ศูนย์ข่าวขอนแก่น - NGOs ภาคอีสานจวกเละ พ.ร.บ.น้ำฉบับกรมทรัพยากรน้ำประเคนอำนาจการจัดการน้ำให้ภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนแต่ละท้องถิ่นลุ่มน้ำ เสนอรัฐบาล “บิ๊กตู่” โละร่าง พ.ร.บ.น้ำฉบับหายนะแล้วพิจารณาฉบับภาคประชาชนที่ยึดหลักการการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นที่ตั้ง เพราะเข้าถึงปัญหาลุ่มน้ำอย่างแท้จริง
นายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่าประชาชนลุ่มน้ำอีสาน เปิดเผยถึงมูลเหตุที่ภาคประชาชน โดยการนำของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) เคลื่อนไหวคัดค้านร่างพระราชบัญญัติน้ำ ฉบับของกรมทรัพยากรน้ำ เนื่องจากไม่เปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในแต่ละลุ่มน้ำเข้าไปมีส่วนร่วมในการป้องกันและการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง โดยเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.น้ำฉบับดังกล่าวเป็นการรวบอำนาจ ให้อำนาจแก่รัฐในการจัดสรรแล้วก็บริหารจัดการน้ำอย่างเบ็ดเสร็จ
ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงเป็นการลิดรอนสิทธิ์ในการจัดการทรัพยากรน้ำในชุมชนของคนลุ่มน้ำในอีสานอย่างชัดเจน เช่น ในมาตรา 6 ของร่าง พ.ร.บ.น้ำ (ฉบับกรมทรัพยากรน้ำ) เขียนไว้ว่า “รัฐจะมีอำนาจพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ โดยสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงรูปร่างของแหล่งน้ำ หรือขยายพื้นที่ของแหล่งน้ำนั้นได้”
เฉพาะมาตรา 6 ที่ระบุไว้ดังกล่าวก็ทำให้เห็นธาตุแท้ของภาครัฐแล้วว่าจงใจไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นในการจัดการน้ำ ไม่ได้ศึกษาผลกระทบทางสังคมแม้แต่น้อย หาก พ.ร.บ.น้ำ (ฉบับของกรมทรัพยากรน้ำ) ฉบับนี้ผ่านและประกาศใช้จริง คนอีสานจะได้รับผลกระทบมากเพราะว่าวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำมันเกี่ยวข้องและสัมพันธ์โดยตรงซึ่งใครจะมาตัดขาดจากกันไม่ได้ นับตั้งแต่การดำรงชีวิตโดยการเกษตร และวิถีการหาปลา
อย่างไรก็ตาม นายศิริศักดิ์กล่าวต่อว่า การจัดการทรัพยากรน้ำในส่วนของภาคประชาชนเองพยายามที่จะนำเสนอร่างพระราชบัญญัติน้ำ พ.ศ....(ฉบับประชาชน) ขึ้นมา ซึ่งร่างพระราชบัญญัติน้ำภาคประชาชนจะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีการแสดงความคิดเห็นว่าคุณมีสิทธิในการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมกับชุมชนอย่างไรบ้าง และเป็นกฎหมายที่ให้คนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังโดยที่ไม่เบี่ยงเบนจากหลักการของคนในท้องถิ่น
ดังนั้น เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสานจึงมีข้อเสนอคือ “ให้รัฐบาลถอดถอนร่างพระราชบัญญัติ น้ำ พ.ศ...(ฉบับกรมทรัพยากรน้ำ) ออกโดยทันที เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม หรือแสดงความคิดเห็น การที่จะนำร่างทรัพยากรน้ำ ฉบับกรมทรัพยากรน้ำไปพิจารณาถือว่าไม่มีความเป็นธรรมกับพี่น้องประชาชน เครือข่ายลุ่มน้ำในภาคอีสานยังยืนยันที่จะสนับสนุนรูปแบบในการจัดการน้ำของชุมชนที่เข้าถึงทรัพยากร ในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบนิเวศในแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ
