xs
xsm
sm
md
lg

NGOs จวกแผนจัดการน้ำรัฐบาล “บิ๊กตู่” ท้าสรุปบทเรียนโขงชีมูลก่อนเดินหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสุวิทย์  กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนพัฒนาชนบท (กป.อพช.อีสาน)
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - เอ็นจีโอภาคอีสานโต้แผนจัดการน้ำรัฐบาล “บิ๊กตู่” แนวทางซ้ำรอยทุกรัฐบาลในอดีตที่สุดท้ายก็ล้มเหลว จวกอย่าโทษนักการเมืองฝ่ายเดียวเพราะมีหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องสมรู้ร่วมคิดแผนผลาญงบแผ่นดิน ย้ำต้องรับฟังความเห็นประชาชนอย่างแท้จริง พร้อมท้าประเมินผลกระทบบทเรียน โขง ชี มูล

จากกรณีเมื่อวานนี้ (31 ม.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาเปิดเผยถึงแผนการจัดการน้ำของรัฐบาล 12 ปี โดยอ้างว่าในอดีตที่ผ่านมามีการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำและระบบส่งน้ำที่ไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และความต้องการน้ำที่แท้จริง โดยมีการจัดสรรงบประมาณสร้างแหล่งน้ำเฉพาะพื้นที่ที่เป็นฐานคะแนนเสียงของนักการเมือง ขาดการวางแผนแยกแยะอย่างเป็นระบบว่าบริเวณใดเป็นพื้นที่การเกษตรที่มักขาดแคลนน้ำ หรือบริเวณใดเป็นแหล่งชุมชนที่ประชาชนต้องการใช้น้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภค ส่งผลให้การเกิดการลงทุนในพื้นที่ซ้ำๆ ขาดความเชื่อมโยงในการบริหารจัดการน้ำ

พล.ต.สรรเสริญยังระบุอีกว่า รัฐบาลนี้พยายามแก้ไขปัญหาให้ถูกจุด และสร้างความยั่งยืนด้วยแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำระยะยาว 12 ปี ภายใต้หลักประชารัฐ เปลี่ยนมุมมองจากการพิจารณาเฉพาะภาพกว้างในระดับลุ่มน้ำ เป็นการเจาะพื้นที่แคบลงในระดับอำเภอและกลุ่มจังหวัดเพื่อให้เห็นปัญหาที่แท้จริง

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ พล.ต.สรรเสริญออกมาพูดดังกล่าว ล่าสุดวันนี้ (1 ก.พ.) องค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอ ในภาคอีสานได้ออกมาตอบโต้

โดยนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนพัฒนาชนบท (กป.อพช.อีสาน) กล่าวว่า การจัดการน้ำในอดีตที่ผ่านมาไม่ใช่นักการเมืองเพียงฝ่ายเดียวที่จัดทำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ผลักดันในเขตพื้นที่ของตัวเอง แต่ยังมีข้าราชการ และหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ คอยทำหน้าที่วางแผนชงเรื่องการจัดการน้ำให้นักการเมือง ซึ่งตนก็อยากเสนอให้ทบทวนงบประมาณต่างๆ ย้อนหลังไปอย่างน้อย 20 ปีว่าใครบ้างเข้าไปมีส่วนร่วมในการวางแผน

เฉพาะแค่งบศึกษาบริหารจัดการน้ำก็หมดไปหลายพันล้านบาท เพียงแค่ตัดแปะข้อมูล เปลี่ยนหน่วยงานศึกษาเท่านั้น โครงการจัดการน้ำต่างๆ เช่น โขง-ชี-มูล สร้างเขื่อนต่างๆ หน่วยงานรัฐล้วนทำแผนนำเสนอฝ่ายการเมืองทั้งนั้น ประเภทสมรู้ร่วมคิด

แผนการจัดการน้ำที่ถูกต้องและสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดนั้น ควรรับฟังความคิดเห็นประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่จัดฉากเปิดเวทีรับฟังตามระเบียบวิธี แต่แท้ที่จริงมีการตั้งธงโครงการไว้แล้ว และเลือกเอาแต่กลุ่มผู้ที่สนับสนุนโครงการมาเข้าร่วมเวที และที่สำคัญต้องให้มีบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้

นายสุวิทย์กล่าวต่ออีกว่า ในปัจจุบันที่กำลังมีการผลักดันโครงการต่างๆ เช่น เขื่อน ผันน้ำโขง โดยไม่ศึกษาผลกระทบระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม ตนขอฟันธงเลยว่าโครงการดังกล่าวจะล้มเหลวเหมือนอดีตที่ผ่านมาเพราะคนทำคือกลุ่มเดิม กรอบคิดเดิมๆ

“ขอท้าเลยว่ารัฐบาลกล้าประเมินผลกระทบโขง ชี มูล หรือไม่ เช่นภาคอีสานในฤดูแล้งจะเอาน้ำจากแม่น้ำโขงมาทำนาได้อย่างไร เพราะเป็นดินทราย ใต้ดินมีแต่เกลือ ดินเค็ม แต่หน่วยงานที่หาน้ำก็คิดเพียงว่าจะเอาน้ำมาให้ได้ โดยไม่เคยสรุปบทเรียนในอดีตเลย” เลขาธิการ กป.อพช.ภาคอีสานกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น