xs
xsm
sm
md
lg

แม่โจ้โพลล์ เผยเกษตรกรกว่า ร้อยละ 60 เห็นว่าเปิด AEC จะค้าขายดีขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แม่โจ้โพลล์ เผยเกษตรกรเห็นควรปรับปรุงนโยบายด้านการเกษตร พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งระบบชลประทาน การจัดการน้ำ การพยากรณ์สภาพดิน ฟ้า อากาศ และพัฒนาศักยภาพเกษตรกร

​ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรทั่วประเทศต่อ ทิศทางการเกษตรไทยกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ภาคเหนือ ร้อยละ 51.40 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 1.70 ภาคกลาง ร้อยละ 34.20 และภาคใต้ ร้อยละ 12.60) จำนวนทั้งสิ้น 1,201 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1 – 8 กรกฎาคม 2559 ในหัวข้อ “ทิศทางการเกษตรไทย...กับการเข้าสู่ AEC” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจ 1. สถานการณ์การเกษตรเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2. แนวทางการพัฒนาและความได้เปรียบของการเกษตรไทย 3. ทิศทางการเกษตรไทยในอนาคต จากการสำรวจ พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.60 เห็นว่าการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำให้การค้าขายสินค้าเกษตรของไทยเพิ่มขึ้น ในขณะที่เกษตรกรร้อยละ 27.40 เห็นว่าเท่าเดิม และเพียงร้อยละ 12.00 เห็นว่าลดลง

​โดยสิ่งที่ควรปรับปรุงหรือพัฒนาในภาคการเกษตรไทยหลังจากเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มากที่สุดคือ อันดับ 1 ร้อยละ 75.60 ควรมีนโยบายด้านการเกษตรที่มีประสิทธิภาพและสามารถใช้ได้จริง อันดับ 2 ร้อยละ 75.40 การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นหรือสนับสนุนการพัฒนาภาคการเกษตร เช่น ระบบชลประทาน การจัดการน้ำ และการพยากรณ์สภาพดิน ฟ้า อากาศ อันดับ 3 ร้อยละ 75.30 การพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรไทย อันดับ 4 ร้อยละ 69.40 การพัฒนาความรู้ทางด้านวิชาการเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น ด้านต้นทุน การขนส่ง และพัฒนาพันธุ์ที่เหมาะสม และอันดับ 5 ร้อยละ 68.60 การพัฒนาและยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตรของไทย

​ความได้เปรียบของการเกษตรไทยเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิก พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 76.90 ปัจจัยทางด้านกายภาพ (ประเทศไทยมีความได้เปรียบทางด้านพื้นที่ทางการเกษตร) อันดับ 2 ร้อยละ 75.90 ประเทศไทยมีสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ เช่น ข้าว สินค้าปศุสัตว์และประมง เป็นต้น อันดับ 3 ร้อยละ 50.80 นโยบายการให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ แก่เกษตรกรของรัฐบาล และอันดับ 4 ร้อยละ 49.00 เกษตรกรไทยมีความรู้และความสามารถด้านการเกษตรเป็นจำนวนมาก

​เกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 64.80 เห็นว่า ในอีก 5 – 10 ปี ประเทศไทยจะยังคงเป็นผู้นำด้านการผลิตสินค้าเกษตร ในขณะที่เกษตรกร ร้อยละ 35.20 ไม่เห็นด้วย

​และเมื่อสอบถามถึงการปรับตัวของเกษตรกรไทยเมื่อมีการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 67.30 เห็นว่ามีการปรับตัว เพราะมีเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีระดับการศึกษาที่สูงขึ้นและมีการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตให้ทันตามยุคตามสมัย เกษตรกรตระหนักรู้ถึงการพัฒนาและคำนึงถึงความมีคุณภาพและมาตรฐานของสินค้ามากขึ้น ในขณะที่เกษตรกร ร้อยละ 32.70 เห็นว่าไม่ปรับตัว เพราะเกษตรกรยังคงไม่เห็นผลกระทบที่จะได้รับในเชิงลึก ไม่มีความกระตือรือร้นและยังไม่เห็นความสำคัญในส่วนของการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเห็นว่าการการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไม่ได้เอื้อประโยชน์แก่เกษตรกรรายย่อย ส่วนใหญ่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่เกษตรกรรายใหญ่
กำลังโหลดความคิดเห็น