xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจโรงขยะต้นแบบผลิตได้ทั้ง "ปุ๋ยอินทรีย์" และ "น้ำมัน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ส่วนของห้องหมักจะเครื่องจักรหน้าตาคล้ายสกรู ทำหน้าที่ผสมขยะทุกชนิดให้เข้ากัน และเป็นการเปิดช่องว่างให้อากาศเข้าสู่ขยะ
เยือนโคราชสำรวจต้นแบบโรงกำจัดขยะแบบครบวงจรที่ มทส. ผลิตได้ทั้งปุ๋ยอินทรีย์และน้ำมัน จำกัดขยะตามนิสัยการทิ้งของคนไทยที่ไม่แยกขยะ และเป็นโรงกำจัดต้นแบบแก่ชุมชนทั่วประเทศกว่า 20 โครงการ ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท

ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ได้ลงพื้นที่สำรวจโรงกำจัดขยะครบวงจรและโรงไพโรไลซิส ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จ.นครราชสีมาโดยมี ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้อำนวยการเทคโนธานีและหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีวมวล สำนักวิศวกรรมศาสตร์ มทส. เผยถึงความคืบหน้าของโครงการโรงกำจัดขยะครบวงจรดังกล่าว ซึ่งเป็นต้นแบบที่ขยายสู่ชุมชนทั่วประเทศกว่า 20 โครงการ

โรงกำจัดขยะดังกล่าวทำงานมากว่า 7 ปี โดย ผศ.ดร.วีรชัย เผยถึงจุดเริ่มต้นว่า เกิดจากงานวิจัยเกี่ยวด้านปุ๋ยอินทรีย์เมื่อ 10 ปีก่อนของเขา ซึ่งพยายามนำของเหลือทางเกษตรกรรม เช่น เปลือกมันสำปะหลัง ขี้หมู ขี้วัว ขี้ไก่ เป็นต้น มาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์เพื่อใช้ในมหาวิทยาลัย แต่วันหนึ่งที่วัตถุดิบหมดต้องออกไปนำวัตถุในที่ห่างไกลมากขึ้นจนไม่คุ้มทุน เขาจึงเริ่มมองหาขยะอินทรีย์จากแหล่งใหม่ และได้แหล่งวัตถุดิบเป็นกองขยะมหึมาในมหาวิทยาลัย

ในแต่ละวันมีมีขยะในมหาวิทยาลัยมากถึง 7.5-10 ตัน หรือประมาณรถสิบล้อ 1 คัน และมากกว่าครึ่งเป็นขยะสดที่สามารถย่อยเป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้ ผศ.ดร.วีรชัยจึงนำมาทดสอบในโรงหมัก โดยทำวิจัยเป็นเวลา 2-3 ปี และพบว่าใช้งานได้ดีเช่นเดียวกันกับวัตถุดิบเดิม ระยะหลังจึงหันมาพัฒนาเทคโนโลยีกำจัดขยะ โดยใช้งบประมาณของมหาวิทยาลัย 15 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งโรงกำจัดขยะสำหรับการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ขึ้นในมหาวิทยาลัย

ส่วนอีกครึ่งที่เหลือในกองขยะเป็นพลาสติก ซึ่ง ผศ.ดร.วีรชัย เผยว่าช่วงแรกได้ส่งขายพลาสติกเหล่านั้นให้แก่โรงงานปูนซีเมนต์ ที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เพื่อนำไปทำเชื้อเพลิงจากขยะหรือเชื้อเพลิงอาร์ดีเอฟ (Refuse Derive Fuel) แต่การเดินทางไปขายต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และบางช่วงโรงงานปูนยังไม่ต้องการขยะเหล่านั้น เขาจึงคิดหาแนวทางนำขยะพลาสติกมาแปรรูปเป็นน้ำมันและก๊าซ เนื่องจากสารตั้งต้นของพลาสติกคือปิโตรเลียม

ผศ.ดร.วีรชัยเริ่มทดลองปฏิกริยาดีโพลีเมอไรเซชั่น (Depolymerization) เพื่อตัดพอลิเมอร์สายยาวของพลาสติกด้วยความร้อน ให้กลับไปเป็นคาร์บอนและไฮโดรเจนตามสภาพเดิม แล้วกลั่นเป็นน้ำมันดีเซล แนฟทาและน้ำมันเตาจนสำเร็จ ก่อนจะตั้งโรงงานไพโรไลซิสอีกโรงด้วยงบประมาณ 27 ล้านบาทจากกระทรวงพลังงาน เพื่อผลิตน้ำมันและก๊าซจากขยะพลาสติกภายในพื้นที่ของ มทส.

