xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จัดหนัก"งบกลาง"1.3 พันล้านแผนน้ำกองทัพ เลิก-โยกเงินขุดน้ำบาดาล-ไฟเขียว3อ่างขนาดใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - "รัฐบาลให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการงบประมาณการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่ยังพบว่ามีกว่า 6,000 หมู่บ้านที่ไม่มีน้ำสะอาดใช้ รัฐบาลวางแผนว่า ภายในเวลา 3 ปีต้องจัดการอย่างเป็นระบบ ส่วนพื้นที่การเกษตรกว่า 147 ล้านไร่ พบว่าขณะนี้มีอยู่ในเขตชลประทานเพียงร้อยละ 30 ของพื้นที่ทั้งหมด" พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงงบประมาณปี 2558 ก่อนที่ปีต่อมา จะเห็นชอบ"ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี 2558-2569" ซึ่งนับเป็นแผนจัดการน้ำที่สมบูรณ์ที่สุด โดยได้จัดสรรงบประมาณ วงเงิน 55,985 ล้านบาท
 
ส่วนงบประมาณรายจ่ายปี 2560 รัฐบาลกำหนดอยู่ในยุทธศาสตร์ที่ 5 เรื่องยุทธศาสตร์ด้านการจัดการน้ำและสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน วงเงิน 1.12 แสนล้านบาท

ขณะที่ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 4/2559 มีการรับทราบผลการดำเนินงาน ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมรายงานผลการดำเนินงานในกิจกรรมต่างๆ ซึ่งในปีนี้สถานการณ์น้ำในภาพรวมจะดีกว่าปี 2558 ร้อยละ 20

นายกรัฐมนตรีได้เน้นให้ทุกส่วนราชการคำนึงถึงความต้องการประชาชนในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำว่า ต้องมีระบบการกระจายน้ำเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน มีน้ำมั่นคงในภาคการผลิต โดยทุกส่วนราชการต้องปรับการบริหารงบประมาณเพื่อให้มีระบบกระจายน้ำในทุกๆ แหล่งน้ำให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้อย่างสมดุล

นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณาถึงแนวทางการเพิ่มน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนภูมิพล การเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เพื่อให้สามารถรับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาจาก 3,300 ลบ.ม./วินาที เป็น 4,500 ลบ.ม./วินาที เพื่อลดความเสี่ยงกรณีน้ำหลากในอนาคตจะเกิดถี่ขึ้น 3-7 ปี/ครั้ง

สำหรับมาตรการรองรับสถานการณ์ภัยแล้งที่จะมาถึงปี 2559-2560 ที่ประชุมได้เห็นชอบตามแนวทางที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอใน 5 มาตรการ ได้แก่ 1. มาตรการส่งเสริมความรู้เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง 2 . มาตรการจัดทำแผนชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง 3. มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ 4. มาตรการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน และ 5. มาตรการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่เกษตรกรประสบภัย

ทั้งนี้ ยังมีการปรับแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 12 ปี ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และแผนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ สร้างความเข้มแข็ง เน้นแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบเพื่อการดำเนินการอย่างเป็นเอกภาพ

ที่สำคัญต้องไปจัดทำ“งบประมาณแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและแผนปฏิบัติการ ปี 2561”รวมถึง “แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำ และแผนปฏิบัติการ ปี 2561 ทั้ง 25 ลุ่มน้ำ”ให้สอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับในแต่ละปี พร้อมจัดลำดับความสำคัญของโครงการ
 
พูดถึง งบกลาง ที่เป็นเงินคนละก้อนกับ“การบริหารจัดการน้ำในปี 2560”ในคราวการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา รัฐบาลได้อนุมัติงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน ปี 2559 ให้ “กองบัญชาการกองทัพไทยและกองทัพบก”วงเงินรวม 1,342 ล้านบาท ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ เพื่อเป็นงบประมาณการลงทุนและใช้จ่ายเพื่อดำเนินการตามโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจำนวน 1,027 โครงการ แยกเป็นส่วนการดำเนินการของกองบัญชาการกองทัพไทย 106 โครงการ วงเงิน 158 ล้านบาท ส่วนของกองทัพบก จำนวน 921 โครงการ วงเงิน 1,142 ล้านบาท

กระทรวงกลาโหม ระบุว่า การดำเนินการของกองบัญชาการกองทัพไทย และกองทัพบก เป็นการดำเนินการตามมติที่ประชุมของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 59 เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย รวมถึงให้สามารถกักเก็บน้ำไว้เพื่ออุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตรซึ่งได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งดำเนินการตามโครงการ แต่งบประมาณของกองบัญชาการกองทัพไทยและกองทัพบกไม่เพียงพอ โครงการอื่นๆ มีแผนงานและโครงการรองรับหมดแล้ว จึงไม่สามารถปรับแผนเพื่อนำงบประมาณมาใช้จ่ายส่วนนี้ได้จึงจำเป็นที่ต้องเสนอ ครม.เพื่ออนุมัติงบกลางดังกล่าว

สำหรับงบกลางฉุกเฉินฯ พบว่า มี 9 หน่วยงาน เสนอมารวม 3,200 โครงการ วงเงิน 15,093 ล้านบาท โดยคาดว่าจะได้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 252.24 ล้านลูกบาศก์เมตร ประชาชนได้ประโยชน์ 1,613,244 ครัวเรือน มีพื้นที่รับประโยชน์ 3,729,000 ไร่

 กลับมาที่ผลการประชุมใน วาระที่ 5) ได้เห็นชอบให้ “ยกเลิกรายการ และเปลี่ยนแปลงสถานที่ดำเนินงาน และขยายระยะเวลาดำเนินการ การใช้จ่ายงบประมาณโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล”เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคภายใต้แผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อการจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้แก่ชุมชนครอบคลุมทุกหมู่บ้านเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนในการดำรงชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดี

