xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการชี้ ถนน-บ้านเรือนเรียงคิวทรุดตัว ต้นเหตุจาก “ยิ่งลักษณ์” จัดการน้ำผิดพลาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เผยต้นเหตุหลักภัยแล้งเกิดจากยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์เร่งปล่อยน้ำในเขื่อน ทั้งเกรงน้ำท่วมซ้ำและปล่อยน้ำเสริมโครงการรับจำนำข้าว จนน้ำในเขื่อนเหลือน้อยกระทั่งวิกฤต เมื่อเจอภาวะฝนทิ้งช่วงยิ่งทำให้ภาวะภัยแล้งหนักขึ้นกว่าเดิม จนกลายเป็นปัญหาที่สร้างความเสียหายต่อพืชผลการเกษตร เกษตรกรไม่มีรายได้ บั่นทอนกำลังซื้อ ด้าน รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ จากศูนย์วิจัยวิศวกรรมปฐพี และฐานราก ม.เกษตรศาสตร์ ชี้ภัยแล้งเป็นเหตุน้ำในคลองแห้งไม่มีแรงรับน้ำหนักถนน หวั่นอีกหลายสายทรุดตาม-บ้านริมคลองที่โครงสร้างไม่แข็งแรงมีโอกาสพังได้ทั้งหลัง มั่นใจไม่ลามถึง “เขื่อน-รถไฟฟ้า” เหตุวิศวกรออกแบบรองรับ

ปัญหาภัยแล้งในปีนี้นับว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี แม้จะเข้าช่วงฤดูฝนของไทยมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม แต่ปริมาณฝนมีน้อยมากแม้จะล่วงเลยเข้าสู่เดือนกรกฎาคม ปริมาณน้ำในเขื่อนแต่ละแห่งเริ่มอยู่ในสภาวะวิกฤต ไม่สามารถปล่อยน้ำออกมาได้เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรม จนกระทั่งรัฐบาลต้องออกมาประกาศเตือนชาวนาให้งดเว้นการทำนา เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ

ปรากฎการณ์แย่งน้ำกันเริ่มเกิดขึ้นในกลุ่มเกษตรกร ชาวนาในหลายจังหวัดที่เสี่ยงต่อการทำนาอาจต้องประสบปัญหาขาดทุน จากการที่ไม่มีน้ำไปใช้ปลูกข้าว หลายจังหวัดเริ่มกังวลว่าปริมาณน้ำประปาอาจมีไม่เพียงพอต่อการใช้ในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงพื้นที่ใกล้ชายทะเลเริ่มมีปัญหาน้ำเค็มไหลเข้ามาในพื้นที่ เนื่องจากปริมาณน้ำจากแม่น้ำมีไม่เพียงพอต่อการผลักดันน้ำเค็ม

สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ยังส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจในระดับประเทศ เมื่อผลผลิตด้านเกษตรกรรมไม่สามารถเพาะปลูกได้ตามปกติ รายได้ของเกษตรกรย่อมหดหายตามไปด้วย ภาระหนี้สินที่มีอยู่ เงินที่จะใช้เพื่อการดำรงชีพ ทำให้กำลังซื้อที่เป็นกำลังซื้อหลักลดน้อยลงไปอีก ดังนั้นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2558 นี้จึงตกอยู่ในสภาพที่น่าเป็นห่วง

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภัยแล้ง ไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่เพียงกลุ่มเกษตรกรเท่านั้น เมื่อน้ำในลำคลองต่างๆ แห้งขอด คลองส่งน้ำเพื่อการเกษตรไม่มีน้ำไปหล่อเลี้ยง สิ่งที่ตามมาคือถนนหลายแห่งเกิดการทรุดตัวเป็นแนวยาว

ถนนริมคลองทรุดตัว

เริ่มตั้งแต่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 ถนนเลียบคลอง 8 ฝั่งตะวันตก หมู่ 6 ตำบลบึงชำอ้อ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ถนนเกิดการทรุดตัวลง โดยเกิดรอยแตกแยกเป็นระยะทางยาวเกือบ 100 เมตร

