xs
xsm
sm
md
lg

กปน.ปัดข่าวลือ! ยันมีน้ำพอผลิตประปาจ่ายคนกรุง - 12 จว.วิกฤต “มท.1” สั่ง ผู้ว่าฯ ป้องแย่งน้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการกปน.
“บิ๊กป๊อก” สั่งผู้ว่าฯ สำรวจข้อมูลภัยแล้ง ป้องศึกแย่งน้ำ ยัน “น้ำประปาชาวกรุง” ไม่กระทบยังมีใช้ ชี้ ฝนตกน้อยมีปัญหาแน่ “กปน.” ปัดข่าวลือ ยันมีน้ำพอผลิต วอนประชาชนร่วมประหยัด “ปภ.” ชี้ 12 จังหวัด วิกฤตพื้นที่ภัยแล้ง เร่งออกแจกจ่ายน้ำให้ประชาชน “ปนัดดา” ชี้ หากปลายสิงหาฯ ยังไม่มีน้ำ ประสบปัญหามาก

วันนี้ (8 ก.ค. 58) ที่ ห้องประชุม 1 กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมผ่านระบบ video conference ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และ ปัญหาฝนทิ้งช่วง และ ติดตามความก้าวหน้าการจัดกิจกรรม Bike For Mom ปั่นเพื่อแม่ ในส่วนภูมิภาค

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กำชับให้ทุกจังหวัดติดตามสถานการณ์ภัยแล้งภายในจังหวัดอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในพื้นที่ทำการเกษตรในเขตชลประทาน ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ เร่งสร้างความเข้าใจกับพี่น้องเกษตรกรตามแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ ตามที่รัฐบาลกำหนด เพื่อประคับประคองพืชผลทางการเกษตรที่ได้เพาะปลูกไปแล้วไม่ให้เกิดความเสียหายและไม่ให้มีปัญหาการแย่งน้ำ ซึ่งจะต้องมีการบริหารจัดการที่ดีและเป็นธรรม ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดต้องรู้ปัญหาว่าที่ไหน มีปัญหาอย่างไร พื้นที่ใดมีปัญหาต้องเร่งแก้ไขทั้งชาวไร่ ชาวนา พืชไร่ และการประมง และ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอลงไปดูแลทุกข์ของพี่น้องเกษตรกร เพื่อสร้างความอุ่นใจและถ่ายทอดความห่วงใยของรัฐบาลไปสู่พี่น้องประชาชน ในส่วนของการทำการเกษตรนอกเขตชลประทานที่ต้องรอฝนต้องลงไปดูแลด้วยเช่นกัน หากที่ใดมีปัญหาต้องหาแนวทางการช่วยเหลือ ด้านน้ำอุปโภคบริโภคขอให้ดำเนินการตามแผนงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ในที่ประชุมหารือข้อราชการผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ได้มีการหารือใน 2 ส่วน คือ น้ำด้านการเกษตร ได้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลงไปดูในรายละเอียด พื้นที่ไหนควรแก้ไขอย่างไร ทางผู้ว่าฯต้องรู้ข้อมูล เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหา ซึ่งในบางพื้นที่มีฝนตกแล้ว ถือเป็นเรื่องที่ดี ตามที่ตนเคยระบุไปก่อนหน้านี้ ถ้าฝนตกในช่วงเดือน ก.ค. นี้ น่าจะไม่เกิดความเสียหายมาก

ส่วนพื้นที่ที่ฝนยังไม่ตก หรือทิ้งช่วง อาจจะมีปัญหา ทางผู้ว่าฯก็จะได้รวบรวมข้อมูลทุกพื้นที่ ประกอบกับตรวจสอบความเสียหาย ถ้าคาดว่า จะเกิดขึ้น ขณะที่น้ำในการอุปโภคบริโภคนั้น ในพื้นที่ของการประปานครหลวงยังไม่มีปัญหา ส่วนพื้นที่ของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) มีแค่ชุมชนเดียวที่ยังเกิดปัญหา โดยได้นำน้ำประปาจากสาขาใกล้เคียง ไปสนับสนุน อย่างไรก็ตาม ยังมีใน 14 สาขาของ กปภ. ที่อาจจะต้องเปิดหรือปิดจ่ายน้ำเป็นช่วงเวลา นอกนั้นไม่มีปัญหา

เมื่อถามว่า อาจะมีปัญหาการแย่งน้ำ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวแจ้งไปยังผู้ว่าฯแล้ว ให้สร้างความเข้าใจ ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยได้เน้นย้ำให้สร้างความเข้าใจต่อประชาชนด้วยอีกทาง

“พอผมได้คุยกับผู้ว่าฯ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีปัญหา ได้เห็นมาตรการที่ร่วมกับกรมชลประทานแล้ว น่าจะเบาใจลงไปได้ว่า ประชาชนเขาได้รับการดูแล” รมว.มหาดไทย กล่าว

รมว.มหาดไทย กล่าวอีกว่า ส่วนความเข้าใจผิดว่าน้ำประปาจะหยุดไหลในอีก 30 วัน ตามกระแสจากโซเชียลเน็ตเวิร์กนั้น จากการได้รับฟังบรรยายสรุปจากผู้ว่าฯ ในเรื่องฝนน้อยมีปัญหาแน่นอน ทางผู้ว่าฯก็แก้ไขไปมาก แต่ในการสร้างความรับรู้ยังทำได้ไม่ดี เลยเน้นย้ำให้ช่วยทำความเข้าใจถึงปัญหา และการแก้ไขต่อประชาชน ขณะที่กระแสดังกล่าวจากโซเชียลมีเดีย ในส่วนของคนกรุงเทพฯ ยืนยันว่า ขณะนี้ไม่มีผลกระทบ

