xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

20 วันอันตราย ลุ้นระทึก ประปาเมืองกรุงเหือด เขื่อนแห้งขอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ข่าวรอยเตอร์ที่จั่วหัว “กรุงเทพฯ อาจมีน้ำประปาเหลือใช้ได้แค่ 30 วัน” เตือนคนกรุงเร่งกักตุนน้ำดื่มยามฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา สร้างความตื่นตระหนกให้กับชาวเมืองหลวง และแพร่สะพัดในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กดุจไฟลามทุ่ง จนทำให้ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดประชุมผ่านวีดีโอคอนเฟอร์เรนท์กับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และถือโอกาสสยบข่าวของรอยเตอร์ลดความตื่นตระหนกลง ซึ่งก็ถือเป็นโชคของรัฐบาลที่สังคมหันมาสนใจข่าว “แตงโม-โตโน่” เป็นวาระแห่งชาติชั่วคราว

รายงานขนาดยาวของ ทอมสัน รอยเตอร์ ฟาวเดชัน ซึ่งประมวลสถานการณ์อย่างรอบด้านเกี่ยวกับปัญหาภัยแล้งที่กำลังคุกคามประเทศไทยอย่างหนักในรอบหลายสิบปี ได้อ้างการให้สัมภาษณ์ของนายธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการประปานครหลวง เมื่อวันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า “หากยังไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม ประชาชนในกรุงเทพฯ จะมีน้ำประปาไว้ใช้สอยต่อไปได้เพียงแค่ 30 วันเท่านั้น ในกรณีที่ฝนไม่ตกเลย” พร้อมกับประกาศให้ผู้ใช้น้ำกักตุนน้ำดื่มจำนวน 60 ลิตรไว้ในยามฉุกเฉิน หลังสถานการณ์ในต่างจังหวัดวิกฤต รวมไปถึงระดับน้ำในเขื่อนพลังงานภูมิพล จังหวัดตาก ที่อยู่ในขั้นวิกฤตระดับ 2 คือ ไม่สามารถระบายเพื่อการเกษตร แต่มีน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค ระบายให้แก่ประชาชนในพื้นที่ท้ายน้ำได้เท่านั้น และยังรายงานถึงสภาพของถนนทรุดตัวก่อนหน้านี้ด้วย

รอยเตอร์รายงานเพิ่มเติมว่า ตามปกติระดับน้ำฝนและน้ำในเขื่อนจะช่วยกั้นไม่ให้น้ำเค็มจากอ่าวไทยไหลเข้ามา แต่ทว่าในช่วงหน้าแล้ง น้ำเค็มได้คืบคลานไปยังบริเวณต้นแหล่งน้ำ ส่งผลทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยากลายเป็น “น้ำกร่อย” ที่มีรสชาติเค็มเล็กน้อย และน้ำกร่อยที่มีเกลือผสมนี้ไม่สามารถใช้ทำการเกษตรได้ เพราะพืชผลตอลดจนต้นไม้ต่างๆ จะตายหากมีการใช้น้ำกร่อยรด และยังนำลายสถานีสูบน้ำ ซึ่งดูดน้ำจากแม่น้ำร่วม 100 กม. ลงสู่อ่าวอีกด้วย

การประปานครหลวง มีกำลังการผลิตน้ำประปา 5.2 ล้านคิวบิกเมตร/วัน สำหรับผู้ใช้น้ำร่วม 2.2 ล้านคน ที่รวมไปถึง โรงงาน ธุรกิจ และห้างร้านต่างๆ แต่ทว่าทางการประปานครหลวงยังไม่มีความสามารถในการบำบัดน้ำเค็มได้อย่างมีประสิทธิภาพทันตามความต้องการ “มีบางวันที่ระดับน้ำเค็มเพิ่มสูงขึ้น และทำให้ทางการประปานครหลวงตัดสินใจไม่นำน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามาใช้ในการผลิต แต่เราใช้น้ำจากคลังเก็บน้ำสำรองในคลองชลประทานที่เรามีเพื่อนำผลิต แต่ทางการประปาสามารถหยุดการนำน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อมาใช้ในการผลิตได้แค่เพียง 3 ชม.เท่านั้น” ผู้ว่าการประปานครหลวง ยอมรับวิกฤตที่เกิดขึ้น

รอยเตอร์ รายงานต่อว่า การประปานครหลวงได้ประกาศเตือนให้ผู้ใช้น้ำในเขตกรุงเทพฯกักตุนน้ำดื่มจำนวน 60 ลิตร ไว้ในการเตรียมพร้อมเมื่อมีการประกาศแจ้งน้ำประปาขาดแคลนออกมา และพร้อมกันนั้นยังขอให้คนกรุงเทพฯ ลดปริมาณการใช้น้ำลง แต่ทว่าในตอนนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จ โดยนายธนศักดิ์ ให้เหตุผลเพราะราคาต่อหน่วยของปริมาตรน้ำที่ผู้ใช้ต้องจ่ายเป็นราคาที่ถูกมากคือ 8.50 บาท / 1,000 ลิตร ซึ่งเป็นนับว่าถูกมากที่สุดในโลกสำหรับน้ำประปาในนครหลวงขนาดใหญ่