23 เมษายน 2558 เกิดการทรุดตัวและสไลด์ตัวของดินที่คลอง 14 ตำบลหนองสามวัง อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี จากสภาวะอากาศแล้งทำให้ระดับน้ำในคลองลดระดับลงอย่างมาก ทำให้ผิวดินตลิ่งสไลด์ลงคลอง เนื่องจากไม่มีน้ำคอยประคองรับตลิ่งไว้ ในหลายพื้นที่ใน อ.หนองเสือ เกิดผิวถนนทรุดตัวจนถนนเลียบคลอง 9 ฝั่งตะวันออก ตำบลบึงบา อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ทรุดตัวมีรอยแยกของผิวถนน บางแห่งลึก 4 เมตร

23 พฤษภาคม เกิดเหตุถนนสายบ้านทุ่งตากแดด-บึงบ้าน หมู่ 5 ตำบลทุ่งทราย อำเภอทรายทองวัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร ทรุดตัวจนเป็นโพรงลึกกินถนนไปกว่าครึ่งเลนลึกกว่า 3 เมตร โดยบริเวณที่ยุบตัวลงไปอยู่ติดกับคลองทุ่งตากแดด

9 พฤษภาคม ถนนเลียบคันคลองสายเสนา-ลาดบัวหลวง หมู่ 10 ตำบลสามตุ่ม อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกิดการทรุดตัวลึกประมาณ 1.30 เมตร ระยะทางยาวประมาณ 100 เมตร ตัวถนนสไลด์ลงไปในคันคลอง เนื่องจากตอนนี้น้ำแห้งขอดคลอง

30 พฤษภาคม 2558 ถนนเลียบคลองสี่ฝั่งตะวันตก ต.คลองสี่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เกิดยุบตัวและทลายลงไปในคลองหลายจุด

5 กรกฎาคม ถนนเลียบคันคลองระพีพัฒน์ พื้นที่อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ทรุดตัวเป็นทางยาวกว่า 300 เมตร ลึกเกือบ 3 เมตร

นอกจากนี้ยังพบอีกหลายพื้นที่ที่ถนนเริ่มทรุดตัวลง โดยเฉพาะจังหวัดปทุมธานีมีถนนทรุดแล้ว 88 จุด

ไม่เพียงแต่ถนนทรุดในหลายพื้นที่ แต่ยังทำให้บ้านเรือนหลายหลังได้รับความเสียหายจากตลิ่งริมน้ำทรุด โดยบ้านบางหลังทรุดตัวลงไปทั้งหลังที่จังหวัดชัยนาท
สภาพถนนริมคลองที่ทรุดตัวในหลายพื้นที่
ภัยแล้งตัวการถนนทรุด

รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ จากศูนย์วิจัยวิศวกรรมปฐพี และฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ถนนที่ทรุดตัวกันมากในเวลานี้ สังเกตได้ว่าเป็นถนนที่ขนานไปกับคลองส่งน้ำแทบทั้งสิ้น สันนิษฐานว่าสาเหตุที่ถนนทรุดตัวน่าจะเป็นผลมาจากภาวะภัยแล้ง

ด้วยโครงสร้างของถนนริมคลองชลประทานซึ่งเป็นคลองขุด วัตถุประสงค์หลักคือเพื่อให้เกษตรกรสามารถขนผลผลิตไปยังตลาดได้ แต่ปัจจุบันวัตถุประสงค์นี้ได้เปลี่ยนไปจากเดิม โครงสร้างของถนนที่ติดกับคลองจะเป็นการขุดดินจากคลองขึ้นมาถม แล้วค่อยเพิ่มขั้นอื่นๆ เช่นลูกรัง หรือเทยางมะตอย

