xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “ศูนย์ดาราศาสตร์อิสลาม” เพื่อความเข้าใจวิถีมุสลิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไม่มีวันไหนที่มุสลิมจะไม่เกี่ยวข้องกับ “ดาราศาสตร์” เพราะวิถีชีวิตของพวกเขาถูกกำหนดด้วยการสังเกตดวงอาทิตย์ ดวงดาวและดวงจันทร์เพื่อประกอบศาสนกิจอยู่เสมอ ศูนย์ดาราศาสตร์อิสลามจึงถูกจัดตั้งขึ้นด้วยความสำคัญของดาราศาสตร์ที่ถูกจารึกไว้ในอัลกุรอาน เพื่อให้มุสลิมทุกคนมีความรู้เรื่องและเข้าใจในความเป็นไปของศาสนพิธี

อ.รอซี เบญสุหลง ผู้อำนวยการโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จ.ยะลา และประธานศูนย์ดาราศาสตร์อิสลาม (Islamic Astronomical Center: IAC) เผยว่า คัมภีร์อัลกุรอานได้พูดถึงดาราศาสตร์อย่างมากมายมาตั้งแต่เมื่อ 4,500 ปีก่อน เช่น พระเจ้าสร้างกลางวันกลางคืน สร้างดวงอาทิตย์ สร้างดวงจันทร์ และทุกอย่างล้วนโคจรตามวิถีของมัน ทำให้ชาวมุสลิมซึมซับและให้ความสำคัญกับเรื่องราวของดาราศาสตร์เป็นพิเศษ เพราะมุสลิมใช้ปฏิทินแบบจันทรคติ ซึ่งแตกต่างจากปฏิทินทั่วไป อีกทั้งศาสนกิจต่างๆ ก็ยังขึ้นกับการสังเกตดวงจันทร์ ดาราศาสตร์จึงแทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตของมุสลิมแบบที่หลายๆ คนไม่รู้ตัว

ด้วยความผูกพันในศาสนาจึงเป็นที่มาของชมรมวิทยาศาสตร์ขนาดย่อมๆ ในโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จ.ยะลา ที่เป็นศูนย์รวมของครูและนักเรียนที่สนใจในดาราศาสตร์ได้มาจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพราะวิชาดาราศาสตร์ถือเป็นวิชาใหม่ที่เพิ่งถูกบรรจุเข้ามาในหลักสูตรการศึกษา ทำให้ครูรุ่นเก่าส่วนมากยังขาดความรู้ความเข้าใจในวิชาดาราศาสตร์ แม้จะรู้สึกผูกพันเพราะถูกกล่าวถึงบ่อยเวลาศึกษาศาสนา

ประกอบกับช่วงปี 2547 เกิดเหตุความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หน่วยงานภาครัฐจึงยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ทั้งในส่วนของกองทัพอากาศ โดย น.อ.ฐากูร เกิดแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (ลีซา) ที่ได้จัดโครงการอบรมดาราศาสตร์ให้แก่ครูและนักเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่ดาราศาสตร์ขั้นพื้นฐาน รวมไปถึงกิจกรรมดูดาว และทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(สดร.) ที่สนับสนุนการทัศนศึกษานอกพื้นที่

จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการก่อตั้ง "ศูนย์ดาราศาสตร์อิสลาม" ขึ้นด้วยการทำงานของบุคลากรครูสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์กว่า 40 คนที่ได้รับการอบรมจากโครงการลีซา ที่จะคอยมาผลัดเปลี่ยนกันจัดกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ให้แก่นักเรียนและผู้สนใจทั่วไป นับจนถึงตอนนี้ก็ดำเนินการมาแล้วกว่า 9 ปี

อ.รอซี เผยว่าหน้าที่หลักของศูนย์ดาราศาสตร์อิสลาม คือการฝึกอบรมครูและนักเรียนให้มีความรู้ด้านดาราศาสตร์ เพื่อที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันตามวิถีของอิสลาม เช่น การเรียนรู้เรื่องทรงกลมเพื่อกำหนดทิศกิบลัต (Kiblat) ซึ่งเป็นทิศที่หันไปทางนครเมกกะ ซาอุดิอาระเบียในการละหมาด, การเรียนรู้เรื่องตำแหน่งของดวงอาทิตย์บนท้องฟ้าเพื่อกำหนดเวลาละหมาด, เรียนรู้ตำแหน่งของดวงจันทร์บนท้องฟ้าเพื่อกำหนดเดือนรอมฎอนสำหรับถือศีลอด และเดือนเชาวาลเพื่อกำหนดวันละศีลอด, การเรียนรู้ซอฟท์แวร์ดาราศาสตร์เพื่อจำลองการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ สำหรับกำหนดเวลาและกิจทางศาสนา และการเรียนรู้ดาราศาสตร์ในภาพรวมเพื่อใช้ในการตีความคัมภีร์อัลกุรอาน

