xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตน้ำคนเมือง 30 วัน! นานพอจะเตรียมพร้อม หรือสั้นเกินจะรับมือ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์เตือนกรุงเทพฯ อีก 30 วันจะไม่มีน้ำใช้! ข่าวพาดหัวสร้างความตื่นตระหนกให้กับคนกรุงเทพฯ น้ำที่เคยไหลออกจากก๊อกเมื่อต้องการ เมื่อถึงวันหนึ่งหากเปิดก๊อกน้ำแล้วพบกับความว่างเปล่า เป็นสิ่งที่คนเมืองคาดไม่ถึงว่าจะมีวันนี้

เนื้อความจากรอยเตอร์ระบุว่า "ให้คนกรุงเทพฯ เตรียมกักตุนน้ำอุปโภคบริโภคไว้ 60 ลิตร! เพราะกรุงเทพฯ อาจมีน้ำประปาสำหรับใช้สอยได้เพียงแค่ 30 วันเท่านั้น"


30 วัน มากพอจะเตรียมตัว แต่สั้นเกินไปหากต้องเผชิญกับวิกฤตที่ไม่คาดคิด คนเมืองทั้งหลายอ่านข่าวแล้วคงตระหนกตกใจไปตามกัน แต่ความจริงจะเป็นอย่างไร อาจเป็นสิ่งที่เราต้องลงลึกไปมองถึงต้นสายปลายเหตุของวิกฤตครั้งนี้


เขื่อนต่างๆ ปริมาณน้ำเข้าขั้นวิกฤต 

ภูมิพลน้ำน้อยที่สุดในรอบ 51 ปี! 
ทุกสิ่งอย่างล้วนเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน อาหารไม่ได้มีต้นกำเนิดมาจากซูเปอร์มาร์เก็ต เช่นเดียวกับน้ำไม่ได้ไหลออกมาจากก๊อกน้ำโดยไม่มีที่มา ทุกสิ่งล้วนมีต้นกำเนิด เมื่อฝนไม่ตก น้ำในเขื่อนไม่มี น้ำที่ไหลมาสู่ก๊อกน้ำตามบ้านเรือนก็ย่อมไม่มีเช่นกัน

เนื้อข่าวจากรอยเตอร์ที่ระบุว่า เมื่อพิจารณาดูจากปริมาณน้ำล่าสุดที่สามารถกักเก็บได้นั้นมีจำนวนลดลงอย่างน่าใจหาย โดยในเดือนพฤศจิกายน 2014 ไทยสามารถกักเก็บน้ำรวมกันจากทั้ง 3 เขื่อนหลักได้เพียงแค่ 5 พันล้านคิวบิกเมตร เมื่อเทียบกับตามปกติก่อนหน้านั้นสามารถกักเก็บได้ถึง 8 พันล้านคิวบิกเมตร! เมื่อหันมามองถึงต้นเหตุคือจากปริมาณน้ำตามเขื่อนต่างๆ จากข้อมูลที่ได้จากหลายฝ่าย ที่ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า เรากำลังประสบกับภาวะวิกฤตกันจริงๆ

เริ่มจาก นายสุเทพ เลิศศรีมงคล ผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์ เปิดเผยว่า “เขื่อนสิริกิติ์มีน้ำไหลเข้าเขื่อนเฉลี่ยเพียง 3 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ว่างสามารถรับน้ำใหม่จำนวน 6,276 ล้านคิวบิกเมตร หรือ 65.99% ของพื้นที่ทั้งหมด สภาพของอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ในปัจจุบัน บางจุดมีน้ำแห้งขอด จนเรือและแพต่างๆ ต้องจอดนิ่ง”

สอดคล้องกันกับภาพข่าวที่ปรากฏทางโทรทัศน์ ที่ฉายภาพให้เห็นในบางพื้นที่ที่ไม่มีน้ำจนชาวบ้านนำวัวควายลงมาเลี้ยง กลายเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ขนาดย่อมไป  

ในส่วนข้อมูลจาก นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ที่กล่าวไว้ว่า ปริมาณสะสมของฝนทั้งประเทศในปีนี้น้อยกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 30 ถือได้ว่ามีปริมาณต่ำสุดนับจากปี 2547 จึงทำให้กรมชลประทานยังคงการระบายน้ำวันละ 28 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวันเพื่อไม่ให้กระทบต่อน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค

"ทั้งเขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนภูมิพล เขื่อนแควน้อย เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำน้อยมาก รวมกันทั้งหมดแล้วเพียง 600 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร โดยเมื่อลงมาดูถึงรายละเอียดแล้ว ปัจจุบันเขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำอยู่เพียง 195 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ 369 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยประมาณ 66 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักฯ มีประมาณ 45 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งทั้งหมดนับว่าน้อยมาก เขื่อนภูมิพลและเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนในรอบสัปดาห์นี้ยังไม่มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเลย ซึ่งหากภายในสัปดาห์หน้าฝนยังไม่ตกสม่ำเสมอก็อาจจะกระทบกับข้าวนาปีในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ปลูกไปแล้วกว่า 340,000 ไร่"