น้ำในคลองจะเป็นตัวรับน้ำหนักถนนในระดับหนึ่ง เมื่อเกิดภาวะภัยแล้งเกษตรกรจึงสูบน้ำจากคลองที่ยังเหลืออยู่ไปใช้อีก ส่วนใหญ่เลือกที่จะสูบบริเวณชายคลองในหลายจุด ทำให้น้ำลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อไม่มีปริมาณน้ำช่วยรับน้ำหนักรวมทั้งน้ำในดินที่หายไป ดินบริเวณนั้นจึงเกิดการทรุดตัว หากมีน้ำเข้ามาในคลองก็จะช่วยลดปัญหาลงได้ ทั้งจากฝนที่ตกลงมาหรือมีการปล่อยน้ำจากชลประทาน แต่จะต้องพอดีกัน

“ดังนั้นจุดเสี่ยงที่จะเกิดการทรุดตัวของถนนในตอนนี้ จึงอยู่ที่ถนนริมคลองเป็นหลักที่อาจเกิดการทรุดตัวได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะคลองที่น้ำแห้งเป็นเวลานาน”

ส่วนถนนทั่วไปที่ไม่ได้ติดริมคลองยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะออกแบบมาเพื่อให้รองรับน้ำหนักได้มาก ส่วนที่เกิดปัญหาการยุบตัวในหลายพื้นที่นั้น อย่างเช่นที่บางแค เป็นพื้นที่ที่มีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้า อาจมีการตัดท่อหรือย้ายท่อประปาจึงอาจเกิดน้ำรั่วแล้วกัดเซาะโครงสร้างชั้นของถนนได้

ปัญหาการยุบตัวลักษณะนี้ไม่กระทบไปถึงสิ่งก่อสร้างอื่นๆ เช่น ทางด่วน รถไฟฟ้าหรือเขื่อน รวมไปถึงคอนโดมิเนียม เพราะมีการออกแบบมาเพื่อรองรับปัญหาเหล่านี้ไว้แล้ว เข็มที่ใช้เจาะเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับสิ่งปลูกสร้างลึกมาก บางแห่งลึกถึง 50-60 เมตร

ที่น่าเป็นห่วงน่าจะเป็นบ้านเรือนริมคลองมากกว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากการกัดเซาะของน้ำ อีกส่วนหนึ่งเกิดจากภัยแล้ว น้ำในดินหายไปจึงเกิดการทรุดตัว บ้านหลายหลังริมคลองหากโครงสร้างไม่แข็งแรงจึงเสี่ยงต่อการที่บ้านจะทรุดตัวได้ ขณะที่บ้านเรือนริมน้ำอย่างในกรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้นยังไม่น่าเป็นห่วงเพราะเป็นพื้นที่ปลายน้ำ มีน้ำมาหล่อเลี้ยงตลอดเวลาแม้น้ำจะลดลงไปบ้างก็ตาม

ส่วนบ้านในบางโครงการที่ทรุดตัวนั้น ต้องกลับไปดูพื้นที่โครงการว่าเดิมเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำแล้วถมดินเพิ่มหรือไม่ แต่การทรุดตัวนั้นเป็นเฉพาะพื้นที่จอดรถ ตัวโครงสร้างอาคารไม่ได้ทรุดตัว
สภาพคลองที่แห้งจากภาวะภัยแล้ง
ซ่อมใหม่งบสูง

สอดคล้องกับวิศวกรโครงสร้างขนาดใหญ่ที่ให้เหตุผลการพังของถนนริมคลองในหลายพื้นที่ว่า เป็นเรื่องการออกแบบทางวิศวกรรม ถนนริมคลองจะใช้น้ำในคลองเป็นตัวรับน้ำหนักถนน ในการคำนวณจะใช้ระดับน้ำสูงสุดและต่ำสุดมาออกแบบ บางแห่งมีกำแพงกั้น ตัวกำแพงจะเป็นตัวรับน้ำหนักถนน และน้ำในคลองจะเป็นตัวรับน้ำหนักกำแพงกั้นอีกที แต่ปีนี้ระดับน้ำลดลงจนแห้งขอด

