xs
xsm
sm
md
lg

SuperSci: เยี่ยมวัวโคลนนิงใน มทส.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“วัว” ในประเทศไทยมีอยู่มากมายหลากหลายสายพันธุ์ มีให้เห็นกันกลาดเกลื่อน แต่สำหรับ “วัวโคลนนิง” คงหาดูได้ไม่ง่ายนัก แล้ววัวโคลนนิงมีหน้าตาเป็นอย่างไร? จะเหมือนหรือต่างกับวัวธรรมดาแค่ไหน ? อาหารการกินต้องพิเศษกว่าวัวตัวอื่นๆ หรือไม่ ตามมาดูพร้อมๆ กับเรา





SuperSci สัปดาห์นี้พาไปบุกคอกวัวโคลนนิง ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จ.นครราชสีมา สถานที่ปฏิบัติการและเพาะเลี้ยงสัตว์โคลนนิงที่มีความพร้อมที่สุดในประเทศไทยกับนักโคลนนิงมือ 1 ของประเทศไทย รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย เดชณรงค์ วงค์ผา นักวิจัยประจำศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ตั้งต้น มทส.

รศ.ดร.รังสรรค์ กล่าวว่า สัตว์โคลนนิงที่ยังมีชีวิตอยู่ใน มทส. ขณะนี้มีทั้งสิ้น 3 ตัว แบ่งออกเป็นวัวพันธุ์ขาวลำพูน 1 ตัว และวัวพันธุ์วากิว 2 ตัว

รศ.รังสรรค์ พาลพ่าย อธิบายว่า เทคโนโลยีการโคลนนิง เป็นกระบวนการการสร้างสิ่งมีชีวิตให้มีลักษณะทางกายภาพและพันธุกรรมเหมือนกัน โดยไม่ใช้เซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ (อสุจิ) และเพศเมีย (ไข่) มาผสมกัน แต่ใช้เซลล์จากสัตว์ที่ต้องการโคลนนิ่งมาใช้เป็นเซลล์ต้นแบบแทน ทำให้ลูกที่ได้มีลักษณะของเพศและพันธุ์เหมือนกับเซลล์ต้นแบบทุกประการ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อวงการปศุสัตว์อย่างมาก ในแง่การปรับปรุงพันธุ์สัตว์ ในแง่การทดลองทางวิทยาศาสตร์ สามารถช่วยลดจำนวนสัตว์ที่ใช้ในการทดลองให้น้อยลง ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย และช่วยลดความแปรปรวนของผลการทดลอง เนื่องจากสัตว์โคลนนิ่งเป็นสัตว์ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกัน 

“ฉะนั้นลูกวัวพันธุ์วากิววัย 18 เดือน เพศเมียทั้ง 2 ตัว ที่นำชมในวันนี้จึงมีหน้าตาคล้ายคลึงกัน เพราะเกิดจากการโคลนนิงพ่อแม่พันธุ์แท้พันธุ์วากิว แล้วย้ายมานำฝากในแม่วัวไทย คล้ายคลึงกันกับคนที่มีฝาแฝด” รศ.ดร.รังสรรค์ เผย
       
ส่วนวัวโคลนนิงอีกตัวซึ่งมีสีขาว สูง สง่า มีชื่อว่า “เศวต” เป็นวัวพันธุ์ขาวลำพูน อายุ 3 ปี หรือที่เราคุ้นเคยกันดีในนามของพระโคในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นวัวขาวลำพูนโคลนนิ่งที่เกิดจากเซลล์ใบหู ตัวที่ 2 ของประเทศไทย ต่อจาก “ขาวมงคล” โคขาวลำพูนโคลนนิ่งตัวแรกของไทย แต่ขณะนี้สุขภาพขาของเศวตไม่ค่อยดีนัก เกิดอาการโก่งงอและสั่น ซึ่งยังระบุไม่ได้ว่าเป็นเพราะน้ำหนักตัวที่เยอะเกินไป หรือความผิดพลาดจากพันธุกรรม

ทว่า มทส.ไม่ได้มีสัตว์โคลนนิงแค่เพียง 3 ตัวนี้เท่านั้น รศ.รังสรรค์ ยังเผยด้วยว่าก่อนหน้านี้ก็มีการโคลนนิ่ง ทั้งโคนม-โคเนื้อพันธุ์ดี แพะ และแมว รวมแล้วกว่า 30 29 ตัว ไม่ว่าจะเป็น “นิโคล” “ตูมตาม 2 ถึง ตูมตาม 8” “เต้าฮวย” โคบราห์มันแดงเพศเมีย และ “แปะก๊วย” โคนมเพศเมียพันธุ์ลูกผสมโฮลสไตน์-ฟรีเชียน ที่น้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี 2551 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา รับไว้ดูแลและศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์แก่เกษตรกรต่อไป
       
“นอกจากนี้ ยังมีความสำเร็จในการโคลนนิ่งแพะที่มีชื่อว่า “น้องกาย” จากเซลล์ใบหูเป็นตัวแรกของโลก เมื่อปี 2552 รวมไปถึงสัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์ เช่น กระทิง แต่ทั้งหมดก็ค่อยๆ ล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ จนทำให้สัตว์โคลนนิงที่เหลืออยู่ในขณะนี้ เหลือเพียงแค่ 3 ตัวเท่านั้น” รศ.ดร.รังสรรค์กล่าวทิ้งท้ายแก่ผู้จัดการวิทยาศาสตร์
วัววากิวเพศเมีย 2 ตัว ถูกโคลนนิงขึ้นมาเพื่อใช้เป็นแม่พันธุ์
เศวต วัวพันธุ์ขาวลำพูนจากการโคลนนิงด้วยเซลล์ใบหู
เศวตในอายุ 8 ปี เริ่มป่วยด้วยอาการขาโก่ง
รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย
นายเดชณรงค์ วงค์ผา สัตวบาล ประจำศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ตั้งต้น มทส.






*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น