รายงานของรอยเตอร์ชิ้นดังกล่าวอาจสร้างความขุ่นเคืองใจให้กับผู้นำประเทศและคณะรัฐบาล จึงทำให้นายธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการประปานครหลวง ต้องออกมาชี้แจงถึงกระแสข่าวดังกล่าวในวันถัดมาเพื่อลดทอนความตระหนก โดยปฏิเสธข่าวดังกล่าวไม่เป็นเรื่องจริงขอให้ประชาชนไม่ต้องตื่นวิตกกังวล

แต่กระนั้น กลับดูเหมือนผู้ว่าการประปานครหลวง จะยอมรับความจริงที่ยากปฏิเสธเพราะจากการประเมินสถานการณ์ล่าสุด (เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม) พบว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนที่ สามารถใช้ในตอนนี้มีประมาณ 600 ล้านลูกบาศก์เมตร ทางกรมชลประทานปล่อยลงมาวันละ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อให้การประปานครหลวง นำมาผลิตน้ำวันละ 3,700,000 ลูกบาศก์เมตร “คาดว่า จะสามารถใช้ได้ 24 วัน ถ้าหากฝนยังไม่ตกลงมา แต่จากที่ติดตามสถานการณ์ขณะนี้เริ่มมีฝนตกลงมาแล้ว เพราะปกติทุก ๆ ปี น้ำจะได้เข้าสู่เขื่อนช่วงเดือนสิงหาคม จึงยืนยันว่า การประปานครหลวงจะมีน้ำที่ใช้ในการผลิตให้ประชาชนใช้อย่างเพียงพอ ไปจนถึงฤดูฝนนี้”

นั่นเป็นการคาดการณ์และเป็นความคาดหวังของนายธนศักดิ์ ว่าเมื่อเข้าสู่เดือนสิงหาคมแล้ว ฝนจะตกลงมามีน้ำเติมเข้าเขื่อนหลัก และทำให้ปัญหานี้คลี่คลายไปได้

ส่วนปัญหาจากน้ำทะเลหนุน ที่อาจจะส่งผลทำให้น้ำของการประปาเค็มนั้น ว่า ไม่น่ามีปัญหาเพราะเป็นเรื่องปกติ ที่ระดับน้ำทะเลจะหนุนสูงอยู่ทุกวันประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง และจะลดลงไปเอง ซึ่งช่วงเวลาระหว่างที่น้ำทะเลหนุนนั้น ทางการประปานครหลวงจะปิดระบบสูบน้ำชั่วคราว ซึ่งยืนยันว่าไม่มีผลกระทบอย่างแน่นอน

ปัญหาภัยแล้งทำให้ประชาชนตามภูมิภาคอื่นๆ เดือดร้อนกันทั่วหน้า โดยเฉพาะปัญหาระดับน้ำในเขื่อนที่อยู่ในขั้นต่ำอย่างวิกฤต

นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก เปิดเผยเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า สถานการณ์น้ำกักเก็บของเขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก ยังคงอยู่ในขั้นวิกฤตระดับที่ 2 คือ ไม่สามารถระบายเพื่อการเกษตร แต่มีน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค ระบายให้แก่ประชาชนในพื้นที่ท้ายน้ำได้เท่านั้น และยังถือว่าปีนี้เป็นปีที่มีน้ำใหม่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลน้อยที่สุดในรอบ 51 ปี ของการก่อสร้างเขื่อนภูมิพล โดยระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 6 กรกฎาคม (ปีน้ำ นับตั้งแต่ 1 เมษายน - 31 มีนาคม) มีน้ำเหนือใหม่ที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลเพียง 48.13 ล้านคิวบิกเมตร

ประกอบกับฝนในพื้นที่ตกไม่มากพอ และพื้นดินที่แห้งแล้งเมื่อเจอกับฝนตกทำให้ดูดซับน้ำไว้เกือบหมด ส่งผลให้ในวันที่ 6 กรกฎาคม มีน้ำใหม่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เพียง 0.89 ล้านคิวบิกเมตรเท่านั้น และมีพื้นที่ว่างในเขื่อนสามารถรับน้ำใหม่ได้จำนวนถึง 9,455 ล้าน คิวบิกเมตร หรือ 70.24% ของพื้นที่ทั้งหมด

ด้านสถานการณ์ระดับน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ก็ไม่ต่างไปมากนัก โดยพบว่ามีน้ำใหม่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำจำนวน 2.92 ล้าน คิวบิกเมตร มีพื้นที่ว่างสามารถรับน้ำใหม่จำนวน 6,276 ล้านคิวบิกเมตร หรือ 65.99% ของพื้นที่ทั้งหมด

