xs
xsm
sm
md
lg

วิบากกรรมคนรากหญ้าตายผ่อนส่ง ทีดีอาร์ไอจี้ “บิ๊กตู่” อย่าอุ้มคนรวย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ คนรากหญ้าทั้งภาคการเกษตร-แรงงาน ต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ ราคาพืชการเกษตรตกต่ำ ภัยแล้งรุนแรง คนจนยิ่งจนลง “ทีดีอาร์ไอ” แนะทางออก พร้อมเสนอรัฐให้ความสำคัญกับคนกลุ่มเศรษฐกิจตามอัธยาศัยที่มีแนวโน้มเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ที่ต้องจมปรักอยู่กับสารพัดความเสี่ยง จี้นโยบายรัฐควรตอบสนองคนเหล่านี้มากกว่าไปอุ้มคนรวย ขณะที่นักวิชาการภาคเกษตรเสนอวิธีการบริหารจัดการน้ำ หวังสกัดไม่ให้นักการเมืองแทรกแซง และเป็นหนทางให้เกษตรกรมีน้ำใช้ต่อเนื่อง ไม่ต้องเจอปัญหาน้ำแล้งในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำเช่นในปัจจุบัน

สถานการณ์ของคนกลุ่มรากหญ้าในเวลานี้ต้องเผชิญกับวิกฤตรุมเร้ารอบด้าน โดยเฉพาะคนกลุ่มชาวไร่-ชาวนา ซึ่งอยู่ในภาคการเกษตร ต้องพบกับปัญหาตั้งแต่ราคาข้าวและพืชการเกษตรที่ตกต่ำทำให้รายได้ภาคการเกษตรลดลง และยังต้องมาเผชิญปัญหาภัยแล้งที่ดูจะรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับต่ำสุดแล้ว อีกทั้งสภาพอากาศฝนไม่ตกตามฤดูกาลส่งผลกระทบต่อเกษตรกรทำให้ไม่มีแหล่งน้ำในการเพาะปลูก สร้างหายนะให้เกษตรกรยิ่งขึ้นไปอีก

ส่วนคนอีกกลุ่ม ที่ต้องรับวิบากกรรมไม่น้อยไปกว่าแรงงานในภาคเกษตร นั่นคือ แรงงานในภาคอุตสาหกรรมเองก็ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่ตกต่ำท่ามกลางค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้นทุกๆ วัน ทำให้ค่าแรงไม่เพียงพอกับค่าครองชีพเช่นกัน

การเผชิญวิกฤตของภาคเกษตร และภาคแรงงานนั้น รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวกับ Special Scoop ถึงปัญหานี้ว่า ภาพรวมของ “เศรษฐกิจ” ในวันนี้เป็นสิ่งที่มีความต่อเนื่อง มาจากนโยบายของรัฐบาลในยุคก่อน และถือว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อคนในทุกระดับ เมื่อรวมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงทำให้เกิดสภาวะที่เรียกว่าผีซ้ำด้ำพลอย และถ้าจะมองในแง่ของราคาสินค้ากลุ่มเกษตรกรตามปกติแล้วจะมีวัฏจักรขึ้นลง และช่วงเวลานี้เป็นวัฏจักรของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ประกอบกับราคาน้ำมันตกต่ำด้วยนั่นเอง จึงส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรทรุดลงไปกันใหญ่

“ประเทศที่นำเข้าอาจจะดีเพราะซื้อของถูก แต่เราเป็นประเทศส่งออกสินค้าเกษตรเราจึงขายของได้ราคาต่ำ ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรโดยตรง เพราะทุกวันนี้คนที่เป็นเกษตรกร รายได้ลดหายไปเป็นจำนวนมาก”


