นักวิจัย สกก.ชี้ทางแก้ปัญหาถนนทรุดตัว ต้องตรวจสอบเสถียรภาพของเชิงลาดและวิเคราะห์หาอัตราส่วนความปลอดภัย รักษา "ระดับน้ำนอนคลอง" ให้เพียงพอ และมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี พร้อมระบุห่วงบ้านเรือนประชาชนที่อาศัยริมน้ำที่มีความเสี่ยงเช่นกัน ย้ำปัญหาจะทวีความรุนแรงมากขึ้นจากปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นักวิจัย สกว. และรองเลขาสภาวิศวกร ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายเหตุถนนทรุดตัวเป็นบริเวณกว้างที่หน้ามัสยิดนูรุ้ลฮิดายะห์ (สุเหร่าใหม่) ต.สามเมือง อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา และถนนเลียบคลองระพีพัฒน์ หมู่ 10 ต.หนองโรง อ.หนองแค จ.สระบุรี และเปิดเผยถึงสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว
ทั้งนี้พบว่ามี 4 ปัจจัย คือ คันคลองที่ถล่มมักจะก่อสร้างบนชั้นดินอ่อนจากการขุดดินในลำน้ำขึ้นมาสร้างคันคลอง และสภาวะน้ำลดอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในหน้าแล้งและมีการสูบน้ำออกจากคลอง, การใช้ถนนในการสัญจรเพิ่มขึ้นจากปกติทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการกัดเซาะของน้ำที่ทำให้ลาดดินคันคลองมีความชันเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งมีการขุดลอกคูคลองในช่วงน้ำท่วมเพื่อใช้เป็นทางระบายน้ำ ทำให้ความชันของลาดดินคันคลองเพิ่มขึ้นกว่าที่เคยออกแบบไว้ตอนแรก
การวิบัติที่เกิดขึ้นเป็นการวิบัติของลาดดินแบบเลื่อนหมุน ดินทรุดตัวและไถลลงไปในทิศทางของคลองหรือลำน้ำ สาเหตุหลักที่เกิดขึ้นเป็นเพราะระดับน้ำลดลงอย่างรวดเร็วทำให้แรงดันน้ำในดินเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ดินสูญเสียเสถียรภาพและเลื่อนไถลลงมา ซึ่งปกติการออกแบบลาดคันคลองจะต้องปล่อยน้ำเพื่อให้มีระดับน้ำอย่างน้อยที่เรียกว่า “ระดับน้ำนอนคลอง” เพื่อรักษาเสถียรภาพของลาดดิน แต่ในกรณีที่มีน้ำไม่เพียงพอดังเช่น หน้าแล้ง หรือมีการสูบน้ำไปใช้อย่างมาก ทำให้ไม่มีระดับน้ำนอนคลองเพียงพอ จึงเกิดการวิบัติของลาดดินและเกิดการวิบัติของถนนตามมา
"การวิบัติลักษณะนี้จะเห็นพื้นถนนทรุดตัวต่างระดับอย่างชัดเจน ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ประชาชนไม่สามารถสัญจรได้ ปัญหาดังกล่าวจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในปีที่น้ำท่วมหรือแล้งจัดตามมา ยิ่งหากมีน้ำท่วมหนักและปีถัดมาน้ำแล้ง นอกจากนี้การถมถนนทำให้ถนนสูงขึ้นเพื่อสร้างเป็นเขื่อนกันน้ำท่วม แต่ไม่ได้รักษาความชัน เป็นการเพิ่มน้ำหนักอย่างมหาศาลให้กับถนน และสไลด์ตัวง่ายขึ้นกว่าเดิม" นักวิจัย สกว.ระบุ
ศ.ดร.อมรกล่าวว่า แนวทางแก้ไขที่ถูกต้องในระยะยาวต้องมีการตรวจสอบถนนตามแนวลำน้ำหรือลำคลองว่ามีเสถียรภาพของเชิงลาดมากน้อยเพียงไร โดยต้องเก็บข้อมูลความแข็งแรงของชั้นดินและทำการสำรวจหาหน้าตัดของคันคลองที่เปลี่ยนไป จากนั้นจึงวิเคราะห์หาอัตราส่วนความปลอดภัยซึ่งจะต้องมีค่าอย่างน้อย1.25 จึงจะถือว่าคันคลองดังกล่าวมีความปลอดภัย แต่บางตำแหน่งที่กำลังรับน้ำหนักของดินมีค่าต่ำ และมีความชันของลาดดินคันคลองสูง อาจทำให้ค่าอัตราส่วนความปลอดภัยต่ำกว่า 1 ลาดดินดังกล่าวจะไม่ปลอดภัยและมีความเสี่ยงที่จะเกิดการวิบัติแบบเลื่อนหมุนดังที่ปรากฏเป็นข่าว
"การแก้ไขปัญหานี้จะต้องมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี ปล่อยน้ำเพื่อรักษาระดับน้ำขั้นต่ำ หรือทำการเสริมความแข็งแรงให้แก่คันคลอง ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การสร้างกำแพงกันดิน ก่อสร้างเสาเข็มเป็นเดือยยึดดินเพื่อไม่ให้ดินทรุดตัว หรือปรับปรุงดินให้แข็งแรงขึ้นโดยใช้หลักการของซีเมนต์คอลัมน์ ใช้ปูนปั่นผสมกับดินเพื่อให้แข็งแรงขึ้นแต่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล" ศ.ดร.อมรกล่าว
ศ.ดร.อมรกล่าวอีกว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกรมทางหลวงชนบท กรมชลประทาน หรืออื่นๆ ควรจัดทำฐานข้อมูลดังกล่าวและปรับปรุงทุกปี เพราะสภาพลำน้ำอาจเปลี่ยนแปลง ทำให้ความชันของลาดดินคันคลองเปลี่ยนแปลงได้ทุกปี และต้องหาจุดเสี่ยงเพื่อแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าดินมีความสัมพันธ์กับน้ำ และมีปัจจัยเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้น นอกจากนี้จะต้องดูแลพื้นที่เสี่ยงอื่นๆ นอกจากถนน โดยเฉพาะบ้านเรือนริมตลิ่งและสิ่งปลูกสร้างริมน้ำ เพราะมีโอกาสเสี่ยงที่จะทรุดตัวลงมาเช่นกัน ทั้งนี้ได้ฝากถึงประชาชนถึงข้อสังเกตการทรุดตัวของถนนอย่างง่ายที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า คือ ให้สังเกตรอยแตกร้าวบนผิวดิน
“ในฐานะนักวิจัยของ สกว. มองว่าควรทำให้ สกว.เป็นสมองของรัฐบาล เป็นเสมือนผู้ตรวจการแผ่นดินที่สามารถวิจารณ์ในเชิงวิชาการได้ และสนับสนุนข้อมูลแก่รัฐบาลรวมถึงหน่วยงานภาครัฐเพื่อวางแนวทางแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาประเทศบนฐานความรู้ที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องตระหนักถึงปัญหาและช่วยกันประหยัดน้ำให้มากขึ้น” ศ. ดร.อมรกล่าว