เปิดจดหมาย “ประธานมูลนิธิ สืบ นาคะเสถียร” เขียนขอเข้าพบ “บิ๊กตู่ - รมว.เกษตรฯ” เสนอทางเลือกจัดการน้ำแบบบูรณาการ ถูกกว่าสร้าง “เขื่อนแม่วงก์” 6 เท่า เชื่อลดผลกระทบปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้ผล ด้าน ทส. ย้ำ ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจาก บอร์ด สผ. เผย “แผนสร้างเขื่อนแม่วงก์” เคยถูกถูกตีกลับ ช่วงเดือนกันยายนปีที่แล้ว
วันนี้ (2 มี.ค.) มีรายงานว่า เพจสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม Greennews ได้เผยแพร่ข่าว “ศศิน” ทำหนังสือถึง “บิ๊กตู่” ค้านแม่วงก์เสนอทางเลือกจัดการน้ำ ถูกกว่า 6 เท่า ข่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2559 นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิ สืบ นาคะเสถียร ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้พิจารณาทางเลือกในการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กรณีไม่ต้องสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ พร้อมแนบเอกสารและแผนที่ทางเลือกในการจัดการน้ำ เพื่อใช้เป็นแนวทางการจัดการน้ำที่มีปัญหาเรื้อรัง มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อชุมชน ในการเป็นโมเดลของประเทศต่อไป
สำหรับเนื้อหาในหนังสือ ระบุว่า จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.อุทัยธานี เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยได้มอบนโยบายและข้อสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาทางเลือกการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำแม่วงก์ เพื่อลดผลกระทบในด้านต่าง ๆ ทางมูลนิธิขอนำเสนอทางเลือกในการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กรณีไม่ต้องสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในรูปแบบอื่นได้ หากมีการบริหารจัดการที่เหมาะสม
“ทางเลือกดังกล่าวจะได้จำนวนปริมาณน้ำที่ใกล้เคียง กล่าวคือ กรณีสร้างเขื่อนแม่วงก์จะได้น้ำ 250 ล้าน ลบ.ม. โดยประมาณ ส่วนทางเลือกกรณีไม่ต้องสร้างเขื่อนจะได้น้ำ 200 ล้าน ลบ.ม. โดยประมาณ และงบประมาณในการจัดทำโครงการดังกล่าวอาจจะถูกกว่าการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ถึง 6 เท่าตัว ทั้งนี้ มูลนิธิได้ประสานจัดส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) และขอเข้าพบพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงข้อมูลโดยละเอียด ประสานความร่วมมือในการให้ข้อมูลเพิ่มเติม อันเป็นประโยชน์สูงสุดในการบริหารจัดการน้ำโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนในพื้นที่อนุรักษ์” หนังสือจากมูลนิธิ สืบ นาคะเสถียร ระบุ
ทั้งนี้ ในส่วนของเอกสารทางเลือกในการจัดการน้ำดังกล่าว ถูกบรรจุอยู่ในวารสาร “สาส์นสืบ” ฉบับเดือน พ.ย. 2557 ซึ่งได้เสนอทางเลือกในการบริหารจัดการมากมาย อาทิ ซ่อมแซมฝายและประตูระบายน้ำที่ชำรุด เพิ่มเติมโครงการชลประทานที่เป็นฝายและประตูระบายน้ำขนาดเล็ก ส่งเสริมการเปลี่ยนพืชไร่เป็นเกษตรผสมผสาน ตลอดจนการขุดลอกลำน้ำบางสาย และสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก เป็นต้น พร้อมทั้งเสนอโมเดลการจัดการน้ำในระดับชุมชนอีกหลากหลาย
มีรายงานว่า สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2559 ที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำและภัยแล้งของจังหวัดอุทัยธานี
ภายหลังรับฟังบรรยายสรุป นายกรัฐมนตรีรับทราบโครงการพัฒนาศักยภาพการพัฒนาโครงการเขื่อนแม่วงก์ โดยมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปรวบรวมแนวคิดทำเขื่อนแม่วงก์ที่ผ่านมา นำมาศึกษาความเป็นไปได้เน้นก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด ลดปัญหาความขัดแย้งกับประชาชน พร้อมกับเน้นย้ำเรื่องผลกระทบต่อป่าไม้ซึ่งเป็นต้นไม้ใหญ่ และพันธุ์หายาก รวมถึงสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่โดยเฉพาะเสือโคร่ง โดยนายกรัฐมนตรีได้เสนอแนะให้กระจายสร้างเขื่อนขนาดเล็กในพื้นที่บริเวณรอบ ๆ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น พร้อมหาวิธีการอื่น ๆ รวมถึงการพร่องน้ำมาใช้ในพื้นที่การเกษตร ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้หาข้อสรุปที่เหมาะสมที่สุด ให้คุ้มค่ากับความเสียหายของป่าไม้ สำหรับโครงการพัฒนาอ่างเก็บน้ำทับเสลา นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้อธิบดีกรมชลประทานรับไปดำเนินการต่อไป