เมื่อเป็นเช่นนี้กำแพงจึงมีขนาดเล็ก เมื่อปริมาณน้ำในคลองลดลงตัวรับน้ำหนักของกำแพงหรือถนนจึงไม่มี โครงสร้างชั้นดินของถนนขาดน้ำ ความชื้นหายไป ความลาดเอียงของคลองลดลง จึงเกิดการทรุดตัวของถนนอย่างที่เราเห็น

ด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณของรัฐ และวัตถุประสงค์หลักของถนนริมคลองที่สร้างไว้เพื่อให้รับน้ำหนักจำกัด โครงสร้างทางวิศวกรรมจึงออกแบบมาต่างจากถนนทั่วไปในเมือง หากจะให้ถนนริมคลองมีความแข็งแรงโดยไม่ต้องใช้แรงดันของน้ำในคลองเป็นตัวพยุงน้ำหนัก กำแพงที่กั้นระหว่างถนนกับคลองต้องลงเข็มที่ลึก ตัวกำแพงต้องหนา สิ่งที่ตามมาคือเรื่องงบประมาณก่อสร้างจะต้องสูงขึ้ิน

ส่วนการก่อสร้างอื่นๆ เช่นรถไฟฟ้า ทางด่วน ไม่มีปัญหาเพราะคำนวณเรื่องเหล่านี้เผื่อไว้หมดแล้ว ส่วนเรื่องความมั่นคงของเขื่อนนั้น ในทางทฤษฎีอาจจะมีเขื่อนดินที่อาจเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้วเป็นไปไม่ได้เพราะทุกเขื่อนจะไม่ปล่อยน้ำออกไปจนหมดเขื่อน อย่างน้อยจะต้องมีน้ำเหลือไว้เลี้ยงตัวเขื่อนในระดับหนึ่งเพื่อไม่ให้ชั้นดินแห้งและพยุงตัวเขื่อนไว้ด้วย
บางพื้นที่ต้องมีการนำน้ำไปแจกจ่ายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
พิษ “ยิ่งลักษณ์” ยังไม่หมด

แหล่งข่าวด้านวิศวกรรมโครงสร้างกล่าวว่า ที่ถนนริมคลองพังในหลายพื้นที่นั้นเป็นผลมาจากภัยแล้ง ไม่มีน้ำในคลองพยุงถนนเอาไว้ จะไปโทษกรมชลประทานว่าไม่ปล่อยน้ำลงมาก็ดูจะไม่ถูกต้องนัก เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีปัญหาเรื่องฝนตกน้อย และส่วนใหญ่ก็ตกท้ายเขื่อน ทำให้เขื่อนมีน้ำไหลเข้ามาน้อย ปริมาณน้ำในเขื่อนจึงมีไม่มากนัก

หากไล่ย้อนกลับไปดูจะพบว่างานวิจัยของทีดีอาร์ไอในเรื่องการระบายน้ำจากเขื่อนในปลายปี 2554 ที่พบว่าสัมพันธ์กับการเมืองนั้น รวมไปถึงการออกมากล่าวของอธิบดีกรมชลประทานเมื่อ 22 มิถุนายน 2558 ที่ยอมรับว่า ในปี 2555 มีการสั่งการจากฝ่ายการเมืองให้กรมชลฯ ระบายน้ำในเขื่อนทุกเขื่อนลงเหลือ 45% ของความจุเขื่อน จนปริมาณน้ำลดต่ำมาถึงในปัจจุบัน เพราะไม่ต้องการให้มีน้ำท่วมซ้ำเหมือนวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ซึ่งขณะนั้นกรมชลฯ ได้พยายามทัดทาน และประวิงเวลาการระบายน้ำมาโดยตลอด เนื่องจากการระบายน้ำมากหรือน้อย ต้องทำให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำท้ายเขื่อน แม้ท้ายที่สุดฝ่ายการเมืองจะยอมรับฟังเหตุผล ให้หยุดการระบายน้ำจากเขื่อนได้ แต่ก็มีการระบายออกแล้วมากถึง 14,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นปริมาณการระบายน้ำออกที่มากที่สุดในรอบ 15 ปี

