เป็นไปตามคาด! หลังปลายปี 2557 สมิทธ ธรรมสโรช ประธานมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ออกมาเตือนเรื่องภัยแล้ง เพื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับมือไม่ให้เกิดเป็นวิกฤติการณ์ภัยแล้งกระทบวิถีชาวบ้านชาวเมือง ทว่า ประเทศไทยเข้าสู่วิกฤตการณ์ภัยแล้งอย่างเลี่ยงไม่ได้ อ่างเก็บน้ำหลายแห่งแห้งขอด เกิดผลการะทบต่อฤดูกาลเพาะปลูกข้าวนาปี ขณะชาวเมืองอาจต้องเผชิญภาวะแย่งน้ำกินน้ำใช้
สะเทือนคนเมืองอย่างไร
สมิทธ ธรรมสโรช ประธานมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เคยกล่าวไว้เมื่อปลายปี 2557ความว่า เป็นห่วงภัยแล้งที่ประเทศไทยกำลังประสบในขณะนี้ และต่อเนื่องไปถึงเดือน พ.ค. ปี 2558 จะเกิดวิกฤติเรื่องน้ำกินน้ำใช้รุนแรง จนไม่มีน้ำใช้ ยิ่งฝนทิ้งช่วงทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลงไปอีก และส่งผลต่อการผลิตน้ำปะปาขาดแคลน เนื่องจากชาวนาไม่หยุดปลูกข้าว จะเกิดปัญหาลุกลามเรื่องการแย่งน้ำระหว่างคนเมืองกับชนบท โดยชาวนาสูบน้ำออกจากแม่น้ำหมด ไปใส่นาข้าว เพราะเขาไม่ยอมให้ข้าวยืนต้นตาย และไม่มีกฎหมายบังคับไม่ให้ชาวนาสูบน้ำ
"เกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำทั้งน้ำปะปา น้ำจืดไล่น้ำทะเลก็ไม่มี เริ่มเกิดปัญหาตั้งแต่ ม.ค. ในเดือน ก.พ.จะเห็นปัญหาชัดเจน น้ำทะเลหนุนสูงเรื่อย ๆ จนน้ำเค็มเข้ามาปากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่กลอง เพราะน้ำจืดน้อย น้ำเค็มเข้ามาลึก กรมชลประทาน จะปล่อยน้ำมาได้แค่ไหน เพราะถูกชาวนาดักสูบกลางทาง ปีนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนน้อยที่สุด น่าจะไม่พอใช้ฤดูแล้ง เตือนประชาชนหาทางเก็บน้ำไว้ใช้เองในแต่ละบ้าน และควรใช้น้อย ๆ ต้องประหยัดน้ำกันมาก ๆ เพราะน่าห่วงกว่าทุกปี ฝนไม่มีตกจนเลยเดือนพ.ค.ไปแล้ว"
ทั้งนี้ เป็นผลพวงจากการที่ประเทศไทยได้เข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนิโญ ฝนทิ้งช่วงในฤดูฝน ส่งผลให้เกิดสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ต่างๆ น้ำไหลลงเขื่อนในปริมาณน้อย ส่งผลกระทบกับน้ำในเขื่อนที่ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค การผลิตกระแสไฟฟ้า รวมถึงส่งผลกับเกษตรกรต่างๆ ที่กำลังเริ่มการเพาะปลูกทั่วประเทศ โดยเฉพาะเกษตรกรในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่เริ่มการเพาะปลูกข้าวนาปี ตั้งแต่เดือน พ.ค.
รับมือภัยแล้งอย่างไร
ในงานแถลงข่าวการป้องกัน และรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง ความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงกลาโหม โดย เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า การวางแผนการจัดการน้ำในพื้นที่ชลประทาน จะให้ความสำคัญในเรื่องของน้ำอุปโภคและบริโภค และการเกษตร ซึ่งเตรียมการรับมือดังนี้
1. ชี้แจงเพื่อสร้างความรู้ วิธีการปรับตัว เพื่อลดผลกระทบแก่เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำ และนอกเขตชลประทาน
2. วางแผนการเพาะปลูกในฤดูแล้งให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำ และงดส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรัง
3. การขุดลอกคูคลองนอกเขตชลประทาน
4. เตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ 1,900 เครื่อง และรถบรรทุกน้ำ 295 คัน
5. เตรียมปฏิบัติการฝนหลวง โดยเริ่มในวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา และมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรขณะประสบภัย เร่งรัดโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 2557 - 2558 เช่น การจ้างแรงงาน ส่งเสริมอาชีพ มีการขับเคลื่อนโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชน และสนับสนุนเงินทุนให้สหกรณ์กู้ยืม ให้กับสมาชิกที่ประสบภัยแล้ง โดยไม่คิดดอกเบี้ย
ด้าน ธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) กล่าวผ่านสื่อมวลชนความว่า ตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค. การประปาฯ จะลดกำลังการผลิตและจ่ายน้ำประปาที่โรงงานผลิตน้ำบางเขนจาก 3.9 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวันเหลือ 3.6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ส่งผลให้น้ำประปาไหลอ่อนลงกว่าเดิมในบางช่วง ทั้งนี้ หากฝนไม่ตกอาจะต้องใช้น้ำกร่อยเพื่อการอุปโภค แต่ยืนยันว่าน้ำจะไม่ขาดแคลน พร้อมประสานกรมชลประทานเข้ามาให้ความช่วยเหลือ
….................
ข่าวโดย Astv ผู้จัดการ Live
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754