ในช่วงให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า กำลังให้ศึกษาอยู่ซึ่งมีส่วนหนี่งเป็นพื้นที่ป่าแต่อยู่รอบนอก ต้องไปดูว่าจะเกิดความเสียหายอะไรบ้าง และสิ่งที่เสียไปกับสิ่งที่ได้มาคือการเพิ่มพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ชลประทานอีก 3 แสนไร่ มันคุ้มกันหรือไม่ ต้องหาข้อสรุปให้ได้ วันนี้ยังไม่มีคำตอบ เพียงแต่ให้ศึกษา และถ้าไม่ทำอย่างนี้จะมีวิธีการอื่น หรือพื้นที่อื่นอีกหรือไม่ ในที่ประชุมได้พิจารณาทางเลือกที่ได้เสนอไปแล้ว โดยให้ไปศึกษาตามแนวทางที่เสนอมา แต่วันนี้ยังไม่มีคำตอบ และยังไม่ตัดสิน
“วันนี้ถ้าทุกคนยังบอกว่าไอ้นั่นก็ไม่ได้ไอ้นี่ก็ไม่ได้ มันก็จะไปไม่ได้ ต้องตัดสินใจอย่างระมัดระวัง ไม่ใช่สั่งโครม ๆ สร้างปลูก มันไม่ได้หรอก การศึกษาก็ต้องให้เอ็นจีโอมาร่วมศึกษาด้วย อย่าไปแยกอิสระ ต้องมาศึกษาร่วมกับกระทรวง จะได้เข้าใจกันเสียที ไม่อย่างนั้นก็ค้านกันนอกระบบอยู่อย่างนั้น ต้องเอาเข้าที่ประชุม ไม่ใช่ค้านกันเรื่อยไป ตัวเองไม่ได้อยู่ตรงนั้นแต่ก็ค้านกันไปเรื่อย แล้วคนในพื้นที่ก็ยากจนกันทุกวัน ไม่คิดกันบ้างหรือไง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 15 ก.พ. นายโสภณ พรโชคชัย ผู้ประสานงานกลุ่มสร้างเขื่อนแม่วงก์เพื่อป่าไม้ สัตว์ป่าและประชาชน ได้ไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี โดยอ้างผลสำรวจความเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 ต่างจากในครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2556 มีผู้เห็นด้วย 69% ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2557 มีผู้เห็นด้วยเพิ่มขึ้นเป็น 71% และล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2559 มีผู้เห็นด้วยเพิ่มขึ้นเป็น 79% ต้องการที่จะให้รัฐบาลสร้างเขื่อนแม่วงก์ โดยสำรวจในช่วงวันเสาร์ และอาทิตย์ที่ 16 - 17 มกราคม 59 ในเขตอำเภอเมืองนครสวรรค์ เทศบาลนครนครสวรรค์ อำเภอลาดยาว เทศบาลตำบลลาดยาว อำเภอแม่วงก์ กิ่งอำเภอแม่เปิน อำเภอชุมตาบง และอำเภอโกรกพระ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา และเกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์ในระดับหนึ่ง โดยข้อหนึ่งเสนอให้นายกฯใช้อำนาจตาม ม.44 สั่งให้มีการสร้างทันที
มีรายงานจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ยังยืนยันว่า การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) โครงการเขื่อนแม่วงก์ ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยรอบสุดท้ายที่ถูกตีกลับให้กรมชลประทานไปแก้ไข ช่วงเดือนกันยายน 2558 ยังคงเป็นประเด็นเรื่องป่าไม้ สัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ โดยเฉพาะการขยายพันธุ์ของเสือโคร่งจากป่าห้วยขาแข้งมาในป่าแถบนี้ ที่ยังไม่มีการบรรจุข้อมูลเหล่านี้ในรายงานที่แก้ไขเข้ามา ดังนั้น ถึงแม้กรมชลประทาน จะเสนอแผนงาน แต่ขั้นตอนการเดินหน้าเขื่อนแม่วงก์ ก็ยังต้องทำตามกระบวนการกฎหมาย และพิจารณาข้อมูลทางวิชาการ
ก่อนหน้านี้ นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัด ทส. เคยพูดคุยกับ นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิ สืบ นาคะเสถียร เรื่องทางเลือกบริหารจัดการน้ำโดยไม่ทำเขื่อนขนาดใหญ่ในป่าแม่วงก์ รวมทั้งการรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ล่าสุด ปลัด ทส. ได้มอบหมายให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรน้ำ เตรียมรายละเอียดข้อมูลของเขื่อนแม่วงก์ เพื่อชี้แจงต่อสาธารณชน เช่นเดียวกับ พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็เห็นว่า เป็นเรื่องละเอียดอ่อน