การสั่งให้กรมชลประทานระบายน้ำออกหลังจากปี 2554 นอกจากป้องกันเหตุการณ์น้ำท่วมแล้วยังไปเอื้อต่อโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลในขณะนั้นอีกด้วย เพราะออกนโยบายดังกล่าวไว้ตอนหาเสียงที่จะรับซื้อตันละ 15,000 บาท ขณะที่ราคาตลาดอยู่ที่ประมาณ 8,000-9,000 บาทเท่านั้น

3 ปีกับ 5 ฤดูกาลเพาะปลูกตามโครงการรับจำนำข้าว นอกจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการฝืนราคาตลาดโลกแล้ว อีกมิติหนึ่งยังทำให้เกิดภัยแล้งจนถึงวันนี้

เมื่อรัฐบาลในขณะนั้นเร่งให้มีการระบายน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกตามโครงการ จึงทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนเหลือน้อยลง เมื่อเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ไม่มีฝนตกเหนือเขื่อน แต่ตัวเขื่อนระบายน้ำออกทุกวัน แม้จะระบายน้อยลงก็ทำให้ระดับน้ำในเขื่อนเหลือน้อยลง อย่างเขื่อนภูมิพลตอนนี้ระดับน้ำเหลือเพียง 30% ของความจุ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2% เขื่อนสิริกิติ์เหลือ 34% น้ำใช้การได้ 5% เขื่อนอุบลรัตน์เหลือ 28% เหลือน้ำใช้การได้ 5%

“ตามปกติเขื่อนขนาดใหญ่อาจต้องใช้เวลาในการสะสมน้ำราว 4-5 ปี ขึ้นอยู่กับความจุและปริมาณน้ำที่ไหลลงเขื่อน อย่างเขื่อนขนาดเล็กที่มีฝนตกชุกอาจใช้เวลาแค่ปีเดียว เมื่อมีการระบายน้ำออกมาไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดแล้วไม่มีน้ำไหลเข้าเขื่อน ย่อมทำให้ระดับน้ำในเขื่อนลดลง สถานการณ์น้ำที่เหลืออยู่ในเขื่อนขณะนี้ถือว่าวิกฤต” แหล่งข่าวจากกรมชลประทานกล่าว

เมื่อน้ำในเขื่อนเหลือน้อยย่อมต้องลดการปล่อยน้ำลงเพื่อรักษาระดับน้ำในเขื่อน ดังนั้นการเติมน้ำเพื่อการเกษตรจึงมีปัญหา อีกทั้งภาระของเขื่อนยังต้องปล่อยน้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็ม หากปริมาณน้ำมีน้อยเกินไป น้ำเค็มก็จะไหลเข้ามาในพื้นที่ใกล้ชายทะเล พื้นที่เกษตรกรรมก็จะได้รับความเสียหาย รวมไปถึงเป็นปัญหาในเรื่องการผลิตน้ำประปาอีกด้วย

ฝนที่ทิ้งช่วงไปนานนอกจากจะไม่มาเติมน้ำเข้าเขื่อนแล้ว ยังทำให้พื้นที่ท้ายเขื่อนประสบปัญหาแห้งแล้งจนเกิดปัญหาการแย่งน้ำและถนนทรุดอย่างที่เราเห็นในเวลานี้ ตอนนี้ทำได้อย่างเดียวคือรอให้ฝนตกเพื่อประคองไม่ให้สถานการณ์แย่ลงไปกว่าที่เป็นอยู่

กำลังโหลดความคิดเห็น