สถานการณ์น้ำในเขื่อนใหญ่ทั้ง 2 แห่งของภาคเหนือดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรใต้เขื่อนรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเขตลุ่มเจ้าพระยา นายสุเทพ ลิมปะพันธุ์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานเกษตรจังหวัดสุโขทัย เปิดเผยว่า นาข้าว พืชไร่ และพืชสวนต่างๆ ในจังหวัดสุโขทัย อยู่ในระยะวิกฤตเหี่ยวเฉาถาวร และคาดว่าจะเสียหายจำนวน 90,120 ไร่

ในภาพรวม นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า หลายพื้นที่ของประเทศได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วง โดยมีพื้นที่ประสบภัยแล้ง 40 จังหวัด คลี่คลายแล้ว 28 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ใน 12 จังหวัด 77 อำเภอ 462 ตำบล 4,542 หมู่บ้าน

นอกเหนือจากพื้นที่ทางการเกษตรที่ได้รับความเสียหายแล้ว ภัยแล้งยังเป็นปัญหาทำให้เกิดถนนทรุดตัวอีกด้วย ซึ่งเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พบว่า ถนนสายหนองแค-หนองเสือ กม. 16-17 เป็นถนนขนาด 2 เลนอยู่ติดฝั่งซ้ายของคลองระพีพัฒน์ ใน จังหวัดสระบุรี เกิดทรุดตัวลึก 3 เมตร และเป็นแถวแนวยาวตลอดริมฝั่งคลองระพีพัฒน์ร่วม 300 เมตร ซึ่งมีบางจุดทรุดลึกถึง 4-5 เมตร ส่งผลทำให้ต้องมีการปิดการจราจรถนนเส้นนี้ทั้งสาย และประกาศให้ผู้สัญจรเปลี่ยนไปใช้ถนนฝั่งขวาของคลองระพีพัฒน์แทน โดยสาเหตุการทรุดตัวคาดว่าเกิดจากน้ำในคลองระพีพัฒน์ลดลงทำให้ดินใต้ถนนทรุดตัวลง

นอกจากนั้น ยังพบว่าถนนเกิดการทรุดเกิดใน จ.พระนครศรีอยุธยา อีกด้วย ถนนสายลาดบัวหลวง-สามเมือง เลียบคันคลองพระยาบันลือ บริเวณหน้ามัสยิดนูรุ้ลฮิดายะห์ (สุเหร่าใหม่) หมู่ 2 ตำบลสามเมือง อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกิดทรุดตัวลึกกว่า 2.50 เมตร เป็นระยะทางกว่า 80 เมตร และทำให้ต้องปิดถนนเส้นนี้ลง ส่วนสาเหตุการทรุดตัว คาดว่าจะมาจากระดับน้ำในคลองพระยา-บันลือ ลดต่ำลงทำให้ดินใต้ถนนทรุดพังลงมา

สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ยังสร้างความขุ่นมัวให้กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการตอบคำถามของผู้สื่อข่าวที่เกาะติดเรื่องนี้ และเน้นย้ำในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ให้ดูแลทรัพยากรป่าไม้ซึ่งที่ผ่านมาสูญเสียเนื้อที่นับล้านไร่ซึ่งล้วนเป็นป่าต้นน้ำซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาภัยแล้ง ฝนไม่ตก น้ำใต้ดินแห้ง

ส่วนการรับมือกับวิกฤตน้ำประปาในกรุงเทพฯและปริมณฑลนั้น พล.อ.ประยุทธ์ สั่งเตรียมเปิดบ่อน้ำบาดาลเช่นเดียวกับพื้นที่ต่างจังหวัดที่สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรฯ ขุดเจาะบ่อบาดาลกว่าพันบ่อเพื่อนำน้ำมาใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค สำหรับพื้นเกษตรให้เลื่อนการปลูกข้าวออกไปเพื่อรอฟ้าฝนก่อน

นายสะฐิด แตงอ่อน อายุ 47 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 บ้านโนนป่าแดง ต.หนองหลุม อ.วชิรบารมี ที่มาช่วยลูกบ้านเจาะบ่อน้ำบาดาล บอกว่า ปัญหาภัยแล้งส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ชาวบ้านไม่มีน้ำทำนา ไม่มีรายได้ จึงเรียกร้องรัฐบาลควรแก้ปัญหาในเรื่องการขาดแคลนน้ำในภาคการเกษตรอย่างเร่งด่วน “เรื่องประชาธิปไตยก็เป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องรีบเลือกตั้งอย่างที่กลุ่มคนบางกลุ่มเรียกร้อง ซึ่งถ้าเลือกได้ในช่วงนี้ขอเลือกแหล่งน้ำ หรือขอเลือกเอาบ่อน้ำบาดาลเพื่อเอาน้ำมาทำนาก่อน ส่วนประชาธิปไตยพักไว้ก่อนก็ได้”

นาทีนี้ไม่ว่า เรือดำน้ำ หรือ ประชาธิปไตย ล้วนแต่สำคัญน้อยกว่าเรื่อง “น้ำ” ทั้งสิ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น