xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ลักไก่” สร้างเขื่อนแม่วงก์ ฉายตัวตน “บิ๊กนมชง” รมว.ที่กำลังจะบ๊ายบาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลังสื่อประโคมข่าว “บิ๊กนมชง” เจ้ากระทรวงเกษตรฯ เตรียมเสนอ คสช. พิจารณานำ มาตรา 44ผลักดันโครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ทางฟาก NGOและกลุ่มนักอนุรักษ์ที่เคยตบเท้าออกมาเคลื่อนไหวต้านการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์อย่างรุนแรง เมื่อปี 2556 ต่างออกมาแสดงจุดยืนคันค้านอย่างพร้อมเพรียงกัน

กลายเป็นกระแสวิพากษ์อย่างหนัก เพราะชั่งน้ำหนักดูแล้วการเดินหน้าโครงการก่อ ผลเสียมากกว่าประโยชน์ระยะยาว เรื่องของเรื่องเกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ขณะที่ บิ๊ก นมชง - พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจสอบปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนภูมิพล จ.ตาก พร้อมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมพิจารณาแนวทางจัดการน้ำมีนัยส่อทำนองว่า จะมีเสนอต่อหัวหน้าคณะรักษาความ สงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่ออำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เดินหน้าก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรองป้องกันวิกฤตภัยแล้ง รวมทั้ง แก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มภาคกลาง

"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบให้ผมทำแผนน้ำระยะ 12 ปี เพื่อใช้แก้ปัญหาน้ำได้ครบทุกอย่าง รวมทั้งเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้อีกมาก ซึ่งมีทั้งการสร้างแก้มลิง สร้างฝาย สร้าง เขื่อน แต่พอจะทำโครงการอะไรที่เกี่ยวกับน้ำมันลำบาก เกิดยาก เพราะ แม้ว่าชาวบ้านต้องการได้น้ำมาเพาะปลูกพืชหรือทำเกษตรได้หลากหลาย เช่น การสร้าง เขื่อนแม่วงก์ แต่ก็ถูกต่อต้านจากพวก เอ็นจีโอ เพราะกลัวเสือตายไม่มีที่อยู่ ผมก็คิดในใจว่าเสือไม่มีขาวิ่งหนีน้ำหรือ ดังนั้น จึงจะไปดูว่าใช้มาตรา 44 เข้ามาทำอะไรได้บ้าง เพื่อทำให้เดินหน้า และผมจะเจรจากับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะพื้นที่สร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ จะอยู่ในเขตอุทยาน ป่าไม้ โดยจะเจรจาขอให้ยกเว้นบางเรื่อง" พล.อ. ฉัตรชัย กล่าว

ทว่า หลังเกิดกระแสวิจารณ์อย่างหนักจากหลายฝ่าย พล.อ.ฉัตรชัยที่หลายคนมองว่ากำลัง “ลักไก่” ผลักดันเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อความว่า ข่าวเรื่องที่เตรียมเสนอ คสช. ใช้ มาตรา 44 ผลักดันสร้างเขื่อนแม่วงก์ เป็นเพียงการตีความของสื่อ ตนเองไม่ได้หมายความเช่นนั้น ความว่า “สงสัยต้องพานักข่าวไปเช็กหูกันบ้างแล้ว พูดอะไรไม่ค่อยได้ยิน เหมือนเรื่องการใช้มาตรา 44 เพื่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ไม่ได้พูดก็เอาไปเขียน”

อย่างไรก็ตาม หากมีการเดินหน้าโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสรรค์ จะทำลายพื้นที่ป่าธรรมชาติกว่า 1.3 หมื่นไร่ โดยเปล่าประโยชน์เพราะการสร้างเขื่อนบนผืนป่าแห่งนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมหรือน้ำแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพแต่อย่างใด พลันแต่จะกระทบทำลายระบบนิเวศอย่างมหาศาล

ด้าน ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผู้นำทีมเดินเท้าคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ 388 กิโลเมตร จากป่าสู่เมือง ปี 2556 เปิดเผยว่า ไม่กังวลต่อคำกล่าวของบิ๊กนมชงเพราะเป็นเพียงความคิดเห็น แต่หากมีการเสนอให้ คสช. พิจารณาใช้ มาตรา 44 เดินหน้าเขื่อนแม่วงก์ พร้อมตอบโต้ทันที โดยโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Sasin Chalermlarp ความว่า

"ท่านรัฐมนตรีครับ พวกเอ็นจีโอไม่ได้กลัวเสือตาย แต่เราอยากให้ท่านทราบคุณค่าของระบบนิเวศและผลกระทบของการสร้างเขื่อนในพื้นที่นั้น ท่านให้ข่าวคราวที่แล้ว ผมพยายามส่งหนังสือถึงท่าน เข้าไปชี้แจงท่านในไลน์ ท่านก็ไม่อ่านไม่ตอบ แล้วก็มาให้สัมภาษณ์อะไรที่ดูจะขาดข้อมูลที่เราก็ชี้แจงมาหลายปี ถ้าท่านผลักดันตอนนี้ ผมก็ค้านท่านเต็มที่แหล่ะครับ ท่านปลัดธีรภัทร ที่ท่านดึงไปช่วยงานก็รู้เรื่องดี ท่านก็ถามข้อมูลก่อนที่จะให้ข่าวอะไรแบบนี้บ้าง และน่าจะมาหาทางออกร่วมกันในการพิจารณาการแก้ไขปัญหาทางเลือกการจัดการน้ำที่เป็นไปได้กันครับ"

ศศิน ยังระบุต่อไปว่า "ผมพร้อมนะครับ ท่านฉัตรชัย เรื่องเขื่อนแม่วงก์ จะคุยกันอย่างไร ประชุมคุยกันว่าค้านทำไม หรือจะพบกันบนถนน"

