ทีมวิศวกร มจธ.ทดสอบหมุดสำหรับพื้นไม่มีคาน ผลงานคนไทย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการต้านผลกระทบแผ่นดินไหว ช่วยตึกโยกตัวได้ดีขึ้น และป้องกันคานอาคารทะลุพังลงด้านล่าง พร้อมเตรียมซ่อมอาคารที่สึกหร่อระหว่างทดสอบ จำลองการซ่อมแซมอาคารที่เสียหายจากแผ่นดินไหว
รศ.ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) นำคณะสื่อมวลชนพร้อมทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ชมห้องปฏิบัติการ ซึ่งทดสอบพื้นไร้คานหรือพื้นโพสเทนชั่นที่เสริมหมุดรับแรงภายใต้แรงสลับทิศ เพื่อดูความสามารถในการต้านทานแผ่นดินไหวของพื้นอาคาร
รศ.ดร.สุทัศน์ อธิบายว่าลักษณะอาคารแบบพื้นไร้คานนั้นเป็นที่นิยมใช้ในการสร้างอาคารสูง โดยเฉพาะคอนโคมิเนียมในปัจจุบัน เพราะทำให้พื้นที่ระหว่างชั้นอาคารสูงขึ้นและช่วยให้รู้สึกโปร่ง ก่อสร้างได้รวดเร็วและลดต้นทุนการก่อสร้าง ซึ่งหากออกแบบตามมาตรฐานก็ปลอดภัยและมีมาตรฐานสำหรับการออกแบบอาคารให้รองรับแผ่นดินไหว
อาคารในระบบพื้นคอนกรีตแบบไม่มีคานนี้ได้รับความนิยมมากในไทยและอาจมากที่สุดในภูมิภาค ทว่านักวิชาการด้านวิศวกรรมพบว่า อาคารรูปแบบนี้หากมีรูปแบบที่ไม่เอื้อต่อการรับแรงแผ่นดินไหว อาจเสี่ยงได้รับความเสียหายเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งจาการเสริม “หมุดรับแรง” ตรงจุดต่อระหว่างพื้นกับเสาจะช่วยให้อาคารแข็งแรงขึ้น และช่วยลดความยึ่งยากในการก่อสร้าง รวมถึงความผิดพลาดของคนระหว่างก่อสร้างได้
สำหรับหมุดรับแรงนั้นมีใช้ในต่างประเทศอยู่แล้ว แต่ รศ.ดร.สุทัศน์ระบุว่า หากนำมาใช้ในเมืองไทยเลยจะมีราคาแพงมาก ซึ่งมีบริษัทเอกชนไทยได้พัฒนาวิธีผลิตหมุดดังกล่าวจนได้ราคาที่ถูกลง และทางภาควิชาได้นำมาทดสอบการเพิ่มประสิทธิภาพในการต้านทานผลกระทบแผ่นดินไหวภายในห้องปฏิบัติการ
ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้จำลองลักษณะพื้นอาคารไม่มีคานที่เสริมหมุดรับแรงและทดสอบภายใต้แรงสลับทิศ โดยจำลองให้ชั้นอาคารโยกไปมา ผลจากการทดสอบพบว่า จากเดิมที่อาคารจะเคลื่อนที่ได้เพียง 2-3% ของความสูง สามารถเพิ่มการเคลื่อนที่ได้เป็น 4% ซึ่งทำให้อาคารโยกตัวได้ดีขึ้นและบอบช้ำจากแรงแผ่นดินไหวน้อยลง อีกทั้ง “การวิบัติ” ของอาคารจะค่อยๆ เกิดขึ้น ไม่เสียหายอย่างรุนแรง
หลังจากนี้ รศ.ดร.สุทัศน์ระบุว่า จะซ่อมแซมแบบจำลองอาคารที่ได้รับความเสียหายจากแรงสลับทิศ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการซ่อมแซมและความแข็งแรงของอาคารหลังได้รับการซ่อมแซม ซึ่งการทดสอบดังกล่าวเป้นส่วนหนึ่งของการหาจุดอ่อนของอาคารที่พบมากในไทย และหาวิธีทำให้อาคารสามารถต้านแผ่นดินไหวได้ดีขึ้นด้วยต้นทุนไม่สูง
*******************************