ทุกปีประเทศไทยต้องประสบปัญหาเรื่องน้ำและมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย และการกัดเซาะชายฝั่ง แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีมาตรการออกมาแก้ไขหรือบรรเทาผลกระทบอย่างเป็นระบบ จึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการจัดการน้ำในหลากหลายรูปแบบเพื่อบรรเทาผลกระทบ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
ศ.ดร.ชัยยุทธ ชินณะราศรี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวถึงการวิจัยเพื่อบรรเทาภัยพิบัติและการจัดการน้ำว่า ปัญหาน้ำเป็นปัญหาระดับชาติและที่ผ่านมายังขาดความชัดเจนด้านนโยบายที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำจากรัฐบาลและการไม่มีแผนแม่บทที่ใช้ในการบริหารจัดการน้ำระดับลุ่มน้ำ ความซับซ้อนและยุ่งยากในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การกระจัดกระจายของข้อมูล ความไม่เป็นเอกภาพของหน่วยงานที่ปฏิบัติการด้านน้ำ การขาดระบบประกันภัยและการชดเชยให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากน้ำ ตลอดจนการขาดความตระหนักถึงสถานการณ์ภัยพิบัติในภาคประชาชน
จึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัยเชิงนโยบายเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติภายใต้ “โครงการวิจัยเพื่อศึกษาหาทิศทางของนโยบาย และแผนหลักการบริหารจัดการน้ำระดับประเทศ และการวิจัยเพื่อลดผลกระทบจากภัยพิบัติ” ซึ่งคณะนักวิจัยจำนวน 33 คน ได้ร่วมมือกันดำเนินการวิจัยตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2555 - พ.ค. 2557 ด้วยทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
จากผลการศึกษาวิจัยดังกล่าวได้นำมาสู่ข้อเสนอแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อบรรเทาภัยพิบัติ ประกอบด้วย 4 แผนงาน ได้แก่ 1) การบูรณาการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจากทุกภาคส่วน 2) การพัฒนาและปรับปรุงองค์กรหลักด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 3) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการจัดการทรัพยากรน้ำและภัยพิบัติ และ 4) การช่วยเหลือ ชดเชยและประกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ
โดยแผนแม่บทดังกล่าวยังครอบคลุมถึงทรัพยากรน้ำทุกประเภท ทั้งน้ำฝน น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน และน้ำบาดาลด้วย ตลอดจนข้อเท็จจริงของศักยภาพและข้อจำกัดของทรัพยากรน้ำ ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณเพื่อให้เกิดการบูรณาการการจัดการน้ำแบบครบวงจร
“เพราะแต่ละพื้นที่มีบริบท มีปัญหาเรื่องน้ำที่แตกต่างกัน จึงมีการลงพื้นที่ศึกษา สำรวจ และวิเคราะห์ในแต่ละลุ่มน้ำ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยนั้นตั้งอยู่บนพื้นที่ราบ ประกอบด้วยลุ่มน้ำหลักถึง 25 ลุ่มน้ำ จึงทำให้มีความเสี่ยงภัยจากน้ำที่ไม่เหมือนกัน” ศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าว
นอกจากจะนำไปสู่การจัดทำแผนแม่บทแล้วยังสามารถสร้างแผนภูมิพื้นที่ความเสี่ยงของการเกิดภัยจากน้ำท่วม และภัยจากน้ำแล้ง ที่บอกถึงระดับความเสี่ยงหรือความรุนแรงในแต่ละพื้นที่ได้จากน้อยไปหามาก ยังสามารถตีค่าความเสี่ยงหรือนำมาประเมินเป็นอัตราค่าเบี้ยประกันภัยจำแนกตามจังหวัด ซึ่งพบว่าแต่ละจังหวัดจะมีค่าความเสี่ยงภัยจากน้ำที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่เพาะปลูก
ยกตัวอย่าง จังหวัดที่มีระดับความเสี่ยงภัยจากน้ำท่วมมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ จังหวัดสุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สระแก้วและฉะเชิงเทรา โดยเฉพาะสุพรรณบุรีถือเป็นพื้นที่ต่ำที่เสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมได้มากที่สุด ซึ่งผลงานวิจัยชิ้นนี้ยังเสนอแนะให้มีการจัดตั้งกองทุนแห่งชาติเพื่อเยียวยาผู้ประสบภัยจากน้ำ เพื่อใช้เป็นหลักประกันและชดเชยรายได้ตามระดับความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ และการวิจัยนี้ยังวิเคราะห์หาแนวทางการพัฒนาโครงสร้างองค์กรหลักในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติด้านน้ำ
จึงมีการเสนอให้จัดตั้ง “กระทรวงทรัพยากรน้ำ” ขึ้น โดยมีโครงสร้างและภารกิจต่างๆ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำภายใต้ทุกสถานการณ์อย่างเหมาะสม การจัดทำระบบศูนย์ข้อมูลกลางด้านน้ำแห่งชาติ การส่งเสริมความเข้มแข็งของกลุ่มองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ การเสริมสร้างความเข้มแข็งเพื่อการจัดการภัยพิบัติ การจัดระบบการประกันภัยและการชดเชยที่เป็นธรรมภายใต้การคาดคะเนความเสี่ยงที่แม่นยำ ซึ่งในที่สุดแล้วจะพัฒนาไปสู่นโยบายสาธารณะด้านภัยพิบัติเพื่อความยั่งยืนต่อไป
ผลงานที่ได้จากการศึกษาวิจัยนี้ ทำให้ศ.ดร.ชัยยุทธ ชินณะราศรี ได้รับมอบหมายจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ให้เข้าร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมการระบบข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจและคณะอนุกรรมการจัดองค์กรข้อกำหนดและกฎหมายในคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และร่วมประชุมกลุ่ม (Focus Group) เพื่อระดมความคิดเห็นแนวคิดที่ได้จากผลงานวิจัยเพื่อการพิจารณาปรับปรุงกลไกองค์กร และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
ล่าสุด ยังได้รับการติดต่อจากประธานกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปการจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งต้องการข้อมูลผลงานวิจัยดังกล่าวไปใช้เพื่อให้มีส่วนร่วมในการปฏิรูปการจัดการน้ำของประเทศ