“โรงกำจัดขยะของเรามีจุดเด่นกว่าที่อื่น คือ ของเราทำจริง เดินเครื่องจริง และสะอาด โรงงานกำจัดขยะของเราไม่มีแมลงวันหึ่งเหมือนที่อื่น และขยะทุกชิ้นเรานำไปแปรรูปได้ทั้งหมด ขยะอินทรีย์ทำปุ๋ยแจกจ่ายเกษตรกร ขยะพลาสติกเกรดบีหรือพลาสติกที่เยินๆ ไม่ค่อยสวยเราจะเอามาทำไฟฟ้าใช้ในส่วนกลางของมหาวิทยาลัย ส่วนพลาสติกเกรดเอหรือพลาสติกที่สะอาด สภาพดีหน่อยเราจะแยกมาทำน้ำมัน เราผลิตได้ในสัดส่วนที่สูงมาก คือ พลาสติก 100 ส่วนเราจะผลิตเป็นน้ำมันได้ถึง 80 ส่วน แบ่งออกเป็นน้ำมันดีเซล 60% แนฟทา 20% และน้ำมันเตาอีก 20% แต่ตอนนี้ราคาน้ำมันตก เราจะยังไม่ขาย ใช้เองกับรถในมหาวิทยาลัยก่อน แต่ถ้าราคาน้ำมันโลกสูงเมื่อไร เราจะส่งขายให้กับโรงกลั่นทันที” ผศ.ดร.วีรชัยเผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

ผลจากการพัฒนาโรงกำจัดขยะที่ผลิตได้ทั้งปุ๋ยอินทรีย์และน้ำมันเป็นเวลากว่า 10 ปี จึงกลายเป็นโครงดารต้นแบบที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลให้ขยายไปยังชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 20 โครงการด้วยงบประมาณหลายพันล้านบาท ภายใต้แผ่นที่นำทางของชาติ (โรดแมป) โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือน มี.ค.58 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.นี้ แต่ผู้อำนวยการเทคโนธานี มทส.ขอสงวนในการระบุพื้นที่โครงการ โดยแต่ละพื้นที่จะมีรูปแบบการดำเนินการที่แตกต่างกันไปตามลักษณะขยะของแต่ละพื้นที่

ผศ.ดร.วีรชัยชี้แจงว่าพื้นที่ใดมีขยะอินทรีย์มากจะตั้งเป็นโครงการกำจัดขยะเป็นปุ๋ยอินทรีย์ หรือถ้าพื้นที่ใดมีพลาสติกเกรดดีมากก็จะตั้งเป็นโรงงานผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติก ตามเทคโนโลยีกำจัดขยะต้นแบบของ มทส. ที่สามารถกำจัดขยะได้ทุกประเภทแบบไม่เหลือกากทิ้ง ด้วยกระบวนการกำจัดแบบหมักก่อนแยก ซึ่งตอบโจทย์กับรูปแบบ "ขยะรวมมิตร" ของคนไทย

“ขยะของคนไทยไม่เหมือนประเทศอื่น บ้านเมืองอื่นเขาแยกขยะ จึงสะอาด ง่ายต่อคนเก็บคนนำไปรีไซเคิล แต่ขยะของคนไทยรวมกันหมดทั้งข้าว หมู พลาสติก ขวดแก้ว ผ้าอนามัย ผ้าอ้อมเด็ก เศษกระจก อยู่ในกองเดียวกัน หรือบางทีดีหน่อย คนทิ้งอุตส่าห์แยกมาให้ รถขยะมาเก็บคันเดียวก็โยนเข้าไปอยู่ในกองเดียวกัน นิสัยการทิ้งขยะ มันต้องรณรงค์กันตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งคงรอถึงวันนั้นไม่ได้" ผศ.ดร.วีรชัยให้ทัศนะ