แต่ถ้ามองภาพรวมของประเทศไทยในปัจจุบัน สัดส่วนรายได้เกษตรเป็นเพียง 10% ของ GDP และตัวเลขการเกษตรมีอัตราการเติบโตเพียง 2.5% จาก 4% ในอดีต จึงทำให้กระทบ GDP รวมไม่เกิน 0.5% แต่สำหรับตัวเกษตรกรนั้นเป็นปัญหาที่หนักเพราะรายได้ลดอย่างชัดเจน จากสถิติเดิมระบุไว้ว่าสัดส่วนของกลุ่มคนภาคการเกษตรจะเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนมากของประเทศไทยคือประมาณ 40% แต่ในความเป็นจริงคนกลุ่มนี้มีไม่ถึงตามที่ได้ระบุไว้
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
“เพราะในความเป็นจริง คนไม่ได้ทำงานด้านเกษตรล้วนๆ แต่ก็หาโอกาสและจังหวะที่จะสร้างรายได้ ซึ่งแรงงานเหล่านี้จะทำแค่บางเวลา และส่วนใหญ่ที่รายงานตัวว่าเป็นเกษตรกรนั้น ความจริงก็ไม่ได้ทำ เช่น มาขับแท็กซี่ หรือมาทำงานในกรุงเทพฯ ส่งเงินกลับบ้าน จะกลับไปทำเกษตรเพียงไม่กี่วันช่วงเก็บเกี่ยวเท่านั้น”

รศ.ดร.นิพนธ์ บอกว่า หากตัวเลขสัดส่วนผู้ใช้แรงงานของภาคการเกษตรมีมากถึง 40% จริง ประเทศไทยก็ไม่จำเป็นต้องดึงแรงงานต่างชาติเข้ามาเลย และยังมีการใช้เครื่องจักรเพื่อลดแรงงานที่ต้องการอีกมากมาย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วแรงงานที่อยู่ในภาคการเกษตรจริงๆ อาจมีสัดส่วนเพียง 20% เท่านั้น

เห็นได้จากนโยบายของรัฐบาลในหลายยุคที่ผ่านมา จะเน้นโครงการที่พัฒนาให้ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ไปตกอยู่กับคนรวยที่มีเงินอยู่แล้ว เช่น โครงการรถคันแรก บ้านหลังแรก การขยายเส้นทางรถไฟฟ้า ล้วนแล้วแต่กระจุกตัวอยู่ในเมือง และกรุงเทพฯ ในต่างจังหวัดบางที่รถประจำทางยังไม่มีด้วยซ้ำไป ซึ่งควรจะทำเพื่อเป็นการช่วยเหลือให้คนกลุ่มนี้ลดต้นทุนค่าเดินทาง โครงการพัฒนาที่ดีจะต้องทำให้ทั่วถึงคนส่วนใหญ่ระดับรากหญ้าในทุกๆ กลุ่ม

ดังนั้นการที่จะทำให้ผลประโยชน์ไปตกกับคนกลุ่มภาคเศรษฐกิจตามอัธยาศัยที่ต้องใช้โอกาสในการสร้างรายได้ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศนี้ ก็ต้องพัฒนาให้คนมีความรู้ความสามารถ มีทักษะ การศึกษาต้องดี ซึ่งเป็นเรื่องระยะยาวทั้งสิ้น รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีกระบวนการกระตุ้นการเจริญเติบโตแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Growth) โดยเฉพาะนโยบายอะไรที่จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตนั้น ต้องคำนึงว่าผลประโยชน์ที่มาจากนโยบายต้องตกกับคนกลุ่มนี้

แนะปรับนโยบายใหม่และเน้นงานวิจัยกลุ่มเศรษฐกิจตามอัธยาศัย

อย่างไรก็ดี กลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญต่อการชี้วัดเศรษฐกิจของประเทศ คือ กลุ่มเศรษฐกิจตามอัธยาศัย (Informal Sector) หรือ แรงงานภาคเกษตร นอกฤดูการเกษตรมีการเคลื่อนย้ายจากถิ่นฐานมาทำงานในเมือง ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่มีสัดส่วนใหญ่มากที่สุด และถือเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ คือ ประเทศไทยยังไม่ได้มีการศึกษาเจาะจงในภาพรวมของเศรษฐกิจตามอัธยาศัย แต่มีเพียงการศึกษาวิจัยทางด้านเศรษฐกิจของภาคเกษตรเท่านั้น ซึ่งในอนาคตหากรัฐจะแก้ปัญหาปากท้อง แก้จนให้ภาคเกษตร และภาคแรงงานนั้น ก็ควรจะให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบาย และทุ่มเทงานวิจัยศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์กับคนกลุ่มเศรษฐกิจตามอัธยาศัยให้มากยิ่งขึ้น

รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวด้วยว่า มีความสนใจที่จะศึกษาวิจัยในภาคเศรษฐกิจตามอัธยาศัย ซึ่งเป็นกลุ่มที่สำคัญและมีสัดส่วนที่ใหญ่ และได้รับผลกระทบมากที่สุดในเวลานี้ และยังไม่มีข้อมูลการศึกษาที่มากพอจะมาช่วยในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจตามอัธยาศัย ซึ่งประกอบด้วยคนหลากหลายอาชีพ เช่น แม่ค้า หาบเร่ แผงลอย มอเตอร์ไซค์รับจ้าง อาชีพอิสระค้าขายต่างๆ ซึ่งถือเป็นเศรษฐกิจตามอัธยาศัยทั้งสิ้น

หากมองรายได้ของครัวเรือนยากจนในภาคเกษตรวันนี้ มีรายได้เพียง 20% เท่านั้น ที่มาจากการทำเกษตร ขณะที่สัดส่วนรายได้หลักของทั้งครัวเรือน มาจากการส่งสมาชิกในครอบครัวออกไปทำงานนอกเหนือจากการเกษตร ซึ่งมาจากเศรษฐกิจตามอัธยาศัยทั้งสิ้น

ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเพราะคนกลุ่มนี้แทรกตัวอยู่ในหลายกลุ่มเศรษฐกิจเรียกได้ว่ากว่า 60% ของแรงงานในประเทศไทย อยู่ในภาคเศรษฐกิจตามอัธยาศัยที่มีอยู่ทั่วประเทศ แฝงรวมอยู่ในทุกภาค ซึ่งในความเป็นจริงคนกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับวิกฤตมากมาย ทั้งในเรื่องรายได้ไม่แน่นอน อนาคตไม่แน่นอน สภาวะการทำงานอยู่ในสภาพเสี่ยง ไม่มีความปลอดภัย หากจะเปรียบเทียบกับมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้แน่นอน หากมีการออมก็จะมีเงินเก็บ แต่ในกลุ่มนี้ไม่มีเงินเก็บ เรียกได้ว่าชักหน้าไม่ถึงหลัง ในหลายกรณีอาจมีเรื่องการฟุ่มเฟือย ติดลบ ปัญหาหนี้สิน ขยายผลเป็นปัญหาที่ใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ

การศึกษาวิจัยเรื่องกลุ่มเศรษฐกิจตามอัธยาศัยยังมีอยู่อย่างจำกัด และไม่เป็นระบบ การศึกษาส่วนใหญ่ที่มีอยู่จะเป็นงานของนักสังคมศาสตร์ ซึ่งเป็นการอธิบายเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ แต่ขาดภาพใหญ่เรื่องจำนวนและรายละเอียด เช่นลักษณะของงาน รายได้โดยรวม ผลกระทบที่ได้รับทางเศรษฐกิจ ถ้าหากเรารู้ถึงชีวิตของคนเหล่านี้แล้ว เราจะหาทางแก้ไขได้ เพราะเราจะรู้ว่าเขาทำอะไรบ้าง มีโอกาสพัฒนาด้านไหน แต่ยังขาดความสนใจทำงานวิจัยอย่างจริงจัง สภาพัฒน์ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) เคยพยายามทำในอดีต แต่ได้ยกเลิกไป ซึ่งน่าเสียดาย
แฟ้มภาพ
รศ.ดร.นิพนธ์ ย้ำว่า อยากแก้ไขความคิดที่ว่า วันนี้เกษตรกรไม่ใช่คนจน เฉพาะชาวนาวันนี้ มีคนจนประมาณ 1 ล้านครัวเรือน คนรวยอีก 1 ล้านครัวเรือน ที่เหลือเป็นจำนวนมากคือระดับกลางๆ และเกษตรกรที่ยากจนจริงๆ ส่วนใหญ่มีรายได้นอกเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจตามอัธยาศัย

วิกฤตภัยแล้งปี 58 ซ้ำเติมเศรษฐกิจทรุด

นอกจากราคาสินค้าภาคเกษตรที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ภาคเกษตรไทยยังต้องเจอปัญหาทางด้านภัยแล้ง ซึ่งสถานการณ์ของน้ำในเขื่อนที่สำคัญปีนี้อยู่ในขั้นวิกฤต อย่างเขื่อนภูมิพลมีปริมาณที่เหลือน้อยเข้าวิกฤตขั้นที่ 2 มีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือ 4,006 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 29.76% ( 6 ก.ค. 2558) ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำคงเหลือน้ำกักเก็บทั้งหมดเพียง 3,233 ล้าน ลบ.ม.หรือ 34.01%

ส่วนในด้านของการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ ชาวนาที่ประสบภัยแล้งนั้น มีทั้งการทำฝนหลวงเพื่อให้ฝนตกในพื้นที่แล้งจัด และการดำเนินการของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่บรรเทาทุกข์ด้วยการหาแหล่งน้ำ อาทิ การเจาะบ่อบาดาล ที่จะต้องเพิ่มจาก 500 แห่ง เป็น 1,000 แห่ง และบริหารจัดการน้ำจากแม่น้ำโขงที่ไหลเข้าสู่ประเทศไทยเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ตลอดจนปรับวิธีการขุดลอกแม่น้ำ ลำคลอง ให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ในปริมาณที่มากขึ้น

แหล่งข่าวจากภาคเกษตรกล่าวว่า ปัญหาน้ำแล้งที่ส่งผลกระทบให้เกษตรกรไม่สามารถเพาะปลูกและอาจวิกฤตถึงขั้นขาดแคลนน้ำในการบริโภคนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2554 เพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลัวเรื่องน้ำท่วมในปีต่อไป จึงมีคำสั่งเรื่องปรับเส้นการบริหารจัดการน้ำในเขื่อน ซึ่ง 2 เส้น เส้นแรกคือระดับต่ำ ไม่ให้น้ำต่ำกว่าระดับนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องภัยแล้ง อีกเส้นคือเส้นระดับสูง ไม่ให้สูงกว่าระดับนี้ ซึ่งหากเกินก็จะมีปัญหาเรื่องน้ำท่วม

แนวการบริหารจัดการน้ำดังกล่าว เป็นการบริหารโดยปกติ แต่ในคราวนั้นเมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์กลัว จึงสั่งให้ไปปรับระดับต่ำ ให้ต่ำลงไปอีก

ดังนั้นน้ำในเขื่อนตอนต้นฤดูแล้งก็จะน้อยลง ปรับให้ต่ำลงแล้วยังไม่พอ ยังมีคำสั่งให้ปล่อยน้ำให้ต่ำกว่าระดับต่ำสุด จากนั้นปีต่อมามีนโยบายจำนำข้าว เกษตรกรจึงมีการใช้น้ำอย่างมหาศาล ซึ่งมากกว่าแผนซึ่งกรมชลประทานวางเอาไว้ จึงเป็นปัญหาต่อเนื่อง

