เชื่อว่าคนที่เรียนวิชาชีววิทยา ทุกคนน่าจะเคยเห็น "ของดอง" สารพัดสิ่งเคยมีชีวิตในโหลแอลกอฮอล์ ที่ถูกเก็บรักษาไว้เพื่อการศึกษา แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า "การดอง" ที่แท้จริงต้องทำอย่างไร ใช้กรรมวิธีอะไรบ้าง ? การเก็บ "ของดอง" ที่ถูกต้องจะต้องทำแบบไหน? และ "ของเหลวที่ใช้ดอง" ต้องเปลี่ยนเมื่อไหร่ ... มารู้จักเรื่องราวของ "การดอง .. ของในโหลเพื่อมวลความรู้" ไปพร้อมๆ กับเรา
นายสัญชัย เมฆฉาย นักวิชาการด้านสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลาน พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า การเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตนิยมทำใน 2 รูปแบบ คือ การดองเปียก และการสตัฟฟ์แห้ง
การดองเปียกจะนิยมทำให้สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์ทะเลและปลา ส่วนการสตัฟฟ์แห้งจะนิยมทำในกลุ่มแมลง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมและนก ซึ่งในวันนี้ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ได้มีโอกาสเยี่ยมชมห้องเก็บตัวอย่างแบบเปียกเป็นกรณีพิเศษ จึงขออาสาเก็บเรื่องราว เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับการเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตมาฝากกัน
สัญชัย กล่าวว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้ตัวอย่างดองคงสภาพอยู่ได้นาน คือ คุณภาพของแอลกอฮอล์ที่ใช้ดอง และสถานที่เก็บ ทุกๆ พิพิธภัณฑ์จึงต้องมีเจ้าหน้าที่ดูแลเพื่อคอยตรวจสอบคุณภาพตัวอย่าง ตรวจสอบคุณภาพของแอลกอฮอล์ ตลอดจนวิธีการเก็บ เพื่อให้ตัวอย่างที่เก็บมีรูปร่างลักษณะเหมือนเดิมพร้อมสำหรับการศึกษา เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการทำตัวอย่างดอง
สำหรับการเก็บตัวอย่างสัตว์ สัญชัย ระบุว่าต้องเริ่มจากการจำแนกชนิดให้ถูกต้องตามหลักอนุกรมวิธาน เพื่อระบุชื่อวิทยาศาสตร์ และชื่อสามัญภาษาไทยลงในแผ่นกระดาษบันทึก หรือที่เรียกกันว่า "กระดาษเลเบล" (Label) แผ่นกระดาษชนิดพิเศษที่มีคุณสมบัติทนกรด ทนน้ำ
ส่วนของการคงรูปสัตว์จะแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน เริ่มจากการจัดท่าทางสัตว์ให้เป็นไปตามธรรมชาติ หรือท่าทางตามที่ต้องการเพื่อความสะดวกในการศึกษาแล้วจึงฉีดฟอร์มาลีนเข้าไปในตัวสัตว์ทิ้งไว้เป็นเวลา 2 วัน สัญชัยกำชับว่า กระบวนการนี้ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นคนทำเพราะฟอร์มาลีนเป็นสารเคมีมีพิษ เมื่อครบกำหนดจึงนำตัวอย่างสัตว์มาบรรจุใส่ขวดโหลที่มีแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 70% จนท่วม ใส่กระดาษเลเบลลงไป ปิดฝาให้สนิทไม่ให้แอลกอฮอล์ระเหยออกมาก็เป็นอันเสร็จพิธี
สัญชัย เผยต่อไปว่า การเก็บตัวอย่างในพิพิธภัณฑ์ก็มีความสำคัญ การเก็บตัวอย่างแบบดองเปียกที่ถูกต้องควรเก็บในห้องมืด ที่มีการถ่ายเทอากาศดี อาจจะติดเครื่องปรับอากาศหรือไม่ติดก็ได้ แต่ข้อสำคัญคืออย่าปล่อยให้ตัวอย่างดองถูกแสงแดดเพราะจะทำให้เกิดความร้อนที่มากเกินไปและตัวอย่างจะเสื่อมคุณภาพเร็ว ห้องเก็บตัวอย่างที่ได้มาตรฐานส่วนใหญ่นอกจากจะมีชั้นวางโหลดองที่แข็งแรงได้มาตรฐานแล้วจึงมักจะมีม่านบังแดดกั้นอยู่อีกชั้นหนึ่งด้วย
ด้านการเปลี่ยนแอลกอฮอล์ สัญชัยระบุจะต้องเปลี่ยนทันทีที่เห็นว่ามีความขุ่นและมีสีเหลืองเหลืองมาก โดยปกติใน 1 ปีจะต้องเปลี่ยน 1 ครั้ง แต่ถ้าความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ยังไม่เปลี่ยนแปลงหรือยังใสอยู่ก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน
การวัดความเข้มข้นของแอลกอฮอล์จะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า "แอลกอฮอล์มิเตอร์" ที่มีลักษณะคล้ายปากกามีกระเปาะบริเวณปลาย จุ่มลงไปในโหลดอง ถ้าวัดค่าความเข้มข้นแอลกอฮอล์ได้น้อยกว่าปกติเล็กน้อย ก็จะเติมแอลกอฮอล์ความเข้มข้นมากลงไปทีละน้อย เพื่อปรับให้ความเข้มข้นสุดท้ายอยู่ที่ 70% ซึ่งเป็นความเข้มข้นที่ทุกพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกใช้ในการดองสัตว์ สัญชัย เผยวิธีการแก่ผู้จัดการวิทยาศาสตร์
** คลิป **
*******************************