หากจำได้“กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”ได้รับอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาล รวมทั้งสิ้น 3,655 ล้านบาท เพื่อ “เจาะบ่อน้ำบาดาล”และดำเนินการไปแล้ว 5,298 บ่อ จากทั้งหมด 6,922 บ่อ มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า 3,763 เครื่อง

ส่วนโครงการที่เตรียมเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จทั้งหมดทุกโครงการภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2559 เช่น

1. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างพอเพียงตลอดฤดูแล้ง มีเป้าหมายดำเนินการปี 2558-2565 รวมทั้งสิ้น 11,060 แห่ง งบประมาณ 2,182 ล้านบาท

2. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ มีเป้าหมายดำเนินการปี 2558-2565 รวมทั้งสิ้น 6,132 แห่ง วงเงินงบประมาณ 742 ล้านบาท มีแผนดำเนินการอีก 688 แห่ง

3. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง มีเป้าหมายดำเนินการปี 2558-2565 รวมทั้งสิ้น 18,559 แห่ง ปี 2559 ได้รับงบประมาณ 1,241 ล้านบาท มีแผนดำเนินการ 3,473 แห่ง
 
สำหรับปีงบประมาณ 2560 กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้รับงบประมาณรวมทั้งสิ้น 2,845 ล้านบาท มีโครงการสำคัญที่ดำเนินการต่อยอดจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 และขยายพื้นที่ดำเนินการให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น ดังนี้

1. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค จำนวน 1,500 แห่ง แห่งละ 240,000 บาท รวมงบประมาณทั้งสิ้น 360 ล้านบาท

2. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ 688 แห่ง งบประมาณทั้งสิ้น 742 ล้านบาท

3. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง 1,700 แห่ง งบประมาณทั้งสิ้น 777 ล้านบาท
 
ล่าสุดทั้งหมด ที่ประชุมขอให้ยกเลิกรายการ และเปลี่ยนแปลงสถานที่ดำเนินงาน และขยายระยะเวลาดำเนินการ การใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าว

ส่วน ในวาระที่ 3) ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการให้กรมชลประทานดำเนินโครงการพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ คือ โครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช และ โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านยางดี บ้านยางนาดี ตำบลชีบน อำเภอบ้านเขว้า และบ้านละหานค่าย ตำบลโคกสะอาด อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ

โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังหีบ อันเนื่องจากพระราชดำริ ผ่านการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ EIA วงเงิน 1,800 ล้านบาท ดำเนินการ ปี 2559-2563 พื้นที่จัดทำโครงการ 525 ไร่ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ อ.ทุ่งสง และ อ.นาบอน ไม่ให้ประสบภัยธรรมชาติ ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม ฯลฯ เป็นเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียว ความจุเก็บกักน้ำ 20.10 ล้าน ลบ.ม โครงดารนี้ต้องชดเชยผลอาสินแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 67 ราย เป็นเงินประมาณ 150 ล้านบาท
 
ที่ประชุมยังเห็นชอบในหลักการให้กรมชลประทานดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านยางดี บ้านยางนาดี ต.ชีบน อ.บ้านเขว้า และบ้านละหานค่าย ต.โคกสะอาด อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ วงเงินกว่า 2,000 ล้านบาท หลังจากรัฐบาลชุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ผลักดัน ตั้งแต่ปลายปี 2555 (ร่วมกับโครงการโปร่งขุนเพชร) แต่เกิดมีการตรวจสอบจากหลายฝ่ายทั้งสื่อมวลชนจนเป็นกลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วประเทศ เมื่อมี “บ้านผี”โผล่ รอเงินชดเชยจากภาครัฐจำนวนมากกว่า 1,500 หลัง จนต้องยุติการดำเนินโครงการทั้งหมดไว้ก่อน

ล่าสุด นโยบายของรัฐบาล-คสช.เร่งหาแนวทางสร้างแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ใน 25 ลุ่มน้ำหลักทั่วประเทศ เพื่อมาช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมภัยแล้งในระยะ ซึ่งจะมีการดำเนินการสร้างเขื่อนโป่งขุนเพชร เป็นแหล่งแรก ที่จะสามารถเริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างหัวงานและอาคารท่อระบบส่งน้ำไปก่อนได้เพื่อให้เสร็จก่อนไม่เกินปี 2559 รวมเป็นเงินงบประมาณเบื้องต้นก้อนแรกรวม 899 ล้านบาท และที่ เขื่อนยางนาดี ให้เริ่มดำเนินการได้ทันต้นปี 2560

ท้ายสุด ที่ประชุมอนุมัติงบฯ 8,448,000 บาท ให้กับ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ 6 ตำบล ของ อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟู“ป่าจำปีสิรินธร”และให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เข้าไปเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ โดย จ.ลพบุรี ต้องรายงานความก้าวหน้าทุกขั้นตอน

นายกฯย้ำรอบนี้ ว่า ทั้งหมดนี้คือแผนงานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช ทำเพื่อประชาชนตลอดมา รัฐบาลเป็นเพียงเจ้าภาพหลักในการดำเนินการ โดยจะมอบนโยบายและอนุมัติงบประมาณให้หน่วยงานส่วนท้องถิ่นทำงานร่วมกับประชาชนในรูปแบบประชารัฐ ทำให้ประชาชนเกิดความเข้มแข็ง สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง ร่วมกันทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อนำประเทศไทยก้าวไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ต่อไป
 
ทั้งหมดนี้ เป็นโครงการบริหารการจัดการน้ำของรัฐบาล ล่าสุด !!


กำลังโหลดความคิดเห็น