เทคโนโลยีกำจัดขยะที่ทำขึ้น จึงเป็นไปตามนิสัยการทิ้งของคนไทย คือทิ้งรวมกันปกติ อันไหนแยกไปรีไซเคิล เอาไปขายต่อได้ก็แยกไป จากนั้นก็นำมาเข้าเครื่องสับ แล้วนำไปใส่ห้องหมักที่จะมีเครื่องผสมคอยหมุนเปิดให้อากาศเข้า หมักไว้ 2-4 สัปดาห์ รอให้จุลินทรีย์และความร้อนที่ประมาณ 60-70 องศาเซลเซียส ทำงานช่วยฆ่าเชื้อโรค จากนั้นจึงนำมาแยกด้วยเครื่องร่อนเพื่อแบ่งประเภทขยะ เป็น 3 ประเภท คือ ขยะอินทรีย์ที่จะนำไปผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ พลาสติกเกรดเอที่สามารถนำกลับไปเป็นน้ำมันดีเซล และพลาสติกเกรดบีสำหรับการผลิตไฟฟ้า เพื่อนำไปเข้ากระบวนการต่อ

นอกจากนี้ มทส.ยังได้เปิดศูนย์เทคโนธานีเพื่อเป็นจุดเชื่อมโยงความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน โดยได้จัดอบรมความรู้และเทคนิคการกำจัดขยะให้กับชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ มาแล้วกว่า 40,000 คนด้วย ซึ่ง ผศ.ดร.วีรชัย เผยว่า น่าจะเป็นตัวจุดประกายการกำจัดขยะที่ดีให้แก่ชุมชนต่างๆ ได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับการลงมือทำของผู้นำในชุมชนและรัฐบาลที่จะรับช่วงงานวิจัยต่อไปใช้ในชุมชนจริง และด้วยประสิทธิผลที่เห็นเป็นที่ประจักษ์ทำให้โรงงานกำจัดขยะต้นแบบของ มทส. ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงพลังงานมาเพิ่มอีก 588 ล้านบาท เพื่อขยายโรงงานในมาวิทยาลัยให้ใหญ่ขึ้น เพื่อเตรียมเป็นศุนย์จัดการขยะให้กับเทศบาลเมืองนครราชสีมา โดยมีเป้าหมายจะทำลายขยะให้ได้วันละ 1,000 ตันด้วย

“ผมไม่ได้ดีใจที่โครงการของผมได้รับทุนจนขยายเป็นโครงการใหญได้ แต่ที่ผมภูมิใจคือ งานวิจัยที่ผมทำมาอย่างเงียบๆ ไม่เคยไปโฆษณาประชาสัมพันธ์กับใคร  มันกำลังถูกนำไปใช้จริงในระดับประเทศ ซึ่งผมหวังว่าการกำจัดขยะในบ้านเราจะดีขึ้นด้วยเทคโนโลยีต้นแบบที่เรามี และหวังเป็นอย่างยิ่งด้วยว่าทุกฝ่ายจะเอาจริงและให้การสนับสนุนไปเรื่อยๆ เพราะผมมั่นใจมากว่าหากนำเทคโนโลยีกำจัดขยะครบวงจรของ มทส.ไปใช้ ขยะสะสมในประเทศจะหมดไปได้จริง เพราะขยะเป็นสิ่งที่มีมาเรื่อยๆ ไม่มีวันหมด แล้วก็เป็นปัญหาคาราคาซังระดับชาติมานาน” ผศ.ดร.วีรชัย กล่าวทิ้งท้ายผู้จัดการวิทยาศาสตร์
โรงจัดการขยะแบบครบวงจร ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ มทส.
ส่วนของการทำงานถูกแยกออกจากกันชัดเจน ตั้งแต่การแยก-การหมัก-การร่อน-การแยกประเภท
เครื่องร่อนขยะ จะแยกขยะออกมาตามประเภทด้วยกลไกทางวิศวกรรมจากนั้นสายพานจะลำเลียงขยะแต่ละประเภทไปยังห้องเก็บ
พลาสติกเกรดเอ เตรียมถูกลำเลียงไปใช้สำหรับการผลิตน้ำมันดีเซล
ขยะพลาสติกเกรดบีสำหรับน้ำไปทำไฟฟ้า
พลาสติกเกรดเอเมื่อถูกนำมาทำให้แตกตัวด้วยความร้อน จะกลายเป็นไอแล้วควบแน่นลงมาเป็นน้ำมันดีเซล แนฟทา และน้ำมันเตา ซึ่งทั้งหมดจะถูกเก็บลำเลียงไปใช้ต่อ
หอคอนเดนเซอร์ ควบแน่นไอน้ำมันหลังกระบวนการดีโพลีเมอไรเซชัน
โรงไพโรไลซิสขนาดใหญ่ สามารถผลิตน้ำมันได้มากถึง 80 ส่วนจากพลาสติกเกรดเอ 100 ส่วน
ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้อำนวยการเทคโนธานี และหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีวมวล สำนักวิศวกรรมศาสตร์ มทส.






*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น