“ปัญหาเหล่านี้ต้องทำความเข้าใจว่า การจัดการน้ำในเขื่อนไม่ได้ใช้เพื่อการเกษตรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะยังต้องนำมาใช้ในการอุปโภค บริโภค ใช้ไล่น้ำเค็ม ใช้ในการคมนาคมขนส่ง ใช้ด้านสิ่งแวดล้อม ป้องกันระบบนิเวศ และการใช้น้ำในฤดูหนึ่ง นั่นไม่ได้หมายความว่าในปีถัดมาจะมีฝนมาทดแทนได้ทันที การพร่องน้ำไป กว่าจะนำมาเติมสู่ระดับปกติได้ต้องใช้เวลากว่า 3-5 ปี ปัญหาเหล่านี้จึงเป็นปัญหาที่ซ้ำซ้อนและนักการเมืองไม่เข้าใจ เมื่อเข้าไปแทรกแซงจึงเป็นปัญหาที่ขยายตัว”

สำหรับสถานการณ์ในปี 2557-2558 ในความเป็นจริง ระดับน้ำนับว่ามีไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา แต่เป็นเพราะตอนต้นหน้าแล้งโชคร้ายที่ฝนไม่ตก ประกอบกับชาวนายังทำนาปรังกันมาก จึงเป็นปัญหาการบริหารจัดการและธรรมชาติรวมกันซ้ำเติม และนำไปสู่ปัญหาแล้งในที่สุด
แฟ้มภาพ
ดังนั้นต่อไปเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซาก ภาคการเมืองต้องเข้าใจปัญหาการบริหารจัดการและธรรมชาติ ที่ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจทางเทคนิค ต้องไม่เข้าไปแทรกแซง กำกับดูแลได้เพียงแต่ทางนโยบายเท่านั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา

“อยากให้คนเข้าใจว่าการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนไม่ใช่เพียงการดูปีต่อปี แต่ต้องดูกันต่อเนื่องไปเรื่อยๆ แรงกดดันตอนนี้คือน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่เป็นปัญหาหลัก มีผู้ใช้น้ำเพิ่มขึ้นทุกวัน จนขณะนี้ปริมาณความต้องการใช้น้ำในแต่ละปีมากกว่าต้นทุนน้ำในเขื่อน ดังนั้นปีไหนต้นทุนน้ำลดลงก็จะเกิดภาวะนี้ทันที สภาวะนี้มีแนวโน้มจะเกิดและรุนแรงขึ้น ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะในปีนี้เท่านั้น”

ขณะเดียวกันรัฐจำเป็นต้องมีระบบบริหารจัดการน้ำที่ดี จึงเป็นเรื่องที่ต้อง “ปฏิรูป” เพราะปล่อยให้เป็นแบบนี้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว วันนี้ประเทศไทยมีการบริหารจัดการน้ำแบบรวมศูนย์ ตรงกันข้ามกับตัวอย่างในประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่ใช้การบริหารจัดการน้ำจากข้างล่าง คือ โดยผู้ใช้น้ำ หรือ การกระจายอำนาจ

“ประเทศไทยใช้รูปแบบการจัดการน้ำจากข้างบน โดยรัฐบาลกลาง ซึ่งมีข้อเสีย เพราะการเมืองแทรกแซงได้ง่าย เห็นได้จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาหลายครั้ง ที่จังหวัดไหนมีการเพาะปลูกทำนาน้ำไม่พอ ก็จะใช้วิธีการเดินน้ำ คือ เดินขบวนไปขอน้ำ ถ้าไม่ได้ก็เดินไปหานักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งนักการเมืองก็สั่งกรมชลประทานดำเนินการต่อไป”

นับว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่า “การบริหารจัดการน้ำโดยรัฐบาลกลาง” ไม่มีความเป็นธรรม จังหวัดไหนนักการเมืองเข้มแข็งมีอำนาจสั่งการก็ได้เปรียบ จังหวัดที่ไม่มีนักการเมืองเป็นรัฐมนตรีก็ไม่ได้ทำอะไร จึงนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้น และหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคตจะมีความเสี่ยงและกลายเป็นชนวนใหญ่โตที่ยากต่อการจัดการได้อีกต่อไป!

กำลังโหลดความคิดเห็น