“วิถีชีวิตของมุสลิมแทบจะเป็นหนึ่งเดียวกับดาราศาสตร์ เพราะในอัลกุรอานก็กล่าวถึงอยู่มากมาย จึงไม่แปลกที่มุสลิมจะสนใจดาราศาสตร์ ส่วนตัวผมเป็นครูสอนชีววิทยารุ่นเก่า ไม่มีความรู้ทางดาราศาสตร์ แต่เมื่อมีโครงการอบรมครูโดยลีซาเข้ามา ก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างไปพร้อมกับนักเรียน ซึ่งถือเป็นการจุดประกายให้กับลูกศิษย์ผมด้วย เพราะหลายๆ คนตอนนี้ก็แอดมิชชันเข้าไปเรียนในสาขาดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่แล้ว” อ.รอซีไล่เรียง

ด้านนายซูไฮมี ลาแม นักศึกษาสาขาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ ที่มาเข้าร่วมการสังเกตดวงจันทร์กับ อ.รอซี เผยกับทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า รู้สึกชอบและผูกพันกับวิชาดาราศาสตร์มาตั้งแต่ยังอยู่ชั้นมัธยมต้น เพราะเขาเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิที่จะมีการจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจอยู่เสมอ แต่ที่จุดประกายให้เขาสนใจดาราศาสตร์จนอยากเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาคือ การไปทัศนศึกษากับทางศูนย์ดาราศาสตร์อิสลามที่ อ.สามหมอ จ.สระบุรี เพื่อชมฝนดาวตกเจอร์มินิดและชมท้องฟ้าจำลอง

“ปกติผมไม่เคยได้ไปไหนเลย พอที่ศูนย์ฯ มีโครงการจะพาไปผมจึงไปสมัครสอบดู เพราะเด็กในโรงเรียนสนใจเยอะมาก พอผ่านก็ได้ไปดูฝนดาวตก ดูท้องฟ้าจำลองมูลค่า 200 ล้านที่สระบุรี ตอนนั้นประทับใจมากจนอยากเอากิจกรรมมาจัดที่โรงเรียน พอมีงานมหกรรมวิชาการและการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เมื่อปี 2557 จึงอยากลองทำท้องฟ้าจำลองบ้าง แต่เราไม่มีงบขนาดนั้นเลยใช้ถุงดำมาปิดห้องให้มืด แล้วเปิดโปรเจคเตอร์ฉายดาวด้วยโปรแกรมฟรีที่ลีซาสอนมา เกิดเป็นท้องฟ้าจำลองราคา 200 บาท ที่คนให้ความสนใจอย่างล้นหลามจนได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทวิชาการ จากสำนักงานศึกษาธิการภาค 12 กลับมา” ซูไฮมีเล่าความประทับใจ

นอกจากนี้ อ.รอซียังเผยด้วยว่า แม้ศูนย์ดาราศาสตร์อิสลามจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีเขาก็ยังจะไม่หยุดพัฒนา เพราะอยากสร้างนักวิจัยรุ่นเยาว์ให้มีมากขึ้น เพราะศูนย์วิทยาศาสตร์อิสลาม ไม่ได้ทำการศึกษาและจัดกิจกรรมเฉพาะดาราศาสตร์เท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมเช่น น้ำและดินอีกด้วย เพราะนอกจากจะมีกล้องโทรทรรศน์ 4 ตัวที่ได้รับบริจาคจากลีซาและ สดร.แล้ว เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ สำหรับการทำวิจัยก็มีความพร้อมอยู่มากพอสมควร

“เกิดมาเป็นมุสลิมเราก็เจอกับดาราศาสตร์มาตั้งแต่แรกแล้ว อยู่ที่ว่าจะทำความเข้าใจให้ถึงแก่นแท้หรือเปล่า เพราะถ้าเราเข้าใจดาราศาสตร์ดีเราก็จะเข้าใจอัลกุรอานได้ดี ซึ่งเป็นผลดีต่อตัวเรา เป็นวิถีชีวิตของเรา แล้วตัวของดาราศาสตร์เองก็มีปริศนามากมายที่ต้องศึกษาต่อ ซึ่งความไม่รู้คำตอบทำให้ผมสนใจกับดาราศาสตร์ และมีความสุขทุกครั้งที่ได้ถ่ายทอดต่อไปให้คนที่เขาสนใจ” อ.รอซี กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์






นักเรียนที่มาฟังการบรรยายทำมือเป็นรูปฉากเพื่อวัดมุมระหว่างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ เพื่อการสังเกตดวงจันทร์วันกำหนดรอมฎอน
อ.รอซี บรรยายถึงความเป็นมาของศูนย์ดาราศาสตร์อิสลาม ในพิธีสังเกตดวงจันทร์กำหนดวันถือศีลอดเดือนรอมฏอน
อ.รอซี เบญสุหลง ผู้อำนวยการโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ และประธานศูนย์ดาราศาสตร์อิสลาม (IAC)
นายซูไฮมี ลาแม นักศึกษาสาขาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ (เสื้อคลุมสีดำ)









กำลังโหลดความคิดเห็น