ปีนเขารูปช้างดูความคืบงานก่อสร้าง “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯสงขลา” ว่าที่หอดูดาวสวยสุดในประเทศ ศูนย์ความรู้ดาราศาสตร์ภาคใต้สุดทันสมัย ออกแบบคล้ายอาคาร “สตาร์วอร์” ท่ามกลางทิวทัศน์ทะเลสาบสงขลา-อ่าวไทย สร้างเสร็จแล้ว 50% คาดพร้อมเปิดให้ชาวใต้ใช้บริการได้ปลายปีหน้า
หลังสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ได้ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างและดำเนินงานด้านการวิจัยและให้บริการความรู้ด้านดาราศาสตร์แก่ประชาชนในฐานะองค์การมหาชน มาเป็นเวลากว่า 8 ปี ทำให้ขณะนี้ประเทศไทย มีหอดูดาวมาตรฐานสำหรับรองรับการวิจัยและให้บริการประชาชนถึง 3 แห่ง คือ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหอดูดาวแห่งชาติ และหอดูดาวภูมิภาคอีก 2 แห่ง คือ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.นครราชสีมา และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.ฉะเชิงเทรา
ทั้งนี้ สดร.ได้วางแผนจะสร้างหอดูดาวภูมิภาคขึ้นถึง 5 แห่งกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และหอดูดาวที่กำลังก่อสร้างสร้างตัวจนเสร็จไปเกือบครึ่ง ณ ตอนนี้ อยู่ที่ จ.สงขลา ในพื้นที่เทศบาลตำบลเขารูปช้าง อ.เมือง เมื่อทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เดินทางไปร่วมติดตามการสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวกำหนดรอมฎอน ณ กองบิน 56 จ.สงขลา ร่วมกับคณะจากศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ หรือ ลีซา เราจึงถือโอกาสไปเยี่ยมชมหอดูดาวภูมิภาคแห่งใหม่นี้เพื่อตรวจสอบความคืบหน้าและเก็บภาพมาฝาก
“หอดูดาวสงขลาที่เรากำลังสร้าง นอกจากจะใช้เป็นแหล่งวิจัยและความรู้ของชาวใต้ที่เยี่ยมยอดแล้ว ยังจะเป็นหอดูดาวที่สวยที่สุดในประเทศอีกด้วย เพราะสร้างอยู่บนเขา ทำให้ทุกคนสามารถดูดาวไปพร้อมๆ กับบรรยากาศของทิวทัศน์แห่งทะเลสาบสงขลาและทะเลอ่าวไทยที่รายล้อมอยู่ได้พร้อมๆ กัน” รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการ สดร.เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
รศ.บุญรักษาเผยว่า ขณะนี้การก่อสร้างหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ จ.สงขลา ดำเนินการไปถึง 50% แล้ว และคาดว่าน่าจะเปิดใช้งานได้ภายในช่วงปลายปี 2559 ด้วยงบประมาณการก่อสร้างกว่า 84 ล้านบาท โดยมีจุดมุ่งหมายหลักในการเป็นแหล่งความรู้สำหรับประชาชนและนักวิจัยในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ รวมไปถึงนักวิจัยจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ที่จะมาร่วมใช้ประโยชน์จากกล้องดูดาวของประเทศไทย ที่ติดตั้งอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วโลก
ผู้อำนวยการ สดร.กล่าวว่า หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา จะเป็นแหล่งการเรียนรู้ดาราศาสตร์ที่ได้มาตรฐานที่สุดในภาคใต้ และจะเป็นสถานที่ที่ประชาชนได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเมื่อมีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่สำคัญ เช่น กิจกรรมการสังเกตดวงจันทร์เพื่อศาสนกิจของชาวมุสลิม ที่ถือเป็นการเชื่อมโยงวิชาการเข้ากับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นได้อย่างกลมกลืน
บริเวณพื้นที่โดยรอบเป็นหินแกรนิตและดินทราย ซึ่งวิศวกรผู้ดูแลการก่อสร้างได้ออกแบบโครงสร้างอาคารให้รองรับกับพื้นที่เพื่อความปลอดภัย สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 30 ตันต่อตารางเมตร และสามารถรองรับแผ่นดินไหวได้ถึงขนาด 6.5
สำหรับอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ที่จะติดตั้งภายในหลังการก่อสร้างเสร็จ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร. เผยว่า จะติดตั้งกล้องดูดาวหลักเป็นกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง ระบบโรโบติกอัตโนมัติขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ซึ่งเป็นกล้องที่ทันสมัยยอดเยี่ยมเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคอาเซียน รองจากกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตรของหอดูดาวแห่งชาติบนดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ พร้อมด้วยระบบฉายดาวแบบฟูลโดมดิจิทัลภายในท้องฟ้าจำลอง รวมไปถึงนิทรรศการดาราศาสตร์ภายใน ที่จะนำเสนอเรื่องราวชวนรู้ทางดาราศาสตร์ เช่น ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ หลุมดำ อุกกาบาต ซึ่งคาดว่าจะสามารถรองรับนักวิจัยจากประเทศเพื่อนบ้าน และประชาชนที่จะมาศึกษาได้มากถึง 1 แสนคนต่อปี
