสกนิกรก็ไม่ทรงนิ่งเฉย พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน (ห้วยวังคำ) บ้านดงหมู ต.คุ้มเก่า และ บ้านนาวี ต.สงเปลือย อ.เขาวง เพื่อช่วยเหลือราษฎรในเขตพื้นที่ดังกล่าวให้มีน้ำใช้ทำการเกษตรและอุปโภค บริโภคตลอดปี
หลังจากนั้นโครงการพัฒนาลุ่มน้ำ ลำพะยังตอนบนฯ ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น มีการดำเนินการจัดสร้างในส่วนต่างๆ โดยในโครงการมีพื้นที่สำคัญ 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่
“โครงการอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ที่ตั้งอยู่ในท้องที่บ้านนาวี ต.สงเปลือย อ.เขาวง เริ่มสร้างปี 2537 แล้วเสร็จในปี 2538 ซึ่งเดิมสามารถกักเก็บน้ำมีความจุ 3.50 ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อนจะปรับปรุงขยายเพิ่มเป็น 4.00 ล้านลูกบาศก์เมตรในปี 2543 ซึ่งได้กักเก็บน้ำไว้ให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ประมาณ 4,600 ไร่
และ “โครงการอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ที่สร้างครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด โดยเริ่มก่อสร้างในปี 2546 แล้วเสร็จในปี 2549
ในส่วนโครงการอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำ ลำพะยังตอนบนฯนั้นมีความพิเศษน่าสนใจมาก เพราะเป็นการบริหารจัดการน้ำจากพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำมากไปยังพื้นที่ขาดแคลนน้ำ โดยอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ฯ ได้สร้างครอบคลุมพื้นที่รอยต่อ 2 จังหวัด และผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร มาส่งให้กับพื้นที่พื้นที่การเกษตรลุ่มน้ำลำพะยังตอนบน ใน อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ ผ่านอุโมงค์ผันน้ำที่เจาะลอดใต้เขาภูบักดี แล้วทำท่อเหล็กลอดใต้อุโมงค์ ขนาด กว้าง 3 เมตร สูง 3 เมตร ยาว 740 เมตร ส่งน้ำจากมุกดาหารเข้ามายังกาฬสินธุ์ โดยทำถังพักน้ำ ทำระบบท่อชลประทานที่ยังประโยชน์ครอบคลุมพื้นที่มากถึงประมาณ 12,000 ไร่ และทำให้ผลผลิตทางการปลูกข้าวของชาวนาเพิ่มมากขึ้นถึง 2-3 เท่า สร้างความชุ่มชื้นให้ผืนดิน และสร้างความชุ่มฉ่ำให้หัวใจของเกษตรกรชาวนาในพื้นที่ ให้สามารถลืมตาอ้าปาก เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้สืบไป
นับเป็นความสำเร็จจากอุโมงค์ผันน้ำหนึ่งเดียวในเมืองไทยใต้พระบารมี ที่มาจากพระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในด้านบริหารจัดการน้ำ อันสอดสอดรับกับคำว่า “ลำพะยังภูมิพัฒน์” ซึ่งหมายถึง “อุโมงค์ผันน้ำที่นำความเจริญมาสู่แผ่นดินลุ่มน้ำลำพะยัง”
และยังเป็นอุโมงค์ที่แทนความรักความห่วงใย จากน้ำพระราชหฤทัยของพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ พระผู้ซึ่งจะอยู่ในดวงใจปวงประชาชนชาวไทยอย่างไม่มีวันลืมเลือน
*****************************************
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com