ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าความสำเร็จของ “การโคลนนิง” จะเป็นฆ้องชัยประกาศศักดาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของหลายๆ ประเทศ ข่าวคราวมากมายของการเปิดตัว...วัวโคลนตัวแรก...แพะโคลนตัวแรก...อูฐโคลนตัวแรก และสัตว์โคลนตัวแรกอื่นๆ อีกต่างๆ นานา มีออกมาให้ชาวโลกได้รับรู้กันอย่างไม่ขาด บ้างก็ปีติยินดีถึงความสำเร็จแห่งโลกวิทยาการ บ้างก็ต่อต้าน เพราะค้านศีลธรรม แต่แทบไม่มีใครรู้เลยว่าหลังจากสัตว์โคลนเหล่านั้นเกิดขึ้นมา ความเป็นอยู่จากนั้นของพวกมันเป็นอย่างไร
ถ้ายังจำได้ กว่า 8 ปีที่ผ่านมาปรมาจารย์ด้านโคลนนิงอันดับ 1 ของเมืองไทย จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ได้ทำ “น้องกาย” แพะโคลนนิงตัวแรก ด้วยเทคนิคสกัดเซลล์ใบหูสำเร็จ เขย่าวงการวิทยาศาสตร์ไทยอย่างคึกโครม เมื่อมีโอกาสได้เดินทางไปยัง มทส.อีกครั้ง ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงอดถามถึง “น้องกาย” ไม่ได้ แต่ก็ต้องได้รับคำตอบที่น่าสะเทือนใจว่า “น้องกายตายแล้วครับ ตายไปหลายปีแล้ว” จากปากของ รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย ผู้สร้างน้องกายขึ้นมาเองกับมือ
รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร และหัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ตั้งต้น มทส. เผยว่า น้องกายตายเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน ด้วยโรคกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบที่เป็นโรคจากกรรมพันธุ์ของพ่อพันธุ์แพะ เจ็บปวดอยู่นานจนต้องตัดสินใจให้สัตวแพทย์ทำให้เสียชีวิตด้วยการให้ยา น้องกายจึงเป็นแพะโคลนที่มีชีวิตอยู่ได้เพียงประมาณ 4 ปีเศษ จากแพะปกติที่ควรจะมีชีวิตยืนนานประมาณ 10 ปี แต่ก็ถือว่ายังเป็นสัตว์โคลนที่อยู่ได้นานกว่าตัวอื่นๆ ที่มักเกิดมาไม่ถึงชั่วข้ามคืนก็เสียชีวิตลงเช่นสัตว์โคลนนิงตัวอื่นที่แล้วมา
รศ.ดร.รังสรรค์ ระบุว่า เหตุที่น้องกายอายุสั้นเป็นเพราะลักษณะทางพันธุกรรมที่ผิดปกติจากรุ่นพ่อ เพราะเซลล์ใบหูที่นำมาโคลนเป็นน้องกาย ถูกเก็บมาจากวัวพ่อพันธุ์นำร่องที่ได้รับมาจากชาวบ้าน ทีมวิจัยจึงไม่ได้ตรวจสอบสืบเชื้อสายอย่างพิถีพิถันว่ามีโรคทางพันธุกรรมหรือไม่ แม้ว่าการโคลนนิงจะเป็นไปตามกระบวนการที่ถูกต้องครบถ้วน และเมื่อเกิดมาน้องกายก็มีสุขภาพแข็งแรง ร่าเริงสดใสดี แต่อาการของโรคก็ย่อมแสดงออกเมื่อโตเต็มวัย น้องกายจึงป่วยในที่สุด เขาจึงค่อนข้างเสียดายและเสียหลัก จนผันตัวเองไปทำวิจัยด้านการโคลนนิงระดับสูง เพื่อให้ได้องค์ความรู้ใหม่ที่ถูกต้องและรัดกุมมากกว่าเทคนิคที่มีอยู่เพื่อลดความสูญเสียของสัตว์โคลนนิงที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต
“น้องกายเขาป่วยเหมือนพ่อเขา ผมยังเสียดายอยู่เลยถ้าเขาไม่ได้มีโรคทางพันธุกรรมจนถึงตอนนี้เขาก็น่าจะยังอยู่กับเรา เพราะการทำโคลนนิงน้องกายครั้งนั้นถือว่าประสบความสำเร็จมากเลยนะ ไม่มีความปกติที่เกิดจากการโคลน หรือความผิดปกติที่เกิดจากการคลอดแต่อย่างใด พูดแล้วก็เสียดาย วันที่เขาตายผมไปดูไม่ได้เลยนะ มันผูกพัน เราก็เลี้ยงมาเหมือนลูก 2-3 ปีมานี้ผมเลยไม่ทำสัตว์โคลนนิงออกมาเลย ไปนั่งทำงานวิจัยเกี่ยวกับโคลนนิงขั้นสูงแทน ศึกษาให้มันรู้ตั้งแต่ระดับเซลล์ ไมโตคอนเดรียที่เป็นตัวสร้างพลังงานภายในเซลล์ มุ่งวิจัยไปที่ระดับยีน ระดับดีเอ็นเอ เพื่อดูว่ามันจะมีความผิดปกติอะไรแบบเจาะลึกเพื่อหาวิธีการปรับการผลิตในห้องทดลอง เราต้องรู้ให้ลึกจริงๆ พวกเขาถึงจะอยู่รอด เพราะดูเหมือนว่า “เจ้าเศวต” วัวพันธุ์ขาวลำพูนที่เราได้โคลนนิงไว้ตั้งแต่ 6 ปีก่อนตอนนี้ก็เริ่มป่วยที่ขาแล้วเหมือนกัน” รศ.ดร.รังสรรค์ ให้ข้อมูล
ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ลงพื้นที่ไปดูวัวโคลนนิงตามที่ รศ.ดร.รังสรรค์ ระบุว่า ยังมีอยู่อีก 3 ตัว โดยตรงไปหา “เศวต” วัวโคลนนิงเพศผู้พันธุ์ขาวลำพูน วัวพันธุ์เด่นที่ใช้ในงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และปัจจุบันเหลืออยู่ไม่มากนักถึงหน้าคอก ซึ่งขณะนั้นเศวตกำลังนอนเล็มหญ้าอยู่อย่างสบายใจเหมือนวัวปกติทั่วไป แต่เมื่อลุกขึ้นยืนเราจึงเห็นความผิดปกติที่ข้อขาด้านหน้าทั้ง 2 ข้างของเศวตที่มีลักษณะโก่งงอจนทำให้การยืนและเดินของเศวตค่อนข้างลำบาก
สัตวบาลเผยว่าอาการดังกล่าวเพิ่งเป็นได้ไม่นานและสันนิษฐานว่า น่าจะมีสาเหตุมาจากพันธุกรรมหรือน้ำหนักตัวที่มากจนทำให้ขาโก่ง แต่ในส่วนของวัวโคลนนิงพันธุ์วากิวอายุ 18 เดือนอีก 2 ตัวพบว่ายังคงมีสุขภาพดี
รศ.ดร.รังสรรค์ ให้ข้อสังเกตว่า หลักสำคัญที่ทำให้การโคลนนิงทั้งระบบตั้งแต่การเตรียมการ การผสม การคลอด และชีวิตหลังคลอด ประสบความสำเร็จต่ำ เป็นผลมาจาก “การฝืนธรรมชาติ” เพราะการทำโคลนนิงไม่ใช่การนำเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย (ไข่) และเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ (น้ำเชื้ออสุจิ) มาผสมกัน แต่เป็นการเอาเซลล์ร่างกาย อาทิ เซลล์ใบหู ไปใส่ในไข่ให้เจริญเป็นตัวอ่อน เพื่อให้ลูกที่มีเพศและพันธุ์เหมือนกับตัวต้นแบบทุกประการ ซึ่งทำได้แต่เป็นการฝืนธรรมชาติอย่างมาก
นอกจากนี้ รศ.ดร.รังสรรค์ ยังระบุด้วยว่า สาเหตุอีกประการที่ทำให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการโคลนนิงระดับโลก ยังไม่คืบหน้าไปมากนัก เป็นเพราะนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่แข่งกันโคลนสัตว์ทุกอย่าง แต่ไม่วิจัยระดับลึก ทำให้เรามีสัตว์โคลนนิงแทบทุกชนิด ตั้งแต่แกะดอลลี่ หนูตะเพา หนูถีบจักร วัว ควาย ม้า แพะ แม้กระทั่งอูฐ ซึ่งบางตัวก็ไม่รู้ว่าจะโคลนมาทำไม ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีการผลิตสัตว์โคลนนิงของโลกก็ยังไปไม่ถึงไหน ยังมีอัตราการตายระหว่างคลอดสูงมาก แล้วก็ไม่ได้ผลระยะยาวเหมือนกับการพัฒนาเทคนิคให้การโคลนนิงมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
“ตอนนี้ดีที่สุดที่ทำได้น่าจะอยู่ที่อัตรา 100 ต่อ 5 เองนะ คือ ฝากเซลล์ 100 เซลล์ ติดเป็นตัวอ่อน 30-40 ตัว ท้องแล้วแท้งเหลือสัก 10 ตัว เกิดมาแล้วตายอีก 5 เหลือสุดท้าย 5 ตัวแบบนี้มันไม่คุ้ม ถ้าช่วยกันพัฒนาให้ฝากซัก 100 รอดได้ซัก 30 มันจะดีมาก แล้วจะดีที่สุดถ้าทำกับสัตว์ที่มีพันธุกรรมสุดยอด เช่น วัวที่ให้น้ำนมมากๆ แล้วมันแก่ ใกล้จะตาย แบบนี้สิควรทำ เพราะตายไปจะเสียดายพันธุกรรมแย่ แล้วก็พวกสัตว์ที่กำลังจะสูญพันธุ์ด้วย ซึ่งเมื่อหลายปีก่อนผมก็ได้ร่วมมือกับสวนสัตว์เขาเขียวทำกระทิงโคลนนิงออกมา แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะลืมตาดูโลกได้เพียง 12 ชั่วโมงก็ตาย เนื่องจากปอดมีความผิดปกติ” รศ.ดร.รังสรรค์เผย
จากความสำเร็จและความผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นแรงผลักดันให้ รศ.ดร.รังสรรค์เป็นอย่างดีสำหรับการวิจัยระดับสูงเกี่ยวกับการโคลนนิง แม้ไม่มีข่าวแต่ไม่ได้แปลว่าเขาหยุดทำ แต่เขากำลังทำในสิ่งที่คนอื่นละเลย แล้วตีพิมพ์ความรู้ออกไปในรูปของวารสารวิชาการ เผื่อวันหนึ่งเราจะมีองค์ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับการโคลนนิง อีกทั้งตอนนี้เขากำลังสนุกกับการพัฒนาสายพันธุ์วัวโคราชวากิว วัวลูกผสมที่ได้รับการพัฒนายกระดับสายพันธุ์ระหว่างวัววากิวอันเลื่องชื่อของญี่ปุ่นกับวัวเนื้อของไทย
*******************************