“ส่วนของบุคลากรและนักดาราศาสตร์ที่จะมาทำงานที่หอดูดาว เราจะใช้คนในพื้นที่ที่มีความรู้ความสามารถทางดาราศาสตร์ สามารถสื่อสารภาษาถิ่นและภาษามลายูได้โดยเฉพาะ เพื่อเตรียมพร้อมกับการมาศึกษาของนักเรียน นักศึกษา นักวิจัยจากภาคใต้ที่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ซึ่งขณะนี้มีมาทำงานอยู่กับ สดร.แล้วที่หอดูดาวแห่งชาติ จ.เชียงใหม่ จำนวน 4 คน และเมื่อหอดูดาวเสร็จก็จะย้ายมาประจำที่นี่ เพื่อให้ประชาชนที่มาเยี่ยมชมได้รับความรู้จากวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถ เช่นเดียวกับที่หอดูดาวแห่งชาติและหอดูดาวภูมิภาคที่เปิดทำการแล้วในที่อื่นๆ” ดร.ศรัณย์ เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
สำหรับการเดินทางไปยังหอดูดาวฯสงขลา ขณะนี้ยังคงเป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะสถานที่ก่อสร้างอยู่บนเขา และถนนยังสร้างไม่เสร็จ ทำให้รถทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงในพื้นที่ได้ ทีมข่าวจึงนั่งรถขับเคลื่อน 4 ล้อเพื่อขึ้นถึงพื้นที่ก่อสร้างหอดูดาวฯ อีกประมาณ 1 กิโลเมตร
โอกาสนี้ นายเฉลิมชนม์ วรรณทอง ผู้ประสานงานโครงการหอดูดาวฯ สงขลา และอาจารย์ประจำวิชาฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา ได้นำคณะชมโครงการก่อสร้างหอดูดาวแบบละเอียดทุกซอกทุกมุม
หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลาตั้งอยู่บนเขารูปช้าง อ.เมือง จ.สงขลา แต่อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 26 กิโลเมตร ซึ่งเฉลิมชนม์เผยว่าการก่อสร้างแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก คือ ส่วนของอาคารสำนักงาน ท้องฟ้าจำลอง หอดูดาว และลานดูดาว ซึ่งแต่ละส่วนอาคารจะอยู่บริเวณใกล้ๆ กัน บนยอดเขารูปช้าง ที่มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 25 ไร่
ส่วนของอาคารสำนักงานนอกจากจะเป็นศูนย์ดำเนินงานหอดูดาวทั้งหมดแล้ว ส่วนของใต้ถุนด้านล่างยังจะถูกสร้างให้เป็นห้องปฏิบัติการสำหรับนักวิจัยต่างประเทศที่จะเข้ามาทำงานที่หอดูดาวแห่งนี้ด้วย โดยโครงสร้างอาคารทั้งหมดถูกควบคุมและดูแลความปลอดภัยโดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสงขลา
รูปแบบอาคารนั้นได้รับการออกแบบโดยอาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง ที่ออกแบบอาคารให้มีรูปลักษณ์ที่ทันสมัยคล้ายคลึงกับอาคารในภาพยนต์เรื่อง “สตาร์วอร์” โดยจะเลือกใช้วัสดุหลักเป็นโลหะและกระจกเป็นส่วนประกอบอาคาร เพื่อให้ผู้มาเยี่ยมชมภายในสังเกตวิวได้โดยรอบ เพราะทางทิศเหนือของอาคารหอดูดาวจะเห็นทะเลสาบสงขลา และในส่วนของทิศใต้จะเห็นอ่าวไทย และวิวโดยรอบของเมืองสงขลาซึ่งจะสวยงามมากในเวลาค่ำคืน
“สร้างบนเขาไม่ได้แปลว่าเรารุกป่านะครับ เขารูปช้างเป็นพื้นที่ใช้สอย ของ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา เมื่อ สดร.จะมาจัดตั้งหอดูดาวเพื่อประโยชน์ของคนภาคใต้เราก็ไม่ขัดข้อง แถมยังลงมาช่วยดูแลการก่อสร้างร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่อีกด้วย ชาวบ้านพอทราบกันว่าจะมีหอดูดาวภูมิภาคเกิดขึ้นก็ดีใจ และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับเราเป็นอย่างดี และในส่วนของการออกแบบอาคารก็จะแปลกตากว่าหอดูดาวแห่งอื่นเพราะทรงจะล้ำๆ ออกแนวอวกาศคล้ายกับหนังสตาร์วอร์ ที่ออกแบบมาเป็นอย่างนี้เพื่อให้รับกับทำเลที่เราตั้งอยู่บนเขาสูง ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดรับรองว่าถ้าเสร็จแล้วจะต้องเป็นอีกที่หนึ่งที่สวยมากๆ อย่างเร็วภายใน ก.ค. ปีหน้าก็น่าจะเปิดใช้งานได้อย่างเต็มรูปแบบ เพราะอุปกรณ์และนิทรรศการทาง สดร.ก็เตรียมพร้อมไว้หมด รอแค่ตัวอาคารเสร็จเท่านั้น” นายเฉลิมชนม์กล่าว
เสาสำหรับติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ถูกสร้างขึ้น บนฐานปูนหล่อที่แข็งแรงเป็นพิเศษเพื่อป้องกันความสั่นไหวเพื่อให้การสังเกตวัตถุท้องฟ้าเป็นไปด้วยความเสถียรมากที่สุด
อย่างไรก็ดี นายเฉลิมชนม์ยังเผยด้วยว่ายังมีปัญหาบางประการที่ยังคงติดขัด เช่น ไฟฟ้าและน้ำประปา ที่ยังเข้าไม่ถึงหอดูดาว รวมไปถึงถนนที่ยังคงเป็นลูกรังขรุขระ และค่อนข้างชันทำให้เดินทางลำบาก ซึ่งหลังจากนี้ก็จะได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงทุกอย่างให้เข้าที่เข้าทางก่อนที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ จะเสด็จมาวางศิลาฤกษ์ ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ในช่วงเดือน ก.ย.ที่จะถึงนี้
*******************************