กล่าวได้ว่านับตั้งแต่ก่อนสร้างเขื่อนภูมิพลมา ปีนี้ถือว่ามีปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลถือว่าน้อยที่สุดในรอบ 51 ปี! ทั้งนี้ ล่าสุดระดับน้ำในเขื่อนภูมิพลถือว่าอยู่ในระดับวิกฤตขั้น 2 คือมีน้ำเพียงพอสำหรับการใช้ในครัวเรือนเท่านั้น อันมีความคล้ายคลึงกับสถานการณ์ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ที่ปัจจุบันมีการใช้มาตรการปันน้ำ และถึงกระทั่งสั่งห้าม ไม่ให้มีการรดน้ำสนามหญ้าโดยเด็ดขาด

จริงหรือไม่? ที่กทม.น้ำจะไม่ไหลในอีก 30 วัน

รอยเตอร์-เผยข้อมูลภัยแล้งจากการให้สัมภาษณ์ของธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการประปานครหลวง
“หากยังไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม ประชาชนในกรุงเทพฯ จะมีน้ำประปาไว้ใช้สอยต่อไปได้เพียงแค่ 30 วันเท่านั้น” พร้อมกับประกาศให้ผู้ใช้น้ำกักตุนน้ำดื่มจำนวน 60 ลิตรไว้ในยามฉุกเฉิน !
“ขณะนี้มีน้ำในเขื่อนเหลือเพียงพอที่จะสามารถป้อนเข้ามาทำน้ำประปาได้เพียงแค่ 30 วันเท่านั้น ในกรณีที่ฝนไม่ตก”

เหล่านี้คือถ้อยคำจาก นายธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการประปานครหลวง ที่ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ ล่าสุดจากเฟซบุ๊ก ของการประปานครหลวง กปน. (Metropolitan Waterworks Authority - MWA) ได้ขึ้นชี้แจงว่า จากข่าวที่น้ำประปาจะหยุดไหลภายใน 30 วันกรณีฝนไม่ตก ขอให้ประชาชนอย่าวิตก เพราะเป็นการคาดการณ์เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงฝนเริ่มตกลงมาบ้างแล้ว และเป็นไปไม่ได้ที่ทาง กปน. จะหยุดจ่ายน้ำ อาจจะต้องลดปริมาณการผลิตลงเท่านั้น

ผู้ว่าการประปานครหลวง ได้ออกมากล่าวเตือนไม่ให้ประชาชนตระหนกตกใจ เนื่องจากเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าเท่านั้นในกรณีที่ฝนไม่ตกลงมาเลย เพราะในความเป็นจริง ฝนได้เริ่มตกลงมาบ้างแล้วในตอนนี้ แม้จะเป็นปริมาณไม่มากก็ตาม และทางการประปานครหลวงไม่มีทางที่จะหยุดจ่ายน้ำอย่างแน่นอน เพียงอาจจะต้องลดปริมาณการผลิตลง รวมถึงน้ำอาจจะมีความกร่อยไปบ้างก็ตามที จึงไม่น่าห่วงว่าจะเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น

"มีบางวันที่ระดับน้ำเค็มเพิ่มสูงขึ้น และทำให้ทางการประปานครหลวงตัดสินใจไม่นำน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามาใช้ในการผลิต แต่เราใช้น้ำจากคลังเก็บน้ำสำรองในคลองชลประทานที่เรามีเพื่อนำผลิต แต่ทางการประปาสามารถหยุดการนำน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อมาใช้ในการผลิตได้แค่เพียง 3 ชม.เท่านั้น ขอให้ประชาชนอย่าได้วิตกกังวลเกินไป แต่อยากจะขอความร่วมมือให้ใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อยืดเวลาให้มีน้ำใช้ต่อไปให้นานที่สุดจนกว่าฤดูฝนจะมาถึง ตอนนั้นสถานการณ์ก็จะคลี่คลายลงไป" รองผู้ว่าการประปานครหลวงกล่าวย้ำ

เมื่อทางทีมข่าว Live ยกหูสอบถามความเห็นของ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน “ปัจจุบันการวัดระดับน้ำที่นำมาเสนอข้อมูลนั้นเป็นการนำเสนอเฉพาะปริมาณน้ำและน้ำฝนที่อยู่ในเขื่อน แต่ไม่ได้กล่าวถึงปริมาณน้ำนอกเขื่อน ซึ่งก็มีปริมาณน้ำฝนที่ตกและไหลมาสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเช่นกัน อีกทั้งปริมาณน้ำฝนที่ใช้ในการอุปโภคนั้นเพียง 10 % ของการเกษตร ดังนั้น ผมจึงคิดว่าเรื่องการอุปโภคบริโภคนั้นคงไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับน้ำที่จะนำไปใช้ในเรื่องการเกษตร”

นายหาญณรงค์ กล่าวเสริมว่า "จากข่าวที่ทางรอยเตอร์รายงาน ว่าน้ำในกทมจะมีพอใช้แค่อีกหนึ่งเดือนนั้น คงเป็นการตีความจากข้อมูลด้านเดียวมากกว่า ดูแต่ปริมาณน้ำในเขื่อนอย่างเดียว ไม่ดูปัจจัยเสริมอื่นๆ อย่างเช่นเรื่องฝนที่คงจะตกลงมาบ้างใน 30 วันนี้ หากมีตุนไว้ถึง 30 วัน เพราะเป็นไปได้ยากที่ฝนจะไม่ตกลงมาเลยในระหว่างนี้ ผมว่าเรื่องพื้นที่เกษตรกรรมทางภาคเหนือตอนล่าง กับภาคกลางนั้นน่าห่วงกว่า"

บริหารจัดการน้ำผิดพลาด หรือเพราะน้ำประปาถูกเกินไป?