อีกด้าน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายรัฐมนตรี และ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เดินทางมาตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการน้ำ ที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งขณะนี้มีปริมาณน้ำประมาณ 57 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 21 ของความจุ โดยระบุว่า นายกรัฐมนตรีให้ความเป็นห่วงประชาชน จึงสั่งการให้มาตรวจเยี่ยมภาพรวมของพื้นที่ ปิง วัง ยม น่าน โดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ ลำปาง พิษณุโลก พิจิตร ซึ่งจะไหลรวมเป็นน้ำเจ้าพระยา ที่ จ.ชัยนาท โดยวงรอบของภัยแล้งจะเกิดขึ้นทุก ๆ 10 ปี จึงขอให้ประชาชนช่วยกันประหยัดน้ำ สร้างความรับผิดชอบร่วมกันในพื้นที่เกษตร ซึ่งหากปลายเดือนสิงหาคมนี้ ยังไม่มีน้ำ จะประสบปัญหามาก แต่จากการวิเคราะห์ เชื่อว่า กลางเดือนกรกฎาคมนี้ ฝนน่าจะเพิ่มมากขึ้น ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไว้ ส่วนภาพรวมของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ที่มีปริมาณน้ำน้อย แต่พื้นที่ภาคกลางมีความรุนแรงกว่า

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ประชาชนประหยัดน้ำ และให้รัฐมนตรีเป็นตัวอย่างในการประหยัดน้ำให้กับประชาชนด้วย

วันเดียวกัน ที่การประปานครหลวง (กปน.) ได้จัดโครงการ “รณรงค์การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า” (Demand Side Management : DSM) รวมพลคนประหยัดน้ำ ให้กับประชาชนและ Water Ranger ปฏิบัติการพิทักษ์น้ำปีที่ 4 สำหรับนักเรียน เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาภัยแล้ง ในช่วง 2 เดือนนี้

นายธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการ กปน. กล่าวว่า หลังมีกระแสข่าวว่า น้ำประปาในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะหยุดไหลภายใน 30 วัน หากถ้าฝนยังไม่ตกลงมาเติมปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก กระแสข่าวดังกล่าวไม่เป็นเรื่องจริง ขอให้ประชาชนไม่ต้องตื่นวิตกกังวล เพราะจากที่ประเมินสถานการณ์น้ำล่าสุด ปริมาณน้ำในเขื่อนที่สามารถใช้ในตอนนี้มีประมาณ 600 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยทางกรมชลประทานปล่อยลงมาวันละ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยการประปานครหลวงนำมาผลิตน้ำวันละ 3,700,000 ลูกบาศก์เมตร คาดว่า จะสามารถใช้ได้ 24 วัน ถ้าหากฝนยังไม่ตกลงมา แต่จากที่ติดตามสถานการณ์ขณะนี้เริ่มมีฝนตกลงมาแล้ว เพราะปกติทุก ๆ ปี น้ำจะได้เข้าสู่เขื่อนช่วงเดือนสิงหาคม จึงยืนยันว่า การประปานครหลวงจะมีน้ำที่ฝใช้ในการผลิตให้ประชาชนใช้อย่างเพียงพอไปจนถึงฤดูฝนนี้ แต่ขอความร่วมมือจากประชาชนให้ช่วยกันใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าด้วยเช่นกัน

ส่วนปัญหาจากน้ำทะเลหนุน ที่อาจจะส่งผลทำให้น้ำของการประปาเค็มนั้น ว่า ไม่น่ามีปัญหาเพราะเป็นเรื่องปกติ ที่ระดับน้ำทะเลจะหนุนสูงอยู่ทุกวันประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง และจะลดลงไปเอง ซึ่งช่วงเวลาระหว่างที่น้ำทะเลหนุนนั้น ทางการประปานครหลวงจะปิดระบบสูบน้ำชั่วคราว ซึ่งยืนยันว่าไม่มีผลกระทบอย่างแน่นอน

ด้าน นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า หลายพื้นที่ของประเทศได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วง โดยมีพื้นที่ประสบภัยแล้ง 40 จังหวัด คลี่คลายแล้ว 28 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ใน 12 จังหวัด 77 อำเภอ 462 ตำบล 4,542 หมู่บ้าน เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้บูรณาการแก้ไขปัญหา และให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นได้มีการแบ่งการดำเนินงานเป็น 4 เรื่อง ได้แก่ การแจกจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำ เพื่อการเกษตร จัดรถบรรทุกน้ำจำนวน 545 คัน ออกให้บริการแจกจ่ายน้ำ จำนวน 26,730 เที่ยว รวมปริมาณน้ำ 177,045,831 ลิตร การสนับสนุนน้ำดิบแก่พื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง จัดเครื่องสูบน้ำ 79 เครื่อง สูบน้ำจากแหล่งน้ำดิบไปยังถังเก็บน้ำกลางประจำหมู่บ้าน การสนับสนุนเครื่องจักรกลสาธารณภัยในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง สนับสนุนการซ่อม/สร้างทำนบ และฝายเก็บน้ำจำนวน 638 แห่ง ขุดลอกแหล่งน้ำจำนวน 87 แห่ง เพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บ และสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำ โดยเร่งขุดลอกสระน้ำ - บ่อน้ำ เป่าล้างบ่อบาดาล และปรับปรุงลำน้ำที่ตื้นเขินในพื้นที่ประสบภัยแล้ง และอุทกภัยซ้ำซากในพื้นที่ 76 จังหวัด

ทั้งนี้ ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้งน้อยที่สุด



พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น