เช่นเดียวกับ เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือและเครือข่ายภาคีรวม 133 องค์กร ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนเดียวกัน คัดค้านการบังคับใช้ มาตรา 44 เดินหน้าโครงการก่อสร้างโครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ โดยมองว่าโครงการเขื่อนแม่วงก์ไม่ใช่เรื่องความผิด เป็นเรื่องที่ต้องใช้เหตุและผลในการดำเนินการ อีกทั้งการเร่งรัดก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 โดยไม่มีการพิจารณาผลกระทบและทางเลือกจัดการน้ำ อย่างรอบด้าน จะทำให้เกิดความมืดบอดในการจัดการน้ำของประเทศไทย ความว่า

1.ขัดต่อนโยบายรัฐบาล ในการรักษาผืนป่าประเทศไทยที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพราะการสร้างเขื่อนแม่วงก์จะทำลายผืนป่าสมบูรณ์และป่าต้นน้ำในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และผืนป่าตะวันตก

2 .ขัดต่อข้อเสนอ 15 ข้อของมูลนิธิสืบที่ยื่นข้อเสนอทางออกการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ในลุ่มน้ำแม่วงก์ ที่ได้ยื่นต่อ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ไปแล้ว

3. ขัดต่อเจตนารมณ์ของสืบ นาคะเสถียร เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา มูลนิธิสืบ ได้จัดงานรำลึกการจากไปของคุณสืบ ที่ได้เสียสละชีวิตตนเองเพื่อปกป้องผืนป่าตะวันตก และเพื่อรักษาป่าของประเทศไทย ซึ่งพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตก แต่หลังจากการจัดงานรำลึกเพียงวันเดียว รมต. กับมีนโยบายทำลายป่าโดยจะใช้ ม.44 ผลักดันสร้างเขื่อนแม่วงก์ จึงไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

4. กรณีน้ำในเขื่อนคลองโพธิ์ และเขื่อนทับสะเหลา ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียง ไม่มีน้ำสำรอง จึงสะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่อับฝน(ฝนตกน้อย) การสร้างเขื่อนไม่ใช่คำตอบของการจัดการน้ำจึงไม่สมควรแก้ไขปัญหา การจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ด้วยการสร้างเขื่อนแม่วงก์ อีกต่อไป ให้มีการทบทวนและใช้ทางเลือกอื่นๆตามที่มูลนิสืบ ได้ให้ข้อเสนอไปในการจัดการน้ำ

5. เราหวังให้พายุพัดผ่าน แต่สุดท้ายฝนก็ไม่ตกเหนือเขื่อนจึงมีป่าต้นน้ำแบบเดิม ซึ่งผิดพลาดแบบที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

6. แนวคิดในการเร่งสำรองน้ำด้วยการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ของ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งวิกฤตเรื่องน้ำที่ผ่านมาเป็นปัญหาเรื่องการบริหารจัดการของเขื่อนขนาดใหญ่ที่ผิดพลาด ซึ่งแก้ไขได้ และ ไม่จำเป็นสร้างเขื่อนแม่วงก์

7. หากมีการนำ ม.44 มาใช้ผลักดันการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จะนำไปสู่การใช้แนวทางเดียวกันกับโครงการอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีกรณีพิพาทระหว่างรัฐและชาวบ้านทั่วประเทศ ซึ่งจะไม่ได้ใช้การ ตัดสินใจที่ยื่นอยู่บนเหตุและผลทางวิชาการ

ท่ามกลางการคัดค้านอย่างหนักของเครือข่ายอนุรักษ์ทั่วประเทศ โครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ยังคงถูกชงเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของภาครัฐรอบแล้วรอบเล่า กลางปี 2558 ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล ผู้อำนวยการกองแผนงาน กรมชลประทาน กล่าวสนับสนุนรัฐบาล ใช้มาตรา 44 ผลักดันเขื่อนแม่วงก์ เข้าสู่ปี 2559 สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กล่าวย้ำเตือนว่า มีความจำเป็นต้องก่อนสร้างเขื่อนแม่วงก์สร้างแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่บริเวณต้นน้ำ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งให้กับประชาชน

ข้อมูลจาก กรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการเขื่อนแม่วงก์ ขนาดความจุเก็บกักน้ำ 258 ล้านลบ.ม. สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานในฤดูฝน 301,900 ไร่ ฤดูแล้ง 126,545 ไร่ คลอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด 6 อำเภอ 23 ตำบล 127 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับประโยชน์ 13,749 ครัวเรือน คณะทำงานจาก กรมชลฯ จึงมั่นอกมั่นใจสนับสนุนโครงการเต็มที่ แม้กระทบต่อพื้นที่ป่าและสัตว์ป่าอย่างมหาศาล ทั้งนี้ การใช้มาตรา 44 เป็นข้อเร่งรัดให้ กรมชลประทาน สร้างแหล่งเก็บน้ำทั่วประเทศให้ได้ตามแผน โดยไม่ได้เจาะจงเพียงเขื่อนแม่วงก์แห่งเดียว

สำหรับท่าทีของรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมากล่าวถึงกระแสข่าว การเสนอใช้ มาตรา 44 ผลักดันเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ว่ายังไม่มีการหารือใน ครม. แต่อย่างใด มีเพียงการพูดคุยถึงการบริหารจัดการน้ำภาพรวมเท่านั้น เพราะกรณี เขื่อนแม่วงก์รัฐบาลทราบดีว่ามีการคัดค้านของประชาชน

และด้วยเหตุดังกล่าวการลักไก่สร้างเขื่อนแม่วงก์ของ “บิ๊กนมชง” ก็จบข่าวลง ณ ตรงนี้...


กำลังโหลดความคิดเห็น