เมื่อมองย้อนกลับไปถึงต้นเหตุของวิกฤตน้ำในแต่ละครั้ง อาจย้อนกลับมาสู่ปัญหาระบบการจัดการน้ำของไทยที่ไม่ชัดเจน

"การบริหารจัดการน้ำในปัจจุบัน มีความไม่เป็นระบบทั้งขาดหลักวิชาการ รวมถึงไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริง ว่าเราจะเลือกเดินไปในทิศทางใดอย่างชัดเจน" นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ กล่าวแสดงความคิดเห็นเมื่อถูกสอบถามในประเด็นการจัดการน้ำของไทยในปัจจุบัน

ดังเช่น เมื่อปี 2555 เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รัฐบาลมีการระบายน้ำออกจากเขื่อนมากขึ้น พอน้ำในเขื่อนมีปริมาณน้อยลง การเกษตรทำนาปรังหรือการเกษตรอื่นๆ จึงน้อยลงตามไปด้วย จากที่ในฤดูแล้งจะมีพื้นที่ที่สามารถปลูกข้าวนาปรังได้ทั้งหมดประมาณ 11-13 ล้านไร่ ก็จะทำนาได้น้อยลง เพราะน้ำไม่พอใช้

"วิกฤตน้ำที่ไทยเผชิญ ทั้งความแล้ง หรือน้ำมากเกินไปในบางปี ส่วนหนึ่งผมมองว่า เพราะเรายังไม่มีการจัดการที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ในเรื่องศักยภาพของแต่ละลุ่มน้ำ คือเราจะต้องรู้ว่าลุ่มน้ำนี้มีปริมาณน้ำเท่าไหร่ น้ำที่มีอยู่กับพื้นที่การเกษตร นั้นเหมาะกับการพัฒนาในรูปแบบไหน เช่น ไม่ควรทำระบบชลประทานในภาคใต้ เพราะพืชที่ปลูกในภาคใต้นั้นไม่จำเป็นต้องรดน้ำ คือการจัดการน้ำไม่จำเป็นต้องทำระบบชลประทานเลียนแบบภาคกลางเหมือนกันทั้งประเทศ แต่ต้องทำให้เหมาะสมกับในแต่ละพื้นที่ และบางครั้งเราก็ต้องกำหนดชัดเจนไป ว่าเราจะเลือกหรือเน้นไปในทิศทางใด จะเลือกที่จะแก้ไขเรื่องปัญหาน้ำท่วมเป็นหลัก หรือจะเลือกที่จะทำชลประทานเพื่อเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรม" นายหาญณรงค์ ให้สัมภาษณ์ทิ้งท้าย

ในด้านของผู้ว่าการประปานครหลวงได้ให้ความเห็นเสริมว่า “ส่วนหนึ่งของปัญหาอาจเป็นเพราะเรามองไม่เห็นคุณค่าของทรัพยากรน้ำ คนกรุงเทพฯ ควรประหยัดการใช้น้ำให้มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน กรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่ที่มีราคาน้ำประปาถูกที่สุดก็ว่าได้ อีกส่วนหนึ่งมองว่าราคาน้ำต่อหน่วยนั้นมีราคาที่ถูกมาก คือ 8.50 บาท ต่อ 1,000 ลิตร ทำให้คนส่วนใหญ่อาจมองไม่เห็นคุณค่า ซึ่งราคานี้เราไม่มีการปรับขึ้นมาตั้งแต่ปี 1999”

"เป็นที่น่าแปลกว่าประเทศไทยที่มีน้ำท่วมในแทบทุกปีตามพื้นที่ หากกลับไม่สามารถนำน้ำเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ได้ กลับจำต้องปล่อยน้ำจำนวนมหาศาลทิ้งลงมหาสมุทรลงไปอย่างเปล่าประโยชน์" ผู้ว่าการประปานครหลวงกล่าวทิ้งท้าย เป็นถ้อยคำที่ฟังแล้วแฝงไปด้วยความตัดพ้อเล็กๆ

ใช่หรือไม่ว่า วิกฤตแล้งครั้งนี้ จะเป็นบทเรียนให้ได้เรียนรู้ว่าอนาคตเราควรจะจัดการทรัพยากรน้ำอย่างไร? รวมถึงเพิ่มความตระหนักรู้ถึงความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ ว่าสิ่งที่เราใช้มาจากไหน อย่างไร? 
 
บางทีเราต้องถามตัวเองและมองไปถึงความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ ให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่...

ข่าวโดยASTV ผู้จัดการLive




รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น