xs
xsm
sm
md
lg

SuperSci: โรงผลิตน้ำมันจากพลาสติกบ่อขยะรีไซเคิล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ขึ้นชื่อว่า “ขยะ” แน่นอนว่าไม่มีใครต้องการ ยิ่งถ้าเป็น “ขยะพลาสติก” ด้วยแล้วยิ่งไร้ค่าเข้าไปใหญ่ เพราะนอกจากส่วนมากจะย่อยสลายยากแล้ว ยังเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่วันนี้เรามีเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นน้ำมัน แต่จะทำอย่างไร? ใช้กระบวนการแบบไหน? แล้วได้น้ำมันชนิดใด เราพาไปหาคำตอบ
 


SuperSci สัปดาห์นี้พาไปชม “โรงกำจัดขยะครบวงจรและโรงไพโรไลซิส” สถานที่ผลิตน้ำมันดีเซลและแก๊สจากขยะพลาสติกไร้ค่า ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ในโครงการกำจัดขยะภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จ.นครราชสีมา

นายจตุพงศ์ ศิริเจริญสมบัติ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ดูแลการเดินเครื่องไพโรไลซิสให้กับ มทส. เผยว่า ขยะทั้งหมดภายใน มทส.จะถูกนำไปรวบรวมไว้ที่โรงเก็บขยะ ก่อนจะถูกหมักและคัดแยกมาเข้ากระบวนการเพื่อนำกลับไปใช้ต่อ โดยขยะอินทรีย์จะถูกนำไปแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนขยะพลาสติกจะถูกลำเลียงจากโรงกำจัดขยะครบวงจรมายังโรงไพโรไลซิสเพื่อผลิตเป็นก๊าซและน้ำมัน

สำหรับขยะพลาสติก จะแยกออกได้เป็น 2 เกรด พลาสติกที่สะอาดจะถูกจัดให้เป้นเกรดเอ ส่วนพลาสติกที่สกปรกกว่าจะถูกจัดให้อยู่ในเกรดบี แต่ก่อนจะนำไปแปรรูปในขั้นตอนถัดไป พลาสติกแยกเกรดเหล่านี้จะต้องถูกนำมาเข้ากระบวนการย่อยให้เป็นชิ้นเล็กลง

“การย่อย” เริ่มจากการป้อนขยะพลาสติกที่คัดแล้วให้ผ่านสายพานลำเลียงเข้าสู่เครื่องปั่น ที่ความร้อนจากการเสียดสีจะทำให้พลาสติกหลอมละลาย เมื่อพลาสติกได้ที่เครื่องจะปล่อยสเปรย์น้ำ เพื่อทำให้พลาสติกแตกตัวออกจากกัน กลายเป็นเม็ดพลาสติกหรือที่เรียกว่า เม็ดป๊อบคอร์น ที่มีลักษณะแข็งคล้ายเมล็ดข้าวโพด ซึ่งพลาสติกแต่ละเกรดก็จะให้ลักษณะเม็ดป๊อบคอร์นที่ต่างกัน จตุพงศ์ไล่เรียง

จากนั้นจึงนำเม็ดป๊อบคอร์นมาเข้าสู่กระบวนการกลั่นเป็นน้ำมัน ซึ่งจตุพงศ์อธิบายว่า จะต้องนำเม็ดพลาสติกใส่ลง “ไซโล” ให้หลอมละลายจนเหลว จากนั้นจะถูกส่งไปยัง “เครื่องรีแอกเตอร์” ที่มีอุณหภูมิสูงกว่าเพื่อให้พลาสติกกลายเป็นไอลงมาที่ “คอนเดนเซอร์” ระบบหล่อเย็น เพื่อแยกน้ำมันเก็บเข้าสู่ปั๊มรอกระบวนการแยกต่อไป ส่วนแก๊สที่ได้จะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในระบบเพื่อเดินเครื่องต่อ

เมื่อได้น้ำมันแล้วจึงส่วนไปเก็บในถังเก็บน้ำมันขนาดใหญ่ ก่อนจะนำไปเข้ากระบวนการแยกต่ออีกครั้ง เพื่อแยกน้ำมันออกเป็นเบนซิน ดีเซล และแนฟทา โดยน้ำมันที่ได้จากพลาสติกคุณภาพดีจะผลิตน้ำมันได้ถึง 100 ส่วนจากพลาสติก 100 ส่วน แต่ถ้าขยะพลาสติกที่ไม่สะอาดนักจะผลิตน้ำมันได้อยู่ที่ประมาณ 70 ส่วนจากพลาสติก 100 ส่วน

“การกำจัดขยะแบบครบวงจรของ มทส.เป็นผลงานการคิดค้นและวิจัยโดย ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้อำนวยการเทคโนธานี และหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีวมวล ที่ทำงานทางด้านนี้มานับ 10 ปี ผมเป็นเอกชนที่เข้ามาช่วยดูแลเกี่ยวกับเครื่องจักรและการเดินระบบ แต่ก็มีความเย็นดีและเห็นด้วยอย่างยิ่งกับวิธีการกำจัดขยะแบบนี้ เพราะนอกจากขยะต้นตอจะหมดไปแล้ว เรายังได้ผลิตภัณฑ์มาสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งในส่วนของน้ำมัน ที่สามารถแยกออกได้เป็นเบนซิน ดีเซล และแนฟทา ส่วนแก๊สก็นำมาใช้กับการผลิตไฟฟ้าและเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเดินเครื่องไพโรไลซิสต่อ ซึ่งทำให้เหมือนเราเดินเครื่องเปล่าไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร นอกจากการเดินเครื่องในครั้งแรก” จตุพงศ์ กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
เม็ดป๊อบคอร์น หรือพลาสติกที่หลอมละลายจนแตกตัวเป็นเม็ด
เครื่องร่อนแยกขยะ
เครื่องลำเลียงพลาสติกเข้าสู่ถังหมักเพื่อผลิตเม็ดป๊อบคอร์น
โรงไพโรไลซิส ผลิตน้ำมันและแก๊ส
นายจตุพงศ์ ศิริเจริญสมบัติ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด
ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้อำนวยการเทคโนธานี และหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีวมวล






*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น