ด้านนายปัญญา คำลาภ ตัวแทนจากสมาคมคนทาม กล่าวว่า สถานการณ์ในพื้นที่ลุ่มน้ำมูล ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม 2558 ก็เริ่มมีการขุดลอกแม่น้ำมูลในเขตอำเภอราศีไศล ซึ่งชาวบ้าน และคนในพื้นที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อยู่ดีๆ ก็มีรถจากผู้รับเหมามีรถแบ็กโฮ มีรถขนเครื่องจักรกลหนักลงมา แล้วก็มาลุยกันเลย โดยที่เทศบาล อบต. ผู้ใหญ่บ้าน อำเภอไม่รู้เรื่องแต่อยู่ดีๆ ก็มีเครื่องจักรใหญ่ลงมา ชาวบ้านก็เลยเกิดคำถามว่าใครมาทำอะไร? เพราะมันเกิดผลกระทบโดยตรงต่อชาวบ้าน
ทั้งนี้ จะเห็นว่าทรัพยากรธรรมชาติริมฝั่งถูกทำลายโดยเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ จากริมฝั่งทามที่เคยอุดมสมบูรณ์ มีป่าบุ่งป่าทามที่เป็นแหล่งหาอยู่หากินของคนในพื้นที่ หาของป่า หาไข่มดแดง หามันแซง หาหน่อไม้ และที่สำคัญ ปลาจากแม่น้ำมูลจะอุดมสมบูรณ์มากเพราะว่ามันมีระบบนิเวศชายฝั่งที่ปลาทุกชนิดอยู่ได้ มีการวางไข่ มีการหาอาหาร แต่พอโครงการทำเสร็จแล้วจะเห็นว่าทุกอย่างโล่งเตียน แล้วที่สำคัญมีป้ายระบุว่าโปรดรักษาป่าชุมชน
“แล้วที่มีการเผามีการโค่นต้นไม้ลงและไม่เห็นมีใครออกมารับผิดชอบกับปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งกระบวนตรงนี้หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับกรมทรัพยากรน้ำผ่านการพิจารณาและประกาศบังคับใช้ ปัญหาจะหนักรุนแรงมากกว่านี้เพราะอำนาจการจัดการอยู่ที่รัฐทั้งหมด” นายปัญญากล่าว
นายอกนิษฐ์ ป้องภัย กรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำแนวโน้มรัฐก็จะพัฒนาเป็นแหล่งเก็บน้ำเพื่อตอบสนองการที่ภาคเมืองขยาย แล้วก็เกษตรกรรมที่ใช้สารเคมี แล้วก็เรื่องของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ แล้วก็เพื่อการตอบสนองภาคอุตสาหกรรม เพราะว่าแนวโน้มการพัฒนาประเทศมันจะเป็นแบบนั้น และการทำตรงนี้ก็เพื่อให้แหล่งน้ำมันลึกขึ้น เก็บน้ำได้เยอะขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่ภาคประชาชนเป็นกังวลในเรื่องของการให้อำนาจรัฐที่มีมากเกินไป
เพราะฉะนั้นจะต้องให้อำนาจแก่ประชาชนที่จะออกแบบว่าจะแบ่งน้ำอย่างไรให้เหมาะสมกับความต้องการของภาคประชาชนด้วย และในร่าง พ.ร.บ.น้ำ (ฉบับกรมทรัพยากรน้ำ) ในเรื่องของสิทธิในการใช้น้ำ ซึ่งในการใช้น้ำทางฝ่ายของกรมทรัพยากรน้ำจะพูดไม่ค่อยชัดในเรื่องของสิทธิในการใช้น้ำ ยังไม่มีการลงรายละเอียด แต่ในส่วนของภาคประชาชนจะให้ประชาชนมีสิทธิในการที่จะพิจารณาว่าจะแบ่งน้ำอย่างไร? จะทำอย่างไรถึงจะไม่มีผลกระทบต่อสิทธิชุมชน
เช่น กรณีของแม่น้ำมูล สิทธิของประชาชนระบุไว้ชัดเจนเลยว่าให้มีสิทธิร่วมพิจารณาว่าโครงการนี้มีผลกระทบต่อสิทธิชุมชน แล้วก็เสนอเรื่องราวร้องทุกข์ และรับแจ้งผลพิจารณาได้เลยในกฎหมายภาคประชาชน